เวลาและโอกาส

เวลาและโอกาส

คนรุ่นใหม่จึงมีโอกาสมากกว่าคนรุ่นเก่า 5-10 เท่าเพราะโลกหมุนเร็วขึ้น

ความเหลื่อมล้ำด้านเวลาของคนยุคอดีตกับยุคปัจจุบันสะท้อนให้เราเห็นได้ชัดเจนในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร ที่เราเห็นความเป็นไปของโลกได้ง่ายๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ขณะที่คนในอดีตเพียงแค่รับรู้ข้อมูลจากสิ่งที่อยู่รอบตัว หรือรอบหมู่บ้านก็เพียงพอกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เวลาของคนยุคโบราณ จึงผ่านไปอย่างเชื่องช้าในขณะที่คนยุคปัจจุบันจะรู้สึกว่าแต่ละนาทีผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ความขัดแย้งในยุคโบราณ จึงมักเป็นเรื่องของความเป็นอยู่เช่นแย่งชิงทรัพยากร แรงงาน ผลผลิตทางการเกษตร ก่อนเปลี่ยนเป็นความขัดแย้งทางศาสนาและความเชื่อ ซึ่งก่อให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ แต่พัฒนาการของสังคมมนุษย์ยังค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งถึงยุคสงครามโลกที่เราเริ่มรู้จักใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น พลังงานอะตอม และคอมพิวเตอร์โลก จึงเริ่มพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ภาวะสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในอดีตแม้เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์โลกต้องหวาดกลัวมหันตภัยนิวเคลียร์ แต่วิทยาการของโลกกลับก้าวหน้าอย่างมหาศาล เพราะความกลัวทำให้มนุษย์เร่งพัฒนาความรู้ระดับสูงกันเต็มพิกัด การแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

หลังสงครามเย็นยุติลงการพัฒนาเทคโนโลยีก็เบนเข็มจากด้านกลาโหมมาสู่ธุรกิจ และอุตสาหกรรมในยุคนั้นเราจะเห็นการถือกำเนิดขึ้นของธุรกิจไฮเทคใหม่ๆ และดับลงไปในเวลาอันรวดเร็ว เช่น โนเกีย แบล็คเบอรี่ ฯลฯ

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เราก็ยิ่งรู้สึกว่า เวลาหมุนเร็วมากขึ้น จากเหตุการณ์ในชั่วชีวิตของคนรุ่นปู่ที่กว่าธุรกิจจะก่อตั้งขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จได้ ต้องกินเวลานับเป็นชั่วอายุคน แต่มาถึงวันนี้เราจะเห็นธุรกิจก่อตั้งขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จระดับโลกได้เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปี ก่อนจะล้มหายตายจากไป เปิดทางให้บริษัทใหม่ๆ ก้าวขึ้นมาแทนที่ ซึ่งตัวเองก็อาจจะฟื้นกลับขึ้นมาได้เช่นกัน

คนรุ่นใหม่จึงมีโอกาสมากกว่าคนรุ่นเก่า 5-10 เท่าเพราะโลกหมุนเร็วขึ้น แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ผลสะท้อนกลับที่ได้รับมาก็รุนแรงกว่าเดิม 5-10 เท่าเช่นกัน นั่นคือผลจากปัจจัยภายนอกที่เราคุมไม่ได้จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และลุกลามสร้างปัญหาให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกได้ง่ายกว่าในอดีต เช่น ภัยจากภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้ทุกประเทศต้องประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนก่อให้เกิดน้ำท่วมรุนแรง ทำบ้านเราต้องพบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว รวมถึงโรคระบาดที่แพร่กระจายทั่วโลกได้ง่ายดาย เช่น โควิด-19

ผลกระทบเหล่านี้ ล้วนทวีให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น เพราะมันขยายผลให้ลุกลามไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย กระทั่งวิกฤติเดิมๆ ที่เราเคยเจอไม่อาจเทียบได้กับวิกฤติการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ รวมถึงวิกฤติการณ์ครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ในทุกวันนี้จึงเทียบไม่ได้กับวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 1997 เพราะสภาพความเปลี่ยนแปลงในสังคมไม่เหมือนเดิม ทำให้ผลกระทบที่เราได้รับทวีความรุนแรงมากขึ้น

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของไทยในปีนี้จึงติดลบเป็นประวัติการณ์ถึง 12.2% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง แน่นอนว่าดัชนีทางเศรษฐกิจที่ติดลบเช่นนี้ ย่อมสร้างภาวะบีบคั้นและก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจตามมา

แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงก็คือ “โอกาส” ที่อาจมีบางคนไขว่คว้าได้ทัน ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ก่อให้เกิดนักธุรกิจรุ่นใหม่ บริษัทใหม่ ๆ รวมไปถึงประเทศใหม่ ๆ ที่ไม่ได้หมายความว่าเพิ่งก่อตั้ง แต่หมายถึงประเทศที่ทวีบทบาทขึ้นมาบนเวทีโลกได้สำเร็จ