Digital Lending: สินเชื่อดิจิทัลและข้อมูลทางเลือก

Digital Lending: สินเชื่อดิจิทัลและข้อมูลทางเลือก

ในโลกที่เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน และข้อมูลแบบ Big data มีส่วนช่วยให้ธุรกิจสามารถวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การให้สินเชื่อก็เช่นกัน โจทย์สำคัญของธุรกิจก่อนการตัดสินใจให้เงินกู้ คือ การรู้จักผู้กู้ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การปรับใช้ “เทคโนโลยี” และ “ข้อมูลทางเลือก” (Alternative data) จึงสะท้อนอยู่ในหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (เกณฑ์ Digital lending) ที่พึ่งประกาศโดย ธปท. เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา 

“สินเชื่อ” และ “เทคโนโลยี”

สินเชื่อดิจิทัล หรือ Digital Lending หมายถึง กระบวนการให้กู้ยืมเงิน (รับสมัคร/ปล่อยสินเชื่อ) ที่มีการบริหารจัดการหรือดำเนินงานผ่านช่องทางดิจิทัล ในทางปฏิบัติ ผู้ให้กู้จะนำเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้ในกระบวนการให้บริการสินเชื่อ

ดังนั้น ภายใต้เกณฑ์ Digital Lending ของธปท. จึงยอมรับหลักการการปรับใช้เทคโนโลยี ในการให้บริการสินเชื่อ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ดังนี้

1) ต้องจัดทำและใช้ช่องทางการเบิกจ่าย/รับชำระคืนสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก อาทิ การตัดบัญชีอัตโนมัติ การโอนเงินโดยใช้ e-Money ทั้งนี้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการเก็บข้อมูลบนโลกดิจิทัลของผู้ใช้บริการทางการเงิน อันจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการให้บริการอื่น ๆ ในอนาคต

2) ต้องจัดทำและเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้สะดวกรวดเร็ว เช่น ข้อมูลอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องจัดให้มีตารางแสดงภาระหนี้ด้วย

3) ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีในขั้นตอนการสมัครใช้บริการสินเชื่อ (ช่องทางออนไลน์/mobile application) และกระบวนการตรวจสอบตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)

4) ส่งเสริมให้มีการเตรียมการสำหรับการโอนข้อมูลผู้บริโภค เนื่องจากเป็น “สิทธิในการโอนย้ายข้อมูล” (Right to data portability) ภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำหนดให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิในการได้รับข้อมูลของตนที่เคยให้แก่ผู้ควบคุมข้อมูล (ผู้ประกอบธุรกิจอีกราย) ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมีสิทธิ์ในการร้องข้อให้โอนข้อมูลของตนไปยังผู้ประกอบการอีกรายได้ตามกฎหมาย

 

“สินเชื่อ” และ “ข้อมูลทางเลือก”

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจภายใต้เกณฑ์ Digital lending คือ การอนุญาตให้ใช้ข้อมูลทางเลือก หรือ Alternative data ในการประกอบธุรกิจ

เดิมที ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ มักเป็นข้อมูลในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับฐานะทางการเงิน ข้อมูลที่บ่งชี้ด้านรายได้ หรือข้อมูลที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารจัดการสินเชื่อของผู้รับบริการ เช่น รายการเดินบัญชี สถานะทางบัญชี สลิปเงินเดือน ยอดขาย/คำสั่งซื้อ ประวัติการชำราคาสินค้า/บริการผ่านบัตรเครดิต ซึ่งข้อด้อยของการเก็บข้อมูลเครดิตที่จำกัด คือ ผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณาให้สินเชื่อเพียงเพราะทราบข้อมูลในด้านรายได้และประวัติการชำระหนี้เพียงด้านเดียว โดยไม่ทราบถึงข้อมูลในเชิงพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การวิเคราะห์และเชื่อมโยงไปถึง “ความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้” ได้

ดังนั้น เพื่อปิดข้อด้อยดังกล่าว หลักการในเรื่อง “Alternative data” จึงเสนอให้ใช้ข้อมูลอื่นที่หลากหลายในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประวัติการให้สินเชื่อและการพิสูจน์รายได้ เช่น ข้อมูลที่เก็บจากกิจกรรมออนไลน์ เก็บจากการใช้ Social media และ เก็บจากแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าภาษีอากร และค่าบริการต่าง ๆ ว่าถูกต้องตรงตามกำหนดเวลาหรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่กล่าวมานี้ แตกต่างจากข้อมูลเครดิตในแบบเดิม โดยมีข้อดีตรงที่จะช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ขอสินเชื่อเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล หรืออาจกล่าวได้ว่า Alternative data คือ เครื่องมือในการช่วยตัดสินใจให้กับผู้ให้สินเชื่อนั้นเอง

ตัวอย่างการใช้ Alternative data ในจีน

ธนาคาร Webank ในจีน เป็นบริษัทในเครือ Tencent และได้รับการสนับสนุนข้อมูลจาก WeChat และ QQ ซึ่งเป็น application ที่มีข้อมูลผู้บริโภคอยู่จำนวนมาก ดังนั้น เมื่อ WeBank ได้เปิดธุรกิจให้บริการสินเชื่อออนไลน์ จึงสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวด้วยการพัฒนาระบบ AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อได้ในเวลาอันรวดเร็วและแม่นยำ เนื่องจาก WeChat/QQ ได้เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคไว้จำนวนมาก เช่น ข้อมูลการชำระค่าบริการ ข้อมูลการซื้อตั๋วเดินทาง และข้อมูลการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หลากหลายจากกิจกรรมของผู้บริโภคบน platform ต่าง ๆ ในเครือ Tencent ส่งผลให้ในเวลาต่อมา Tencent สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจการให้บริการจัดอันดับข้อมูลเครดิตซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลประวัติและพฤติกรรมผู้บริโภคบนช่องทางออนไลน์ (Credit Rating Service) ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี นอกจาก Tencent Alibaba ก็ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Credit Rating Service เช่นกัน โดยประกอบธุรกิจผ่านบริษัท Sesame Credit ที่ทำหน้าที่พิจารณาประวัติเครดิตผู้บริโภค โดยการเฝ้าสังเกตจากพฤติกรรมและกิจกรรมที่ทำบนช่องทางออนไลน์ต่างๆ

อนาคตของ Digital Lending

สำหรับผู้เขียน ข้อดีที่ชัดเจนของ Digital Lending คือ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ให้กับประชาชนบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เนื่องจากมีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตในแบบเดิมที่ยึดติดกับการพิสูจน์รายได้ และยังช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบสำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ไม่ 25% ต่อปี (วงเงิน 20,000 ชำระคืนภายใน 6 เดือน) ซึ่งต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไปที่กำหนดไว้ 28% ต่อปี ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนของผู้กู้ และส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มช่องทางการให้บริการให้กับผู้ประกอบธุรกิจได้

อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุด สิ่งที่ต้องคิดต่อไป คือ เมื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินกู้แบบดิจิทัล ก็เป็นไปได้ว่าจะมีประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ หรืออาจมีข้อจำกัดในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการรับบริการ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะเป็นโจทย์หลักของภาครัฐในการจัดทำนโยบายเพื่อบริหารจัดการและลดช่องว่างของการเหลื่อมล้ำในยุค Internet-based economy ต่อไป

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]