ประเทศต่างๆ รับมือโรคระบาดโควิด-19 ได้แตกต่างกันไป
โรคระบาดโควิด-19 แพร่มากที่สุดในประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการค้า การบริการสูง ยิ่งพัฒนามาก เมืองยิ่งใหญ่มาก
สถิติติดเชื้อและเสียชีวิตมากตามไปด้วย เพราะเมืองใหญ่คนอยู่กันแออัดและติดต่อสัมพันธ์กันมากจึงระบาดได้มาก โดยเฉพาะในหมู่แรงงานที่เป็นคนจนในเมืองที่แออัด และค่าครองชีพสูง รัฐบาลส่วนใหญ่ให้บริการสาธารณสุขในราคาสูงและไม่ทั่วถึงสำหรับคนจน โดยเฉพาะคนสูงอายุและคนที่สุขภาพไม่ดีป่วยอยู่แล้ว มีภูมิต้านทานต่ำ ติดเชื้อและมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายกว่า
ประเทศและเมืองเล็กในต่างจังหวัด ชนบท ที่พัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมน้อยกว่า ติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศน้อยกว่า มีสถิติการระบาดน้อยกว่า 11 ประเทศที่เชื้อโควิด-19 ไปไม่ถึง ส่วนใหญ่คือประเทศที่เป็นหมู่เกาะในแปซิฟิกที่อยู่แยกไปจากตัวทวีปมีคนต่างชาติเดินทางไปน้อย และบางประเทศสั่งปิดประเทศได้เร็ว
ในแอฟริกา ระบาดไม่มากนัก (ยกเว้นสหภาพแอฟริกาใต้) ส่วนหนึ่งเพราะพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมน้อยกว่า บางรัฐบาลพยายามป้องกันตั้งแต่ได้ข่าวเพราะพวกเขามีประสบการณ์อีโบลาและอื่นๆ มาแล้ว
สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมบางประเทศระบาดน้อยหรือคุมสถานการณ์ได้ดี ปัจจัยสำคัญคือการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดสถานให้บริการที่คนชุมนุมกันมาก การตรวจหาเชื้อ กักกันผู้ต้องสงสัย การส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเอง ความเชื่อถือ ไว้วางใจ ความร่วมมือดี ประเทศที่เริ่มใช้มาตรการเหล่านี้จริงจังจะได้ผลกว่าประเทศที่ทำช้าหรือไม่ทำอย่างเข้มงวดเอาจริง
จีนช่วงแรกไวรัสระบาดมากเป็นอันดับ 1 ใช้มาตรการควบคุม ป้องกัน และรักษาอย่างได้ผล ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ก็ใช้มาตรการที่รวดเร็วจริงจัง ไทยค่อนข้างช้าด้วยซ้ำ โชคดีที่ไม่เกิดปัญหาคนติดเชื้อมากนักและการสาธารณสุขไทยพอควบคุมสถานการณ์ได้ พอสั่งปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดสถานบริการ จากช่วงแรกไทยมีสถิติผู้ติดเชื้อสูง อันดับ 3-4 จึงควบคุมสถานการณ์ได้ดี
การที่โควิด-19 ไปโจมตีในสหรัฐและยุโรปตะวันตก รวมทั้งรุสเซีย ตุรกี อิหร่าน ได้มาก ขณะที่ประเทศเอเชียตะวันออกคุมได้ค่อนข้างดีกว่า บางคนคิดว่าเป็นเพราะประเทศเหล่านั้นอากาศหนาวชื้น คนต้องอยู่ภายในอาคาร ไม่ค่อยได้รับแสงแดด แต่ก็ไม่จริง เพราะกรณีบราซิล ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอากาศร้อนเช่นกันก็มีสถิติคนติดเชื้อสูง เพราะบราซิลพัฒนาทุนนิยม เมืองใหญ่แออัด มีคนจนมาก และความจริงคือเชื้อโควิด 19 ติดต่อกันเพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนโดยตรงมากกว่า จากการไปติดค้างที่พื้นผิวของสิ่งต่างๆ ประเทศในเขตหนาว เช่น เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ จัดการป้องกันควบคุมได้ดีกว่าประเทศเขตหนาวอื่นๆ
วัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนแต่ละชาติอาจมีส่วนสนับสนุนการแพร่ระบาด เช่น คนอเมริกาและยุโรปส่วนใหญ่ เน้นเสรีภาพของปัจเจกชน ชอบสังสรรค์ คนอเมริกันมีทัศนะโอ้อวดความเข้มแข็ง คิดว่าการที่คนปกติไม่ได้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยแสดงความอ่อนแอหรือขี้กลัว (ตัวอย่างประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งชอบคิดโอ้อวดแบบพวกคาวบอย) คนอิตาลี สเปน สวีเดน และหลายประเทศก็ติดเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่เห็นด้วยกับนโยบายป้องกันตามหลักการป้องกันโรคระบาด
สหรัฐฯ มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการแพทย์มาก กลับมีปัญหาโรคระบาดสูงกว่าประเทศอื่น สหรัฐนั้นเป็นทุนนิยมสุดโต่ง ระบบสาธารณสุขพื้นฐานไม่ดีนัก ค่ารักษาพยาบาลสูง เข้าถึงยาก คนที่ติดเชื้อและตายกันมากมักเป็นคนจนในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะคนสูงอายุที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ในอังกฤษและยุโรปตะวันตกอื่นๆ ก็คล้ายกัน แม้บางประเทศจะมีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีพอสมควร เช่น เยอรมัน เบลเยี่ยม ก็ยังมีคนติดเชื้อมากอยู่ (แต่เยอรมันการสาธารณสุขดี มีการตรวจหาเชื้อคนจำนวนมาก และคนเสียชีวิตต่ำกว่าประเทศยุโรปอื่นๆ) สภาพที่แตกต่างกันทางวัฒนธรรมที่น่าจะมีส่วนจริงคือคนสูงอายุของฝรั่งมักอยู่ตามลำพังหรือบ้านพักคนชรา ขณะที่คนสูงอายุเอเชียมักอยู่กับครอบครัวหรือมีลูกหลานคอยดูแลซื้อเสบียงอาหารให้ คนสูงอายุเอเชีย จึงไม่ต้องออกมาติดต่อกับคนอื่น เลยเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่าคนสูงอายุในสหรัฐและยุโรป
ประเทศสังคมนิยมและอดีตสังคมนิยม เช่น จีน เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือประเทศส่วนใหญ่ยุโรปตะวันออก โดยเปรียบเทียบแล้วยังมีสถานการณ์ดีกว่าประเทศที่พัฒนาทุนนิยมมาก ยกเว้นรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม และเปิดการค้าการลงทุนกับต่างชาติมาก
วัฒนธรรมของพลเมืองที่มีความรู้ จิตสำนึกเพื่อส่วนรวม มีวินัยที่จะทำสิ่งที่ดีที่มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ของตัวเองและส่วนรวมก็สำคัญ เช่นเดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ทั้งรัฐบาลเด็ดขาดและประชาชนร่วมมือกันดีสามารถจัดการปัญหาได้ดีกว่าสวีเดนและประเทศตะวันตกอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ประชาชนจีนและเอเชียหลายประเทศก็ให้ความเชื่อถือและร่วมมือกับรัฐบาลค่อนข้างดีกว่าในสหรัฐและยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่ ซึ่งนอกจากไม่เชื่อถือนักการเมือง/รัฐบาลแล้ว ยังมีความคิดเสรีนิยม-ปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่งด้วย
ประเทศที่พัฒนาอุตสาหกรรมทุนนิยมมาก ยังมีปัญหาเรื่องปิดเมือง ปิดสถานบริการไม่ได้นาน เพราะคนในเมืองที่พึ่งงานบางประเภท เช่น การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ห้างสรรพสินค้า ฯลน ต่างออกมาประท้วงให้รีบเปิด รัฐบาลบางแห่งเช่นสหรัฐ อังกฤษ บราซิลก็ห่วงแต่เรื่องธุรกิจ ห่วงคะแนนเสียง ทำให้ควบคุมโรคระบาดได้ยาก ประเทศที่มีการเกษตร มีอาหารการกินพอเพียงเช่นไทย มีศักยภาพที่อาจจะรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ดีกว่า ถ้ารัฐบาลรู้จักคิดเชิงฟื้นฟูปฏิรูปภาคเกษตร เช่น ปฏิรูปที่ดินจัดสรรให้คนทำการเกษตรผสมผสานรายละ 1 ไร่ สัก 10 ล้านครอบครัว ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจ ทำระบบน้ำขนาดเล็กที่เหมาะสม ฯลฯ จะทำให้ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง มากกว่าที่จะไปทำโครงการสร้างถนน อุดหนุนการท่องเที่ยว อุดหนุนธุรกิจต่างๆ แบบคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเก่าให้ฟื้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะไม่ฟื้นกลับมาที่เดิมได้อีก อย่างน้อย 2 - 3 ปีข้างหน้า และจะเป็นการลงทุนใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่หนักไปทางการบริโภค ที่จะใช้หมดไปใน 3 - 6 เดือน ไม่ได้สร้างงานใหม่ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง