บทเรียนการลงทุนจากวิกฤติโควิด19
สำหรับนักลงทุน “รุ่นใหม่” ส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย “วิกฤติโควิด19” น่าจะเป็น “Wake Up Call”
หรือการปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้ายของการลงทุนที่คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนัก เพราะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 12 ปี คือเริ่มลงทุนหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 แล้ว พวกเขาไม่เคยประสบกับการตกลงมาอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นจริง ๆ เลย ปีที่หุ้นลงแรง ที่สุดก็ไม่เกิน 15% ส่วนใหญ่หุ้นจะขึ้นและก็ขึ้นแรงเกินปีละ 10% ปีที่หุ้นขึ้นไปเกิน 30% มีถึง 3 ปี อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้นับถึงวันวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาต่ำที่สุดในรอบประมาณ 8 ปี ซึ่งก็แปลว่าคนที่เริ่มลงทุนมาน้อยกว่า 8 ปี และเป็นนักลงทุนระยะยาว ทั้งที่ลงทุนเองและลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเลย เงินหรือความมั่งคั่งที่เก็บสะสมมาตลอดและเคยรู้สึกว่ามันเพิ่มขึ้นมากนั้น หายไปภายใน “พริบตา” และนี่ก็ยัง “ไม่จบ” ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป และนี่ก็คือบทเรียนที่หนึ่งของ “วิกฤติตลาดหุ้น” ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก “วิกฤติตลาดหุ้น”
บทเรียนที่สองก็คือ วิกฤติตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่จะต้องเกิดภายในระยะเวลาประมาณไม่เกินทุก 10 ปี วิกฤติครั้งนี้อาจจะมาช้าหน่อยแต่สุดท้ายก็มา ผมเองผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง แต่แล้วก็ไม่จำหรือพยายามหาเหตุผลว่าครั้งนี้มันคงไม่เกิดเพราะมันไม่มีสัญญาณทางการเงินที่มีเหตุผลชัดเจนว่ามันจะเกิด เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เงินล้นโลกและดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์และราคาหุ้นก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากเป็นช่วง “กระทิง” ว่าที่จริงตลาดหุ้นไทยไม่ได้ไปไหนมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว มันจะเกิดวิกฤติด้วยเรื่องใด อย่างมากก็น่าจะแค่ถูก “หางเลข” จากตลาดหุ้นโลกที่อาจเกิดวิกฤติ- ถ้ามี ดังนั้น วิกฤติครั้งนี้ผมจะต้องจำเป็นบทเรียนว่า วิกฤตินั้น เป็นสิ่งที่ “คาดไม่ได้” แต่มันมักจะต้องมาในวันใดวันหนึ่งในช่วงไม่เกินประมาณ 10 ปี นับจากวิกฤติครั้งที่แล้ว
บทเรียนที่สามก็คือ ในวิกฤตินั้น หุ้นกลุ่มที่จะตกลงมาแรงมากทุกครั้งก็คือ หุ้นของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย แม้แต่ครั้งนี้ที่สาเหตุของวิกฤติไม่ได้มาจากสถาบันการเงินแต่สุดท้ายมันก็มาลงที่สถาบันการเงินอยู่ดี เหตุผลคงเป็นว่าสถาบันการเงินนั้นผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก เศรษฐกิจทรุดเมื่อไร ธนาคารก็ไปเมื่อนั้น เหนือสิ่งอื่นใด สถาบันการเงินนั้นกู้ยืมเงินมหาศาล อย่างน้อย 4-5 เท่าหรือ 10 เท่าของทุนของตนเอง ความเสี่ยงจึงมีมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นแบ้งค์เป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนเกือบ 100% Free Float สูงมาก และถูกถือโดยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเกือบทุกแห่ง ดังนั้น ในวันที่เกิดวิกฤติ ไม่มีใครจะมารับซื้อหุ้นได้พอไม่ว่าพื้นฐานของบริษัทจะเป็นอย่างไร
บทเรียนที่ตามมาจากข้อที่สามก็คือ หุ้นของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือผู้ขุดน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งหลายต่างก็จะตกลงมาอย่างหนัก เหตุผลก็คือ ราคาของสินค้าเหล่านี้มักจะตกลงมาแรงมากอานิสงค์จากการหดตัวของ GDP ที่ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังเท่าเดิม ผลก็คือ บริษัทขาดทุนอย่างหนัก ทำให้หุ้นตกลงมาตาม
บทเรียนที่ 5 ก็คือ หุ้นกลุ่มที่จะพอเอาตัวรอดได้จากวิกฤติก็คือ ผู้ที่ผลิตหรือขายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและเป็นกิจการที่บริษัทมีการผูกขาดหรือมีอำนาจทางการตลาดสูง พูดง่าย ๆ ยังไงคนก็จะต้องกินต้องใช้ แม้จะลดลงบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้บริษัทขาดทุนหรือมีปัญหาทางการเงิน ตัวอย่างเช่น กลุ่มโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา ค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายอาหารและสินค้าจำเป็นประจำวันและร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เหตุผลก็ชัดเจนว่าพวกเขาก็อาจจะมีรายได้และกำไรลดลง แต่มันไม่เป็นหายนะ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มันก็มักจะกลับมาเหมือนเดิม
บทเรียนที่ 6 ก็คือ หุ้นที่อันตรายที่สุดในยามเกิดวิกฤติก็คือ หุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่ “โตเร็ว” และมีราคาแพงหรือค่า PE ที่สูงมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะหุ้นเหล่านี้มักจะถูกเข้ามาเล่นเก็งกำไรโดยนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากผสมกับนักเก็งกำไรรายใหญ่ที่มักจะเข้ามา “ดูแล” หรือ “ปั่นหุ้น” จนทำให้ราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีหรือยังเอื้ออำนวย ราคาก็มักจะดำรงอยู่ได้ ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ยังสูงพอที่จะทำให้นักเล่นหุ้นสบายใจว่าสามารถซื้อและขายได้ด้วยราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างไรก็ตาม วิกฤติมักทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป คนไม่เชื่อว่าบริษัทจะโตได้ในภาวะอย่างนี้จึงเริ่มขายหุ้นทิ้ง รายใหญ่อาจจะเริ่มขายเพื่อทำกำไรหรือหนีตายเนื่องจากอาจจะกังวลว่าหุ้นจะตกจนตนเองถูกเรียกให้วางเงินมาร์จินเพิ่มเติมจากโบรกเกอร์ ผลก็คือ ราคาหุ้นตกดิ่งลงมาโดยหาผู้ซื้อได้ยาก ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างรวดเร็วจนคนที่ถือหุ้นมากขายออกไปไม่ได้ หุ้นกลายเป็น “หายนะ”
บทเรียนที่ 7 ก็คือ หุ้นที่อยู่ใน “ศูนย์กลางของวิกฤติ” กล่าวคือเป็นหุ้นที่ถูกกระทบโดยตรงและ เต็ม ๆ มักจะตกลงมาแทบเป็น “หายนะ” เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินไม่แข็งแรงเช่น มีหนี้สินมากกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือมีความไม่สอดคล้องในเรื่องของระยะเวลาถึงกำหนดของการชำระหนี้กับรายได้ที่จะเข้ามา เหตุผลก็คือ นอกจากผลประกอบการที่จะตกลงมาอย่างหนักแล้ว ยังมาจากความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะล้มละลายหรือต้องเพิ่มทุนจำนวนมากพร้อมกับการลดทุนของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย ในรอบวิกฤติปี 2540 ศูนย์กลางคือบริษัทเงินทุน ส่วนรอบนี้ก็คือธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกกระทบเต็ม ๆ และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
บทเรียนที่ 8 คือ สิ่งที่ผมอยากจะเตือนไว้สำหรับคนที่อยากจะ “ช้อนหุ้น” ที่ตกลงมาแรงมากเพราะเชื่อว่าเมื่อวิกฤติผ่านไปแล้วหุ้นก็จะฟื้นตัว หุ้นที่ตกลงไปมากก็จะขึ้นมากกว่าหุ้นที่ตกลงมาน้อย นี่เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงที่พื้นฐานของกิจการยังไม่ปรากฏ คนยัง “เก็งกำไร” กันอยู่ ซึ่งช่วงนี้ก็อาจจะทำให้เกิด “การปรับตัวขึ้นทางเทคนิค” เป็นระยะ ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวแล้ว สิ่งที่ต้องดูก็คือ มูลค่าที่แท้จริงวัดจากผลประกอบการระยะยาวเทียบกับราคาหุ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมองก็คือ ผลประกอบการจะเป็นอย่างไรต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประเด็นก็คือ ในช่วงแรก ๆ ของวิกฤติตลาดหุ้น การประเมินผลกระทบยังเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นข้อมูลมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีวิกฤติโควิดครั้งนี้ ตัวเลขที่จะต้องจับตามองก็คือ ผลประกอบการไตรมาศแรกและไตรมาศสองที่จะออกมาในระยะเวลาอีก 1 เดือนและ 4 เดือนข้างหน้า ตามลำดับ เพราะมันจะบอกว่าผลประกอบการทั้งปีจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงสถานะการระบาดของเชื้อไวรัสที่จะบอกว่ามันควรจะยุติได้เมื่อไร สำหรับผมแล้ว การลงทุนในวันนี้เองนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ซึ่งมีความเสี่ยงไม่น้อย
บทเรียนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในทุกวิกฤติก็จะมี “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ” เสมอ ก่อนวิกฤติบริษัทบางกลุ่ม เจ้าสัวบางตระกูล หรือนักลงทุนบางคน “ร่ำรวย” กว่าคนอื่น หลังวิกฤติก็จะมีบริษัทกลุ่มใหม่ เศรษฐีตระกูลใหม่ หรือนักลงทุนกลุ่มใหม่ร่ำรวยขึ้นมาแทน “คุณค่า” ของกิจการเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มเดิมเป็นกลุ่มใหม่ บางครั้งก็เป็นธุรกิจ “New Economy” ในวิกฤติครั้งนี้ คงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบที่เคยผ่านมาไหม นี่ก็คงขึ้นอยู่กับสถานภาพของเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย เพราะในอดีตนั้น ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ หลังจากนั้นไทยก็กลับมาโตต่อไปได้อย่างแข็งแรง แต่ครั้งนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก เหตุผลก็เพราะว่าตั้งแต่ก่อนวิกฤติหลายปีเราก็อ่อนแอลงมาโดยตลอดอยู่แล้ว ผมก็อยากจะหวังว่า หลังวิกฤติเราจะเกิด “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่งและพร้อมต่อสู้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างที่เคยเป็นมาช้านาน และนั่นก็จะเป็นเวลาที่หุ้นไทยก็จะเติบโตขึ้นต่อไปอีกนานเช่นเดียวกัน