ปัญหา-ศักยภาพ'หนุ่มสาวไทย'ยุคปัจจุบัน
คนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวทางการเมืองไปเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลในช่วงเดือนตุลาคม 2563 อาจเป็นเพียงคนส่วนน้อยของหนุ่มสาวทั้งประเทศ
ขณะที่ประชากรไทยอายุ ๑๕-๒๔ปี มี ๙ ล้านคน หรือ ๑๓% ของประชากรทั้งประเทศในปี๒๕๖๒ หนุ่มสาวส่วนใหญ่คือคนที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน เรียนแค่มัธยมหรือต่ำกว่า ตอนนี้ว่างงาน ทำงานไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ
คนหนุ่มสาวมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน พวกเขาแข็งแรง เติบโต เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้เร็วกว่าคนวัยอื่นๆ แต่สมองของวัยรุ่นด้านการคิดอย่างมีเหตุผลยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีความรู้สึกไว ตัดสินใจด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบชอบเสี่ยง หุนหันพลันแล่นสูง มีโอกาสที่จะติดเหล้า บุหรี่ การพนัน ติดเรื่องเพศ การขับขี่รถด้วยความเร็วสูง และความเสี่ยงอื่นๆ ได้ง่ายกว่าวัยอื่น
การเลี้ยงแบบไทย พ่อแม่มักจะปกป้องหรือปล่อยปละละเลย อย่างไม่ค่อยสม่ำเสมอ ไม่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักช่วยตนเอง เป็นตัวของตัวเอง หนุ่มสาวจำนวนมากจึงยังมีความคิดอารมณ์ความรู้สึกแบบวัยรุ่นที่เอาแต่ใจตัวเอง ขาดวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่แม้จะอายุ 20 ปีกว่าแล้วก็ตาม เศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมบริโภคที่หลงใหลเรื่องการเสพสุขแบบฉาบฉวย มีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวบางคนเชื่อเพื่อน เชื่อรุ่นพี่ในกลุ่มที่มีอิทธิพลมากกว่า ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อ/พฤติกรรมสุดโต่ง รวมทั้งความสุดโต่งทางด้านความคิดและการแสดงออกทางการเมืองของคนหนุ่มสาวบางคนในยุคนี้ด้วย
การแก่งแย่งแข่งขันเพื่อตัวใครตัวมัน ทำให้พ่อแม่สนใจแต่การสอนให้ลูกแข่งขันเพื่อเอาชนะคนอื่น ครูสนใจให้ศิษย์ตัวเองเอาชนะนักเรียนโรงเรียนอื่น ผู้ใหญ่หลงใหลกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเงินและการบริโภค เน้นให้ลูกหลานเรียนเพื่อสอบเอาใบรับรองไปทำงานแข่งขันกันหาเงิน สังคมไทยไม่ได้ถ่ายทอดการเรียนรู้เรื่องความรัก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อคนอื่น จิตสำนึกถึงความเข้าใจต่อความจำเป็นของการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันเท่าที่ควร แม้ในหมู่คนที่ตื่นตัวทางการเมืองก็มีหลายคนที่เน้นตัวตนสูง โจมตีคนอื่นอย่างก้าวร้าว สุดโต่ง
หนุ่มสาวมีปัญหาความเครียด ความแปลกแยก ความวิตกกังวลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่แข่งขันได้เก่ง หรือคนที่แข่งขันสู้เขาไม่ค่อยได้ คนพวกหลังนี่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น พวกเขามักไม่ค่อยมีความภาคภูมิใจในตนเอง ไม่มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ โดยเฉพาะถ้ามาจากครอบครัวที่มีปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง ทะเลาะกัน พ่อแม่ยากจน พ่อแม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงในการเลี้ยงดู ฯลฯ ยิ่งทำให้วัยรุ่นมีปัญหาสุขภาพจิต มีโอกาสถูกชักจูงไปทางเกเรเหลวไหลได้ง่ายขึ้น
แม้แต่วัยรุ่นที่เรียนได้ดี พ่อแม่มีฐานะดี หรือพ่อแม่ไม่ได้มีปัญหาหย่าร้าง หลายคนเป็นคนคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่สนใจ ไม่เข้าใจคนอื่น มีปัญหาความเครียด ความแปลกแยก หลายคนเป็นคนเหยาะแหยะ ทำอะไรไม่เป็น ไม่เข้มแข็ง ไม่อดทน หรือไม่ก็เป็นคนไม่กล้า เครียดเพราะเก็บกด นักเรียนนิสิตนักศึกษาสนใจการอ่านหนังสือและการเรียนรู้เรื่องชีวิตและสังคม เรื่องที่มีเนื้อหาสาระน้อยลง การใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นอาจทำให้พวกเขาได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น เร็วขึ้น แต่มักจะฉาบฉวย และเมื่อแยกแยะไม่เป็นก็จะนำไปสู่ความเชื่อ พฤติกรรมทางใดทางหนึ่งแบบตามๆ กัน ตามกระแสนิยม เพื่อสร้างเอกลักษณะของตนเองให้คนรุ่นเดียวกันยอมรับ
วัยรุ่นบางคนอาจพัฒนาทางสติปัญญาได้ดี (อาจเก่งแบบท่องจำ) แต่ถ้าพัฒนาทางอารมณ์ได้ไม่เหมาะสม ก็อาจมีปัญหาด้านบุคลิกนิสัยหรือการตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น สุดโต่งได้เช่นกัน
การที่ บุหรี่ เหล้า ยาเสพติด การพนัน การขับขี่รถเร็ว ฯลฯระบาดมาก เพราะมีคนทำกำไรได้จากธุรกิจเหล่านี้ สังคมยั่วยวนให้คนหนุ่มสาวสนใจเรื่องทางเพศ หลงใหลในเรื่องการบริโภคทำให้คนหนุ่มสาวที่สนใจเรื่องการอ่าน การศึกษา การพัฒนาตนเองมีลดลง (ระบบการศึกษาของไทยแย่มาตั้งแต่ต้น ไม่ฝึกให้เด็กรักการอ่าน การใฝ่รู้ด้วย) วัยรุ่นยุคใหม่ที่พ่อแม่ร่ำรวยกว่ายุคคนรุ่นก่อนได้รับความสะดวกสบายทางวัตถุเพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้ชอบความสะดวกสบาย ขณะที่ความกล้าต่อสู้ ความอดทนเข้มแข็ง ลดลง เมื่อเทียบกับวัยรุ่นยุคก่อนซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนกว่า ต้องต่อสู้กับชีวิตมากกว่า (นักจิตวิทยาเรียกคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ว่าgeneration me คนรุ่นที่เอาแต่ใจตัวเอง)
วัยรุ่น คนหนุ่มสาวที่มีปัญหาส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ได้รับความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงจากครอบครัว และครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษา มากพอ รวมทั้งมีช่องว่างไม่สามารถคุยกับพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ให้เข้าใจหรือเห็นใจ ความคับข้องใจ ปัญหาทางอารมณ์ความรู้สึก ปัญหาอื่นๆ ของพวกเขาได้ พวกเขาจึงเลือกเชื่อเพื่อนหรือผู้ใหญ่บางคนที่ชักนำไปในทางผิด เช่น ติดบุหรี่ เหล้า ยาเสพติด การเที่ยวเตร่ดึกดื่น มั่วสุมทางเพศ การพนัน การเมืองแบบหัวรุนแรงฯลฯ เพราะวัยรุ่น คนหนุ่มสาวต้องการหาพวก หรือเพราะรู้สึกว่าเมื่อได้ทำแบบเพื่อน เป็นส่วนหนึ่งของพวกเพื่อนแล้ว ตนได้รับความพอใจ ความสบายใจเฉพาะหน้า โดยไม่คำนึงถึงผลในระยะยาว
ระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคมแบบทุนนิยมผูกขาดที่เป็นบริวาร ที่สร้างโดยผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัว และไม่ค่อยฉลาด ปกครองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม จารีตนิยม ฯลฯ คือสาเหตุที่ทำให้หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งเกิดปฏิกิริยาตอบโต้ ชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง สุดขั้วไปอีกทางหนึ่ง ผู้ใหญ่ควรจะใช้นโยบายเสรีประชาธิปไตยที่ใจกว้าง ช่วยให้คนหนุ่มสาวได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพของพวกเขาอย่างสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
หนุ่มสาวจะพัฒนาตัวเองได้ดีกว่านี้ ถ้าเขาสนใจการอ่าน คิดวิเคราะห์ หาวิธีการดูแลพัฒนาตัวเองและสังคมในทางสร้างสรรค์ขึ้น ปลีกตัวจากเพื่อนที่เลว และอบายมุขต่างๆ ศึกษาหาความเข้าใจในเรื่องปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต การพัฒนาทางสติปัญญา อารมณ์ การรู้จักวิธีการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ การรู้จักสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง การรู้จักคบเพื่อนหรือผู้ชี้แนะที่ดี การรู้จักการแบ่งเวลาให้ประโยชน์ระหว่างการเรียน การอ่านหนังสือ การทำงาน การออกกำลังกาย กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม การพักผ่อน หาความบันเทิงต่างๆ การรู้จักคบเพื่อนดีๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ความนับถือและเอื้ออาทรต่อเพื่อนต่างเพศ โดยไม่มองเพื่อนต่างเพศเป็นวัตถุทางเพศเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง
ในเรื่องการเมือง/สังคม คนหนุ่มสาวควรหัดคิดเชื่อมโยงปัญหาของตัวเองและเพื่อนๆ ว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับปัญหาระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของประเทศอย่างไร จับกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ และหาประสบการณ์การทำงานรวมกลุ่ม สร้างความสัมพันธ์กับประชาชน อย่างพยายามเข้าใจความจริงในสังคม ติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมือง เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมทางสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ กับกลุ่มกับกลุ่มองค์กรต่างๆ อย่างตามให้ทันสถานการณ์สังคมไทยที่เป็นจริง ไม่แสดงออกอย่างสุดโต่ง ล้ำหน้า หยาบคาย หลงตัวเองและกลุ่มของพวกตนเกินไป จนสร้างความขัดแย้งกับประชาชนคนอื่นๆ แบบเป็นศัตรูมากกว่าที่จะได้แนวร่วมหรือพันธมิตร