ผลกระทบมิติสังคมไทยจาก COVID-19

ผลกระทบมิติสังคมไทยจาก COVID-19

วิกฤตการณ์โควิด-19ไม่เพียงกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังส่งผลต่อเนื่องมาสู่มิติทางสังคมและผู้คนอย่างกว้างขวาง

ในหลายประเทศพบว่าผู้มีรายได้น้อยมักมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อไวรัสโควิดและเสียชีวิตจากโรคนี้ เพราะครอบครัวผู้ยากจนมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่ในบ้านพักหรืออาคารที่แออัดและทำงานในรูปแบบงานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

นอกจากนี้ คนที่มีรายได้น้อยในหลายประเทศอาจไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากไม่มีประกันสุขภาพ อีกทั้งผู้มีรายได้น้อยในภาคบริการมีความเสี่ยงที่จะตกงานจากสถานการณ์ปิดเมืองและการเว้นระยะทางสังคม

สำหรับผลกระทบของวิกฤติโควิดต่อสังคมไทยอันเป็นผลมาจากประเด็นด้านเศรษฐกิจ เช่น การหยุดดำเนินกิจการของภาคธุรกิจชั่วคราว การเลิกจ้างงาน การเปลี่ยนสถานะการจ้างงานหรือลดเงินเดือน การปิดพื้นที่ค้าขายชั่วคราว ส่งผลกระทบสูงต่อกลุ่มคนเปราะบาง ผู้รายได้ต่ำและขาดความคุ้มครองทางสังคม โดยเราอาจแบ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เข้าใจได้อย่างชัดเจนขึ้นเป็นอย่างน้อย 8 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่จำเป็นต้องประกอบอาชีพต่อไปภายใต้ความเสี่ยงในสถานการณ์โรคระบาด เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่งอาหารและส่งคน กลุ่มคนที่ขาดความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรการการกักตัวอยู่บ้านและรักษาระยะห่าง เช่น คนในชุมชนแออัด

2.กลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ ผู้ค้ารายย่อย แรงงานรับจ้างทั่วไป แรงงานรับงานมาทำที่บ้าน แรงงานในภาคบริการ แรงงานรับจ้างภาคเกษตร ซึ่งพึ่งพารายได้รายวัน และขาดความคุ้มครองทางสังคม เช่น การประกันสังคม รวมถึงแรงงานรับจ้างอิสระ (freelancers) ที่รายได้ไม่แน่นอนและไม่ได้อยู่ในสถานะลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองทางสังคมตามกฎหมาย

  1. กลุ่มแรงงานในระบบที่ไม่มีความมั่นคงเช่น ลูกจ้างรายวันที่ประกอบอาชีพซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะสูง แรงงานโรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยเฉพาะแรงงานอายุมากซึ่งทำงานมานานโดยไม่มีการพัฒนาทักษะใหม่ (re-skilled) เนื่องจากนายจ้างต้องปิดกิจการชั่วคราว และบางกรณีนายจ้างหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายประกันสังคม
  2. กลุ่มเด็กและเยาวชนโดยองค์การยูนิเซฟ ออกผลสำรวจเมื่อเดือนเม.ย.พบว่า เยาวชนกว่า 8 ใน 10 คน มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเงินของครอบครัวเนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อันเป็นผลมาจากการปิดตัวของธุรกิจตลอดจนการถูกเลิกจ้าง นอกจากนี้ เด็กยังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การไม่ได้รับอาหารที่มีโภชนาการเพียงพอจากที่เคยได้รับจากโครงการอาหารหรือนมจากโรงเรียน หรือการศึกษาระดับอนุบาลและเด็กเล็กที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยการศึกษาออนไลน์
  3. กลุ่มชุมชนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่สูงซึ่งพึ่งพารายได้จากผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลที่ต้องมีผู้มารับซื้อ
  4. กลุ่มคนไร้บ้านที่ขาดการคุ้มครองทางสังคมขาดการป้องกันด้านสุขภาพ และขาดรายได้จากการรับจ้างเบ็ดเตล็ด
  5. กลุ่มผู้หญิงที่อาจตกงานและถูกหลอกลวงให้ไปทำงานซึ่งอาจมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น
  6. กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างเช่น ก่อสร้างและบริการ ประสบปัญหาขาดรายได้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร ค่าเช่าห้อง ค่าเลี้ยงลูก และยังงไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้

นอกจากผลกระทบทางสังคมด้านรายได้หรือวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สถานการณ์โควิดยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับสุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ (mental and emotional wellbeing) ความกลัว ความเครียด ความวิตกกังวล (anxiety) ความรู้สึกโดดเดี่ยวขาดที่พึ่ง (isolated) ความรู้สึกสิ้นหวัง (desperate) จากการคาดการณ์อนาคตไม่ได้อีกด้วย

วิกฤตการณ์โควิดยังอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากแทบทุกภาคเศรษฐกิจเกิดการว่างงานเฉียบพลันและเกิดขึ้นในวงกว้าง รวมทั้งภาคเศรษฐกิจนอกระบบและภาคเศรษฐกิจในชนบทหดตัวจากภัยแล้ง จึงอาจไม่มีความสามารถเพียงพอในการรองรับปัญหาของคนตกงานจำนวนมาก ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิดยังตามมาด้วยความกังวลว่าอาจมีการฆ่าตัวตายที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากความโดดเดี่ยวทางสังคมจากมาตรการกักตัว ความกลัว การว่างงานและปัจจัยทางการเงิน  รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ เรายังพบสิ่งดีๆ จากพลังด้านบวกของสังคมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดความรู้สึกถึงการให้และช่วยเหลือผู้อื่น (altruism) ในสังคมโดยรวมที่ปรากฏอย่างชัดเจนในวงกว้าง เกิดความเข้าใจภาวะของผู้อื่นที่เดือดร้อน (empathy) และเกิดการอาสาลงมือปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้อื่น (volunteerism) รวมถึงเกิดการพัฒนากลไกการช่วยเหลือผู้อื่นที่มีประสิทธิภาพโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มส่งอาหารช่วยเหลืออาชีพที่ขาดรายได้ เป็นต้น

ดังนั้น นอกจากเราจะต้องมีนโยบายและมาตรการในการลดผลกระทบต่อสังคมในทางลบ ฟื้นฟู เยียวยา บุคคลให้ตรงกับลักษณะเฉพาะของกลุ่มอย่างน้อย 8 กลุ่มข้างต้นด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง รวมถึงการคิดอนาคตเพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่อาจตามมาล่วงหน้าแล้ว เรายังจะต้องร่วมกันผลักดันให้พลังด้านบวกของสังคมที่เป็นห่วงเป็นใยกันไม่ใช่เป็นเรื่องชั่วคราว แต่ให้กลายเป็นความปกติใหม่ที่ดีงามอีกประการหนึ่งในสังคมไทย

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

วรดุลย์ ตุลารักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/