ความปกติใหม่บนวิธีคิดเก่า
วันนี้ผู้คนในสังคมคงจะคุ้นเคยกับคำว่านิวนอร์มอล (new normal) หรือความปกติใหม่กันอยู่ไม่น้อย
เพราะใครหลายคนต่างพากันนำเสนอคำคำนี้ผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลัก
เฟซบุ๊ค Malee Boonsiripunth ของ รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ คณะกรรมการบัญญัติศัพท์นิเทศศาสตร์ราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า New Normal หมายถึง ความปกติใหม่, ฐานวิถีชีวิตใหม่ หมายถึงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างใหม่ที่แตกต่างจากอดีตอันเนื่องจากมีบางสิ่งมากระทบ จนแบบแผนและแนวทางปฏิบัติที่คนในสังคมคุ้นเคยอย่างเป็นปกติและเคยคาดหมายล่วงหน้าได้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีใหม่ภายใต้หลักมาตรฐานใหม่ที่ไม่คุ้นเคย
ตัวอย่างของความปกติใหม่ที่มีการกล่าวถึงกันกว้างขวางในสังคม เช่น การใส่หน้ากากอนามัยจะกลายเป็นเรื่องปกติและจะทำให้เกิดการคิดค้นลวดลายใหม่ๆ ในลักษณะแฟชั่นบนหน้ากากอนามัย การที่ผู้คนจะทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้จากที่บ้าน เช่น การรับชมการแสดงคอนเสิร์ต การประชุม การเรียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาก็ยังสามารถทำบนระบบออนไลน์จากที่บ้านได้ ความต้องการบ้านเดี่ยวจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการคอนโดมิเนียมจะลดลง รวมถึงพื้นที่ทำงานร่วมกันที่เรียกว่าโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-Working Space) ก็จะได้รับความนิยมลดลงเพราะผู้คนจะไม่ต้องการใช้พื้นที่ทางกายภาพร่วมกับผู้อื่น เหล่านี้เป็นต้น
แม้แต่บุคคลระดับรัฐมนตรีต่างก็พากันออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความปกติใหม่ เช่นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่า ต่อไปการค้าในประเทศและต่างประเทศ การส่งออก การลงทุนจะต้องปรับรูปแบบมาเป็นอี-คอมเมิร์ซ โดยใช้ระบบออนไลน์มากขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นความปกติใหม่ของโลก
ไม่ว่าตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นแค่ “ความผิดปกติปัจจุบัน” (current abnormal) ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหรือจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” (new normal) ในโลกหลังโควิด-19 อย่างที่สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ตั้งประเด็นไว้อย่างน่าสนใจก็ตาม แต่ประเด็นเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีมองโลกในระดับพื้นฐานของสังคมไทย
นับตั้งแต่อดีตสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและยอมรับการดำรงอยู่ของลำดับชั้นในสังคมว่าเป็นสิ่งปกติ ในอดีตสังคมไทยเชื่อว่าผู้ที่มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายในชาตินี้เป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นสะสมบุญบารมีมามากในชาติก่อน แม้ต่อมาความมั่งคั่งจะถูกอธิบายใหม่ว่าเป็นผลมาจากความสามารถ การเรียนรู้และความขยันอดออมส่วนตัวก็ตาม
แต่คำอธิบายใหม่นี้ก็ยังคงยืนยันความชอบธรรมของความร่ำรวยและลำดับชั้นทางสังคม ที่สำคัญคือความคิดเช่นนี้มีนัยว่าการที่ผู้ยากไร้ต้องทำงานหนักแต่มีรายได้น้อยก็เป็นเพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้มีการศึกษาน้อย ปราศจากความรู้ความสามารถจึงต้องทำงานหนักและได้ค่าตอบแทนน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา” ดังนั้นการที่ในสังคมจะประกอบไปด้วยผู้มั่งคั่งร่ำรวยจำนวนน้อยอยู่ข้างบนและผู้ยากไร้จำนวนมากอยู่ด้านล่างจึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
อย่างไรก็ตาม แม้สังคมไทยจะมีลำดับชั้นและมีผู้ยากไร้อยู่เบื้องล่างเป็นจำนวนมากก็มิใช่ปัญหา เพราะความคิดหลักที่ได้รับการสืบทอดต่อมาจนกลายเป็น “ความปกติ” ในสังคมควบคู่กับความคิดในการยอมรับความมีลำดับชั้นก็คือ ความคิดที่ว่าเมืองไทยนี้ดีมาแต่โบราณ รัฐไทยเป็นรัฐที่เมตตาเอื้ออาทร สังคมไทยเป็นสังคมพุทธจึงเป็นสังคมที่เมตตา ไม่มีการกดขี่หรือเอารัดเอาเปรียบ
การที่ศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งได้เขียนชื่นชมการแบ่งปันอาหารผ่าน “ตู้ปันสุข” ลงในเฟซบุ๊คของตนเองว่าเป็นไอเดียที่ดีที่สุดที่เห็นมาตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 และปิดท้ายด้วยข้อความว่า “ทุกครั้งที่เห็นภาพงดงามอย่างนี้ น้ำตารื้น พูดไม่ออก และทำให้ผมเชื่อมั่นว่า ประเทศเราไปรอดแน่นอน” เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนถึงความคิดที่เป็นแบบ “ปกติ” ในสังคมไทยที่ผู้มีมากกว่าจะเอื้อเฟื้อให้กับผู้มีน้อยกว่า
เช่นนั้นแล้วการลุกขึ้นเรียกร้องจากผู้ยากไร้เพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายทุนและจากรัฐ จึงมักถูกมองจากข้าราชการและชนชั้นกลางว่าไม่เป็นความจริง คำกล่าวของปลัดกระทรวงการคลังในกรณีการมาเรียกร้องขอรับเงินเยียวยาที่หน้ากระทรวงการคลังเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดแบบ “ปกติ” ในการมองผู้ยากไร้ในสังคมไทย
“สื่อตกเป็นเครื่องมือให้คนที่จะมาหาเงิน ผู้ที่มาเรียกร้องบางคนมีเงินอยู่แล้ว หลายคนกระทรวงการคลังตรวจสอบแล้วพบว่าได้เงินอยู่แล้ว แต่ก็มาร้องเรียนอีกเผื่อได้เพิ่มต่างหากอีก แม้แต่กรณีคนที่ปีนรั้วกระทรวงการคลังก็ได้สิทธิอยู่แล้ว เพียงแต่เขาอยากได้มากกว่านั้น”
คำกล่าวนี้ของปลัดกระทรวงการคลังยังสะท้อนให้เห็นว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมพุทธที่มีเมตตา แต่ผู้รับก็จะต้องเจียมเนื้อเจียมตัวและอยู่ในที่ของผู้รับ การอาจเอื้อมก้าวเข้ามาต่อรองกับผู้ให้ถือเป็นความไม่ปกติที่ไม่อาจยอมรับได้
ดังนั้น ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังให้ความสำคัญกับ “ความปกติใหม่” ผู้ที่ปรารถนาจะเห็นสังคมไทยก้าวออกจากความปกติเก่าไปสู่ความปกติใหม่อันหมายถึง การมีพื้นฐานทางความคิดแบบใหม่ จึงควรช่วยกันส่งเสียงเพื่อช่วยกันกำหนดอนาคตที่พึงประสงค์ของสังคมไทยและไม่ปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็น “ความปกติใหม่” ในสังคมไทย
โดย...
ตะวัน วรรณรัตน์
ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร