ฟื้นฟู “การบินไทย” ฟื้นให้ทันใจ “เจ้าหนี้”
แว่วว่าวันนี้ (25 พ.ค.) จะมีการเสนอรายชื่อทีมผู้ทำแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
หลังจากที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม จบประเด็นเกาเหลา ด้วยการส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงาน ร่วมกันรวบรวมรายชื่อผู้ทำแผน
ต้องยอมรับว่าการจัดตั้งทีมผู้ทำแผน เป็นเพียงขั้นตอนแรกเริ่ม ของการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายเท่านั้น กระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยว่า การฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย มี 10 ขั้นตอน แบ่งออกเป็น 1.ครม.เห็นชอบให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย พร้อมทั้งกระทรวงการคลัง ต้องลดการถือหุ้นในการบินไทย ตามมติ ครม. เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
2.การบินไทย ต้องมีมติให้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้ทำแผนต่อศาลฯ พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้
3.ยื่นคำร้องต่อศาล โดยหากศาลรับคำร้อง การบินไทยจะได้รับความคุ้มครอง ม.90/12 สภาวะพักชำระหนี้ (Automatic stay) 4.ส่งหมายให้เจ้าหนี้ 5.จัดประชุมเจ้าหนี้ โดยจะต้องมีเสียงข้างมากเพื่ออนุมัติผู้ทำแผน
หลังจากนั้นในวันนัดไต่สวนคำร้อง จะเข้าสู่กระบวกการขั้นที่ 6.ศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อให้ผู้ทำแผนเข้าควบคุมกิจการ 7.ผู้ทำแผนเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ 8.ประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู โดยในขั้นตอนนี้ อาจใช้เวลาในการปรับปรุงแผนตามข้อเสนอของเจ้าหนี้ 9.ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน พร้อมแต่งตั้งผู้บริหารแผน และ 10. ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
ดังนั้นวันนี้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย อยู่ในขั้นเริ่มต้นตั้งไข่ ส่วนเส้นทางสู่การฟื้นฟูกิจการยังอีกยาวไกล แต่ประเด็นปัญหาที่บีบคั้นการบินไทยแท้จริง คือภาระทางการเงินอันหนักอึ้ง และ “เจ้าหนี้” ที่อาจไม่รอช้ากับการสรรหาผู้ทำแผน หากวันนี้ยังไม่มีการเร่งรัด และเริ่มต้นเจรจา
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยบอกว่า “ตอนนี้การบินไทยเหลือเงินอยู่ 1 หมื่นล้านนิดๆ กับค่าใช้จ่ายต่อเดือน 6 พันล้าน”
ขณะที่ภาระหนี้สินก้อนใหญ่ของการบินไทย ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท โดย 35% เป็นหนี้จากการเช่าซื้อเครื่องบิน โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา การบินไทยพยายามเจรจาต่อรองเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพคล่องไว้จ่ายเงินเดือนพนักงานจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
หากการบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูต่อศาลได้ภายใน 3-4 สัปดาห์จากนี้ และศาลรับคำร้อง คาดว่าการบินไทยจะสามารถบริหารจัดการยืดเวลารักษาสภาพคล่อง ต่อไปได้อีก 4 เดือนจนถึงสิ้นสุดในเดือน ต.ค.2563 ทันกับช่วงทำแผนฟื้นฟูกิจการน่าจะแล้วเสร็จ
ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของการบินไทยในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าเวลาเป็นสิ่งบีบคั้น ของการตัดสินใจแก้ไขปัญหา เพราะยิ่งช้า กระแสเงินสดในมือก็ลดลง สวนทางกับภาระหนี้สินที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
...หากวันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังรอช้า ประเด็นที่สังคมกังวล ว่าเมื่อการบินไทยกลับไปทำการบิน จะถูกยึดเครื่องบินที่ต่างประเทศ อาจมีให้เห็นจริงก็ได้