คนละครึ่ง และ ช้อปดีมีคืน ช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่?

คนละครึ่ง และ ช้อปดีมีคืน ช่วยเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่?

และแล้วก็ออกมาตามคาด สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

ออกมาในช่วงเวลาไตรมาส 4 ของทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งนี้ ก็ออกมา 2 มาตราการหลักๆด้วยกัน ก็คือ

มาตรการ “คนละครึ่ง” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และลดค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอย และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย โดยรัฐบาลจะแจกเงินให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์จำนวน 10 ล้านคน คนละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง (50%)

และอีกมาตรการ คือ “ช้อปดีมีคืน” มีเป้าหมายช่วยผู้ประกอบการในระบบภาษี โดยให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการแล้วสามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 (ยื่นภาษีปี 2564) ได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท ยกเว้น เครื่องมือแอลกอฮอล์, บุหรี่ , สลากกินแบ่งฯ , น้ำมัน , ค่าที่พัก และ ตั๋วเครื่องบิน

ซึ่งทั้งสองมาตรการ ประชาชน 1 คน ต้องเลือกใช้มาตรการได้เพียง 1 อย่างเท่านั้น เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการไม่ได้

ใครได้ประโยชน์จากทั้ง 2 มาตรการ

สำหรับ “คนละครึ่ง” สิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ รัฐฯจะช่วยจ่ายค่าสินค้า อาหาร และเครื่องดื่มให้ 50% โดยจำกัดสิทธิไม่เกินวันละ 150 บาท และรวมทั้งโครงการไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งประชาชนจะต้องใช้จ่ายผ่านแอฟ “เป๋าตัง” ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2563

ด้วยความที่รัฐฯออกให้ 50% ก็จริง แต่ก็ไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดทั้งอายุโครงการ ดังนั้น ผู้ที่มีรายได้ต่ำ หรือ ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี จึงเหมาะกับโครงการ “คนละครึ่ง” นี้มากกว่า

แต่ในส่วนของ “ช้อปดีมีคืน” ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำค่าใช้จ่ายได้ลดหน่อยภาษีได้สูงสุดถึง 30,000 บาทต่อราย โดยร้านค้านั้นๆจะต้องมีใบกำกับภาษีเป้นหลักฐานเพื่อนำมาลดหย่อน

จะพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง หรือ รายได้สูง ที่เสียภาษีฐานภาษีมากกว่า 20% ขึ้นได้ น่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการ “ช้อปดีมีคืน” มากกว่า

ฝั่งของผู้ขายสินค้า “คนละครึ่ง” ให้ประโยชน์กับร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT ก็แสดงว่า มีโอกาสกระตุ้นให้เกิดการหมุนของเงินในระดับครัวเรือนมากขึ้น ขณะที่ “ช้อปดีมีคืน” ให้ประโยชน์กับร้านค้าที่จดทะเบียน VAT มากกว่า

แล้วจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจริงหรือไม่?

ต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยก่อนวิกฤตโควิด-19 เป็นระบบเศรษบกิจแบบเปิดที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนค่อนข่างมาก ทั้งนี้ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนสูงมากกว่า 10% ของ GDP ไทยเลยทีเดียว ดังนั้น เราต้องเผื่อใจไว้ว่า โครงการทั้งสองโครงการที่รัฐฯประกาศออกมา คงไม่น่าจะช่วยให้ GDP กลับมาเป็นบวกชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวได้ (แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย)

อีกมุมหนึ่งที่ประสิทธิภาพของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ อาจจะไม่ส่งผลบวกเหมือนมาตรการในปีก่อนๆก็คือ เราอยู่ในวิกฤตที่ซ้อนด้วยวิกฤตอีกที เพราะทั่วโลกยังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง รวมถึง การเปลี่ยนถ่ายโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้าสู่ Digital Economy ที่ดูเหมือนว่า Online Platform ที่มีผู้ใช้งานเติบโตได้ดี จะไม่ใช่ผู้เล่นที่เกิดคนไทยด้วยกัน รวมถึง อุณหภูมิการเมืองในประเทศที่ร้อนแรง และเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการที่ต้องประเมินสถานการณ์กันแทบจะรายวันว่าควรรับมืออย่างไร

ดังนั้น จำนวนผู้ที่จับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการ “ช้อปดีมีคืน” อาจจะมีจำนวนน้อยกว่ามาตรการช้อปช่วยชาติในอดีต ถึงแม้จะให้สิทธิในด้านระยะเวลาที่ยาวนานกว่า เพราะ ประชาชนหน่วงการตัดสินใจบริโภคจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยตัวเลขผู้ว่างงานที่ประกาศล่าสุดในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา ก็พบว่า ตัวเลขขยับสูงขึ้นมาถึง 700,000 คนทีเดียว และถึงใช้จ่ายกันจริง ประโยชน์ที่ตกกับเศรษฐกิจไทยจริงๆ ก็อาจจะต้องหารออกไปอีกจำนวนหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น เราจะเข้าโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ด้วยการซื้อโทรศัพท์มือถือ iPhone 12 รุ่นใหม่ หรือ เลือกซื้อเครื่องดูดฝุ่นยี่ห้อ Xaomi ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้ผลิตจากต่างประเทศ ดังนั้น เม็ดเงินเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เราใช้จ่ายจะได้ประโยชน์กับเศรษฐกิจในประเทศ ในขณะที่อีกส่วน ก็เป็นส่วนแบ่งของเหล่าเจ้าของแบรนด์ที่อยู่ต่างประเทศไป

ทั้งนี้ ผมได้ลองรวบความเห็นของนักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์หลายแห่งที่คาดการณ์ปริมาณเม็ดเงินหมุนเวียนจากทั้ง 2 โครงการนี้ พบว่า คาดการณ์ใกล้เคียงกันว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 70,000 – 90,000 ล้านบาท แต่ประเด็นก็คือ ในวงเงินจำนวนนี้ อาจมีเม็ดเงินที่ยังไงก็ต้องจับจ่ายใช้สอยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นหรือไม่ อย่างน้อยๆก็ครึ่งหนึ่ง หรือ 35,000 – 45,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนน้อยมากๆเมื่อเทียบกับส่วนที่เราเสียไปจากภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวครับ

โดยสรุปคือ อย่าคาดหวังว่า มาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักได้ขนาดนั้นครับ ช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเศรษฐกิจไทย ยังไม่ผ่านไป แต่ถึงอย่างไรก็ขอเอาใจช่วยนักลงทุน และคนไทยทุกคนนะครับ

 ชยนนท์ รักกาญจนันท์ Co-Founder FINNOMENA