เลี้ยงลูกให้มีภูมิปัญญา คุณธรรมและความสุข
อาจกล่าวได้ว่าสังคมโลกให้ความสำคัญความเก่งมากกว่าความดี ข่าวของเด็กที่เรียนเก่ง ชนะการประกวดแข่งขันต่างๆมักเป็นข่าวที่สังคมชื่นชม
เมื่อเทียบกับข่าวของเด็กที่ทำความดี เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วโลก เป็นผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเน้นการหาโรงเรียนและสถานศึกษาในระดับต่างๆ ที่มีชื่อด้านวิชาการมากกว่าสนใจเรื่องคุณธรรม สังคมโลกจึงมีคนเก่งที่นิสัยไม่ดีแต่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานเป็นใหญ่เป็นโตคับฟ้ามากมาย ส่วนคนดีที่เก่งและคนดีที่มีความสามารถธรรมดามักไม่ค่อยมีพิ้นที่ให้ยืนนัก ในหลวง ร. 9 ท่านจึงมีพระราชดำรัสสั่งสอนให้สังคมช่วยกันสนับสนุนคนดีให้มากๆ
อนาคตของลูกอยู่ที่พ่อแม่ ไม่ใช่สถานศึกษา
ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงฟันธงได้แทบไม่ต้องสงสัยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองคือผู้ที่มีบทบาทมากกว่าครูผู้สอน เพราะเด็กจะใช้เวลาอยู่บ้านมากกว่าอยู่โรงเรียน แต่ปัจจุบันพ่อแม่ต้องทำมาหากินตัวเป็นเกลียว จึงมักให้ลูกอยู่ที่สถานศึกษาและโรงเรียนพิเศษมากกว่าอยู่บ้าน พ่อแม่ที่มีฐานะก็จ้างพี่เลี้ยงให้ดูแลลูก ตอนเช้ามีรถไปส่งหรือมีรถโรงเรียนมารับ พอเลิกเรียนแต่พ่อแม่ยังไม่เลิกงานก็ให้ลูกเรียนพิเศษจนค่ำ เสาร์อาทิตย์เรียนดนตรีหรือเรียนอะไรต่อมิอะไรทั้งวัน ช่วงลูกปิดเทอมแต่พ่อแม่ต้องทำงานก็ส่งลูกไปเรียนพิเศษกวดวิชาแทบทุกวัน ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่โรงเรียนและสถานกวดวิชา ส่วนจะได้วิชาอะไรมาแค่ไหนยังไม่แน่ใจ แต่อย่างน้อยเบาใจว่าอยู่โรงเรียนที่ดูน่าจะปลอดภัยสักหน่อย ส่วนครูและเพื่อนที่โรงเรียนจะเป็นคนแบบไหน พ่อแม่มักไม่ค่อยรู้เรื่องมากนัก แล้วก็อย่างที่เรารู้กันว่าครูบาอาจารย์ที่เปิดโรงเรียนกวดวิชานั้น หลายคนก็มุ่งหารายได้มากกว่าจะใส่ใจดูแลนักเรียน ทั้งจำนวนเด็กที่มาก ครูก็ย่อมไม่มีเวลาดูแลได้ทั่วถึง พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าปฎิเสธเลยว่าท่านต้องรับผิดชอบดูแลเลี้ยงดูบุตรหลาน พวกเขาจะเติบโตเป็นคนอย่างไรขึ้นอยู่กับท่านซึ่งเป็นครูคนแรก เลิกคิดให้โรงเรียนเป็นผู้ดูแลลูกแทนตัวเองได้แล้ว
สอนลูกให้รู้ว่าความพอเพียงคือความสุข
ในช่วงปิดเทอมเช่นนี้ ก่อนจะตัดสินใจส่งลูกไปเรียนพิเศษหรือกวดวิชาอย่างที่เคยทำมา ขอให้ใช้เวลาคิดสักหน่อยว่าท่านอยากให้ลูกของท่านมีอนาคตอย่างไร ทุกคนย่อมอยากให้เรียนดี ได้งานดี มีรายได้ดี มีสุขภาพดี ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตทั้งสิ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาที่ติดตัวมากับเด็ก การอบรมเลี้ยงดู การให้การศึกษา สังคมรอบตัวและโอกาสที่เด็กแต่ละคนได้รับในชีวิต ในบรรดาปัจจัยต่างๆเหล่านี้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีสถานะการเงินระดับปานกลางก็มีความสามารถสรรหาและสร้างสรรค์ได้หากมีการวางแผนที่ดี มีผู้คนมากมายที่แม้ไม่ได้ฉลาดขั้นอัจฉริยะ ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย ไม่ได้รับการศึกษาจากสถานศึกษาชั้นนำ แต่ก็สร้างตนเองให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างสุจริตและมีความสุขในชีวิตได้ เงินทองจึงไม่ใช่กุญแจเพียงดอกเดียวที่จะไขประตูสู่ความสำเร็จและความสุข แต่พ่อแม่ต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร ถ้าความสุขคือสมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรง มีที่พักอาศัยที่แม้ไม่หรูหราแต่สะอาดสบายพอสมควร มีอาหารที่มีสารอาหารครบห้าหมู่ไว้รับประทานในแต่ละวัน สร้างรายได้พอเลี้ยงครอบครัวและพอมีเก็บออมบ้าง มีข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ ลูกมีผลการเรียนปานกลางและเรียนในโรงเรียนระดับปานกลาง ถ้าสิ่งเหล่านี้ที่เป็นมาตรฐานปานกลางทำให้ท่านมีความสุขแล้ว เชื่อว่าหลายครอบครัวที่มีฐานะปานกลางย่อมมีความสุขได้ถ้าคิดเป็นและสอนลูกให้คิดเป็น
เลือกสิ่งที่เหมาะสมให้ลูกแบบพอเพียง
พ่อแม่ย่อมอยากให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด แม้จะไม่ได้มีฐานะร่ำรวยแต่พยายามส่งเสียให้ลูกเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงค่าเรียนแพง แต่ก็อาจทำให้ลูกมีความทุกข์และตนเองพลอยมีความทุกข์ตามไปด้วย การที่มีเงินจ่ายแค่เล่าเรียนแต่ไม่สามารถมีรถหรูพร้อมคนขับส่งลูกไปโรงเรียน ไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด นาฬิกาข้อมือราคาแพงให้เหมือนลูกเศรษฐีคนอื่นๆ ถ้าลูกเรียนดีมีความมั่นใจก็อาจสามารถปรับตัวเอาตัวรอดจากการถูกล้อเลียนดูถูกจากเพื่อนๆที่ร่ำรวยนิสัยไม่ดีได้ แต่ถ้าเรียนไม่ค่อยเก่ง ไม่มีความมั่นใจ ลูกอาจกลายเป็นเด็กมีปัญหาได้ แต่ถ้าพ่อแม่เลือกดรงเรียนที่เด็กฐานะปานกลางไปเรียน ลูกก็จะไม่รู้สึกแปลกแยก ทั้งนี้อย่าได้วิตกกลัวว่าลูกตัวเองจะสอบเข้าสถาบันการศึกษาดังๆไม่ได้ เพราะการเรียนรู้ในโลกยุคนี้ เด็กสามารถหาความรู้ด้วยตนเองจากทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย
พ่อแม่ควรเลิกเล่นมือถือและหันมาสร้างนิสัยใฝ่เรียนรู้ให้ลูก
ในปัจจุบันมีสื่อมากมายที่ให้การศึกษา แต่มันขึ้นอยู่กับความสนใจใฝ่เรียนรู้ของเด็กที่ได้รับการสนับสนุนอย่างถูกต้องเหมาะสมจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือพ่อแม่อย่าเล่นมือถือให้มากเกินไป จากรายงานการสำรวจของคอมมอนเซนส์ มีเดียในสหรัฐอเมริกา พบวัยรุ่นอเมริกันถึง 28% บอกว่าพ่อแม่ของตนชอบเล่นมือถือ ซึ่งไทยเราเป็นชาติที่ใช้โซเชียล มีเดียติดอันดับโลกพ่อแม่คนไทยน่าจะใช้เวลาเล่นมือถือมากกว่าดูแลลูกก็เป็นได้ พ่อแม่ไม่ควรซื้อมือถือให้ลูกแล้วปล่อยให้เล่นเกมหรือแชท แต่ควรจัดเวลาพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกัน ทำตัวเป็นโค้ชสอนลูกให้หาข้อมูลความรู้มาทำการบ้านผ่านมือถือ ให้รู้จักใช้มือถือให้เป็นประโยชน์ในการหาความรู้
พ่อแม่ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีกับลูก
เนื่องจากพ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เรื่องของกิริยามารยาท การพูดจาปราศรัย การเข้าสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคมจึงเป็นเรื่องที่เด็กได้เรียนรู้จากพ่อแม่ก่อนเข้าโรงเรียน ถ้าพ่อแม่พูดจาหยาบคายกับลูกแล้วหวังว่าลูกจะพูดจาไพเราะ คงหวังได้ยาก ถ้าพ่อแม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่มีความรับผิดชอบกับสังคม ลูกก็มักจะเป็นเช่นนั้น ตอนที่ดิฉันเป็นเด็กๆเรียนหนังสืออยู่ย่านถนนสีลม ตอนเช้าและเย็นจะเดินผ่านตึกแถวย่านบางรักที่สมัยก่อนมีร้านรวงมากมาย จำได้ว่ามีร้านหนึ่งที่เจ้าของร้านเป็นคนเชื้อสายจีน ตอนเช้าเวลาเปิดร้านภรรยาของแกที่คนแถวนั้นเรียกว่า “อาเจ๊” ก็จะถือไม้กวาดๆเศษผงหน้าร้านของแก แต่แทนที่จะโกยเศษผงในที่โกยแล้วเอาไปเททิ้งในถังขยะ แกกลับโกยขี้ผงลงถนนแล้วกวาดลงท่อระบายน้ำแทน ส่วนในตอนเย็นก็เจ๊คนนี้อีกเช่นกันที่เอาลูกชายตัวเล็กๆมานั่งเล่นบาทวิถีหรือทางเท้าหน้าร้าน บางวันรถราไม่ค่อยมีมาก แกก็นั่งตรงขอบทางเท้าและวางเท้าลงบนถนน เล่นไปเล่นมาเจ้าหนูร้องว่า “หม่าม้า ปวดฉี่” แกก็ให้ลูกปัสสาวะลงบนถนนเลย สะดวกดี อีกรายหนึ่งเป็นชาวไร่แตงโมที่แกฉีดยาฆ่าแมลงมากมาย วันหนึ่งลูกสาวอยากกินแตงโม ก็วิ่งไปที่ไร่แล้วไปอุ้มแตงมาลูกหนึ่ง คว้ามีดมาจะหั่นกิน ตัวแม่หันมาเห็นเข้าร้องเอะอะว่า “อย่ากินๆ ไปเอาแตงโมหลังบ้านมากิน อันนั้นไม่ได้ฉีดยา” ดิฉันและเพื่อนที่เผอิญเห็นเหตุการณ์ได้แต่หันมามองดูหน้ากัน ถ้าลูกๆมีพ่อแม่ที่เลี้ยงเขามาแบบนี้ คงเดาออกนะคะว่าโตขึ้นเขาจะคำนึงถึงเรื่องสาธารณสมบัติ จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องสุขอนามัยและมารยาทต่างๆมากน้อยเพียงใด
เรื่องของการสร้างทักษะทางสังคมสำคัญยิ่งกว่าวิชาการ
ผลการศึกษาที่ยาวนานถึง 20 ปีโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพ็นซิลเวเนียสเตทและมหาวิทยาลัยดุ๊ค พบว่าเด็กที่มีทักษะทางสังคม (Social skills) ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนอนุบาลมักจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มาก กล่าวคือมีหน้าที่การงานที่ดีและมีชีวิตที่มีความสุข พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้ลูกเล็กๆของท่านอยู่กับพี่เลี้ยงเด็กทั้งวันและทุกวัน ท่านควรต้องหาเวลามาอยู่กับลูกเพื่อที่จะได้มีโอกาสสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ (interact) กับเขา เด็กๆมักเลียนแบบการพูดจา กิริยาท่าทางจากผู้ที่เขาอยู่ใกล้ชิด การที่ลูกๆได้มีโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับพ่อแม่และครอบครัวตลอดจนเพื่อนฝูงของพ่อแม่ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การเข้าสังคม รู้จักการสนทนา การดูแลต้อนรับแขกอย่างเหมาะสม ดิฉันยังจำได้ดีว่าตอนเล็กๆพ่อแม่มีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนและร่วมรับประทานอาหารกันบ่อยครั้ง ซึ่งดิฉันจะต้องเรียนรู้การไหว้สวัสดีทักทายแขกของพ่อแม่ หากอาวุโสมากๆก็ต้องกราบแสดงความเคารพ จัดหาน้ำ อาหารมาเสิร์ฟ ตักอาหารให้แขกก่อนตัวเอง ไม่ยืนค้ำศีรษะผู้ใหญ่ ไม่ทะเลาะกับพี่น้องต่อหน้าแขก เป็นต้น มารยาทต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการเข้าสังคมทุกระดับเมื่อเติบโตขึ้น ทำให้รู้จักทำตัวอย่างเหมาะสม ลำพังการศึกษาอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้เรามีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ เป็นคนเก่งแต่ผู้คนเหม็นหน้าย่อมไม่มีคนอยากคบหา
อย่าปกป้องลูกจนเกินไป
ใครที่รักและหวงลูก ทะนุถนอมลูกประหนึ่งไข่ในหิน ยิ่งถ้ามีลูกคนเดียวก็ยิ่งตามใจและโอ๋หนักมาก ร้องไห้นิดก็ต้องอุ้ม หกล้มหน่อยก็ตกใจมากมาย แบบนี้ลูกจะอ่อนแอเกินไป ขาดภูมิต้านทานของชีวิต ถ้าลูกไม่เคยผิดหวังเลยเมื่อพบกับความผิดหวัง เช่น สอบไม่ได้คะแนนสูงอย่างที่เคยได้หรือแข่งกีฬาแพ้ อาจทำให้เด็กบางคนเสียใจมากมายจนซึมเศร้าหรือไม่ก็พาลโกรธอาฆาตผู้ชนะ การที่ลูกได้พบกับความผิดหวังเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะได้ชี้ให้เห็นว่าในชีวิตของคนเราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดหวังว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขอให้เรียนรู้ว่าเหตุใดเราจึงทำผิดพลาดและพยายามแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ในกรณีที่เป็นการแข่งขัน ต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬายินดีชื่นชมกับผู้ชนะ และพยายามเรียนรู้ว่าอะไรทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ชนะ
ตั้งเป้าสูง แต่มีความยืดหยุ่น ปรับตัวเก่ง
เป็นเรื่องที่ควรพัฒนาต่อเนื่องจากการฝึกให้ลูกรู้จักรับมือกับความผิดหวัง การที่ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่คงต้องได้พบกับเรื่องไม่คาดฝันและการเปลี่ยนแปลงต่างๆมากมาย ทั้งนี้การฝึกรับมือกับความผิดหวังไม่ได้หมายถึงการต้องลดเป้าหมายหรือความฝันไปด้วย ส่งเสริมให้ลูกฝันให้ไกลตามใจอยาก ทำให้ดีที่สุด เมื่อเกิดอุปสรรคหรือไม่สามารถเดินตามแผนเดิมได้ ก็สามารถปรับมุมมอง มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ เมื่อทำดีที่สุดแล้วไปไม่ถึงจุดหมายก็ยอมรับผลลัพธ์ไม่ยึดติด ตั้งตัวตั้งสติและหาหนทางใหม่ การที่จะฝึกให้ลูกรู้จักปรับตัวเก่งและมองต่างมุม พ่อแม่ต้องใจกว้างยืดหยุ่น ไม่สั่งและไม่สอนจนทำให้ลูกคิดเองไม่เป็น เป็นผู้ฟังที่ดีและรู้จักตั้งคำถามท้าทายให้ลูกคิด สนับสนุนให้ลูกกล้าลองผิดลองถูก
การเลี้ยงลูกก็เหมือนการสร้างประติมากรรมชิ้นสำคัญ จะออกมาในรูปแบบอนุรักษ์นิยม ทันสมัยไฮเทค หรือบูดเบี้ยวไม่เป็นรูปขึ้นอยู่กับพ่อแม่เป็นหลัก อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกย่องไว้ว่า “บิดามารดาคือพรหม (พระผู้สร้าง) ของบุตร”