ส่องภาวะ‘ความยากจน’เมื่อโควิดโจมตีเศรษฐกิจ

ส่องภาวะ‘ความยากจน’เมื่อโควิดโจมตีเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของโควิดในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานอกจากกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง การตกงานที่เพิ่มขึ้นทำให้คนในกลุ่มเปราะบางเสี่ยงเป็นคนยากจนมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาพร้อมกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำถดถอย การปิดตัวของกิจการ การตกงานของแรงงานจำนวนมาก ผลกระทบจากวิกฤตนี้ยังทำให้ “คนจน” โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจที่มีรายได้ต่ำมาก และเข้าไม่ถึงสวัสดิการสังคม คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจะเผชิญกับความยากจนมากยิ่งขึ้นไปอีก 

เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา David Malpass ประธานธนาคารโลก (World Bank)เปิดเผยข้อมูลการศึกษาของธนาคารโลกพบว่าประชากรโลกที่อยู่ในกลุ่มยากจนสุดขีด (extreme poverty) จะเพิ่มขึ้นจาก 88 ล้านคน เป็น 115 ล้านคนภายใน 2020 และในปี 2021 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มเป็น 150 ล้านคน โดยคนกลุ่มนี้ดำรงชีพอยู่ด้วยรายได้ไม่เกิน 1.90 ดอลลาร์ต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 60 บาทต่อคนต่อวันเท่านั้น

...เท่ากับว่าการระบาดของโควิด-19 ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาได้ทำให้ความพยายามลดความยากจนของธนาคารโลกให้ถอยหลังไปหลายปี

สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะมี “คนจน”เพิ่มขึ้นอีกมากเช่นกันแม้เราจะควบคุมโควิด-19 ได้ดีเต่การที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 8 - 10% ก็ทำให้ความมั่งคั่งที่สั่งสมอยู่ในระบบเศรษฐกิจถอยหลังไปหลายปีเช่นกัน

ข้อมูลจากรายงานารวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาโดยเป็นข้อมูลที่ทำการสำรวจสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยระหว่างปี 2561 - 2562 ซึ่งแม้ในปี 2562 สัดส่วนคนจนจะลดลงจาก9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่6.24 % ในปี 2562 หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก6.7 ล้านคนในปี 2561 

แม้คนจนจะลดลงแต่คนในกลุ่ม “เปราะบาง” คือมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเส้นยากความจน (Poverty line) 2,763 บาทต่อคนต่อเดือนไม่มากนัก กลุ่มนี้คือคนกลุ่มเกือบจนที่ในปี 2562 มีอยู่กว่า 5.4 ล้านคน ประชากรในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นคนใต้เส้นความยากจนได้ง่ายๆ หากมี ปัญหามากระทบ เช่น การเจ็บป่วย การว่างงาน อุบัติภัย รวมทั้งโรคระบาดอย่างโควิด - 19 ที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้

...เป็นไปได่ว่าคนกลุ่มนี้ได้ตกไปอยู่ใต้เส้นยากจนเรียบร้อยแล้ว

ในการสัมนาหัวข้อ“วันยุติความยากจนปี 2020: กลุ่มเปราะบางรับมือโควิด -19 อย่างไร (End Poverty Day 2020: How are Vulnerable Groups Coping During Covid-19)” จัดโดย World Bank Thailand ดร.Nadia Belhaj Hassine Belghith นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านความยากจนของธนาคารโลก บอกว่าเมื่อเกิดโควิด-19 รายได้ของกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ภาคเกษตรที่รายได้ไม่มั่นคงอยู่แล้วก็จะสั่นคลอนมากขึ้น และรายได้ลดลงมากขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นทำให้คนจนที่สุด (extream poor) อาจเพิ่มจาก 6% เป็น 9% ของประชากร 

ในภาวะแบบนี้การสร้างงาน สร้างรายได้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และโครงการลักษณะนี้ไม่ได้มีแต่กลไกราชการเท่านั้นองค์กรต่างๆก็สามารถทำได้โดยมีตัวอย่างของความสำเร็จของการสร้างงาน สร้างอาชีพ เช่น“โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ” ของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯกำลังดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อยอดจากโครงการในระยะแรกและจะมีการดำเนินการจ้างงานใน 9 จังหวัดที่มีพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ 9 จังหวัดสามารถจ้างงานได้กว่า 1,000 ตำแหน่งสร้างเงินหมุนเวียนได้กว่า 882 ล้านบาท 

...เป็นอีกตัวอย่างโครงการที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้แก้ปัญหาความยากจน เป็นทางออกและต้นแบบในการสร้างงานในพื้นที่ชนบทของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม