ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใครเดือดร้อน?
เมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำเสนอต่ออายุการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีกรอบ
เป็นสิ้นสุด 30 มิ.ย.2563 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่ออังคารที่ผ่านมา มีเสียงวิจารณ์อื้ออึงว่า ไม่เหมาะสม คนวิจารณ์เหมือนจะทนไม่ได้ กับการต้องอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ
โดยเฉพาะซีกการเมือง ที่ต่อต้านรัฐบาล ทั้งพรรคฝ่ายค้าน คนที่ไม่ชอบรัฐบาล แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่คิดว่าคือการรวบอำนาจศูนย์กลางของรัฐบาลไปอยู่ที่ศูนย์บริหารโควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นผู้อำนวยการ
ต้องถามกันแบบตรงไปตรงมาว่า การอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะวิกฤติสุขภาพตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาใครเดือดร้อนบ้าง
ทุกคนยังแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อกระแสหลัก และสังคมออนไลน์ได้ตามปกติ เพียงการออกมาชุมนุมในท้องถนน การรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ กระทำไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นต้นตอการแพร่ระบาด อย่างกรณีสนามมวย ที่เป็นจุดแพร่ระบาดใหญ่ของประเทศไทย
แน่นอน คนที่เดือดร้อนส่วนใหญ่ คือถูกดำเนินคดีมั่วสุม ตั้งวงเล่นพนัน-สังสรรค์ ดื่มเหล้า ออกนอกเคหสถานนอกเวลาที่กำหนด แต่ยังไม่เห็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปดำเนินคดีกับคนที่มี “ความเห็นต่าง”แม้แต่กรณีเดียว
ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า 2 เดือนที่ผ่านมา แห่งการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อความมั่นคง ด้านสุขภาพ และป้องกันการแพร่ระบาด ดังนั้นการจะต้องทนอยู่กับ พ.ร.ก. ฉุกเฉินอีกเดือน เพื่อให้การคลายล็อก ทั้ง 4 เฟส ตามแผนงานของ ศบค. ถึงขั้นทนกันไม่ได้ “จะเป็นจะตายกันให้ได้เชียวหรือ”
ลองหันไปเปรียบเทียบสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เข้มข้นกว่า มายาวนานถึง 15 ปี (ต่อทุก 3 เดือน) นับตั้งแต่เกิดเหตุ ”โจรกระจอก” (ตามวาทะของ ทักษิณ ชินวัตร ปล้นปืน 413 กระบอก จากกรมทหารพัฒนาที่ 4 ใน นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547)
ไฟใต้ที่ “มอดไหม้" มานับแต่ยุคปฏิบัติการของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มา “ลุกโชน” ในยุคทักษิณ กว่า 15 ปี ที่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชน 3 จังหวัด (ยะลา-ปัตตานี- นราธิวาส) เขายังอยู่กันได้ มีการเลือกตั้งทั่วไป 4 ครั้ง ทุกพรรคการเมืองสามารถยกทัพไปหาเสียงได้ โดยไม่มีปิดกั้น
จึงขอถามกันตรงๆ ว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสถานการณ์ความมั่นคงทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงมีการก่อการร้ายอยู่จนถึงปัจจุบัน หรือการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั่วประเทศ 2 เดือนที่ผ่าน มา และกำลังต่ออายุไป 1 เดือน ที่หัวใจการบังคับใช้คือ “สุขภาพ นำเสรีภาพ” มีใครเดือดร้อน?
ประเทศประชาธิปไตย ที่เป็นแม่แบบ ที่ชอบยกมาอ้างกัน จนปัจจุบันยังมีอีกหลายประเทศ ยังบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น เพราะหวังจะ “จัดระเบียบ” คนในสังคม สู้กับโรคร้ายนี้
ไม่มีใครคิด “เอาชีวิตคนในประเทศ” ไปเสี่ยง แลกกับ “เสรีภาพ” ที่พล่ามกัน เพราะ “ชีวิตรอด สำคัญกว่าเสรีภาพ”
หรือที่ทนไม่ได้ เพราะเกรงว่า การใช้กฎหมายพิเศษนี้ จะสกัดโรคระบาดร้ายแรงนี้ได้ และคะแนนนิยมจะไหลไปที่ “ลุงตู่” ทำให้ “ฝ่ายแค้นกระแสตก” เลยต้องออกมา “โวยวาย-คัดค้าน”
ถ้าคิดได้แค่นี้ เท่ากับ “คิดได้ไม่เกินหัวแม่เท้าตัวเอง" อย่าว่าแต่เป็นนักการเมืองเลย เป็น “คน” ก็ยังไม่สมควร!