ต้องเปลี่ยนวิธีคิด พลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทย
งแต่ภาครัฐเปิดช่องให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการมีมาตรการต่างๆ ที่ใช้กระตุ้นทางเศรษฐกิจ
ซึ่งนับว่าเริ่มส่งสัญญาณที่ดีกับระบบเศรษฐกิจและผู้ประกอบการธุรกิจ จากประสบการณ์ลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ผู้เขียนได้ขับรถยนต์เดินทางท่องเที่ยวทุกสัปดาห์ในแต่ละพื้นที่จะพบว่า หลายแห่งยังคงใช้วิธีการทำธุรกิจท่องเที่ยวแบบเดิมๆ คือ ตักตวง หรือเน้นทำกำไรมากกว่ากระตุ้นให้ธุรกิจการท่องเที่ยวขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ได้ปรับวิธีคิดทางธุรกิจเชิงรุก เคยทำแบบใดก็ยังคงทำแบบนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเกิดความคุ้มค่า คุณค่า และคุณภาพสินค้าบริการกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินไปในแต่ละครั้ง จึงไม่แปลกใจบางแห่งเงียบเหงาหงอยมาก เพราะไม่ประทับใจบอกต่อ หรือไม่อยากกลับมาเที่ยวซ้ำอีก ดังนั้น ต้องเปลี่ยน mind set ทุกห่วงโซ่ของการท่องเที่ยว เพื่อพลิกฟื้นการท่องเที่ยวไทยเชิงรุกอย่างจริงใจและจริงจังทุกระดับ ซึ่งสิ่งที่ควรปรับปรุงของผู้ประกอบการท่องเที่ยว ดังนี้
1.ปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ๆให้เกิดขึ้น โดยนำวัฒนธรรมถิ่นเดิมของตนและบอกถึงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของท้องถิ่น มาสร้างจุดขายมากกว่าเน้นสิ่งปลูกสร้างใหม่ให้เกิดขึ้น อีกทั้งต้องทำให้ครบวงจรพร้อมมัคคุเทศก์น้อย เช่น โปรแกรม 1 วัน สำหรับผู้มีเวลาน้อย โปรแกรม 2-3 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนสถานที่ที่จะต้องเสียค่าเข้าชม เดิม มีการแบ่งราคาชาวต่างชาติกับราคาชาวไทย ควรมีการปรับลดราคาค่าเข้าชม-ค่าเครื่องเล่นต่าง ๆ หรือให้เข้าชมฟรี เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายในบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวจะดีกว่า บางแห่งขยายพื้นที่ออกไปกว้างจนกลายเป็นเหมือนตลาดนัด มากกว่าเกิดการสื่อสารวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของถิ่นเดียว
2.จัดระเบียบวิถีชีวิตใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานใหม่ของโรงแรม “มั่นใจ ปลอดภัย ด้วยมาตรฐานสาธารณสุข” ตั้งแต่การตรวจผู้เข้าพัก สัมภาระทุกชิ้นต้องผ่านการฆ่าเชื้อจนถึงการลดจุดสัมผัสต่าง ๆ ภายในโรงแรมที่พัก มีระบบการทำความสะอาดห้องพักหลังการเช็กเอาต์ทุกครั้ง ห้องน้ำ ห้องออกกำลังกาย ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจอีกครั้ง มีบางแห่งการ์ดเริ่มตกแล้ว ซึ่งเกิดจากความเคยชินในการทำงานแบบเดิม จึงขาดความระมัดระวัง ดังนั้น การเข้มงวดกวดขันไม่ละเลยมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง
3.การจัดระบบการจราจรและภูมิทัศน์ บางแห่งมีการจัดระบบจราจรที่ดีมาก โดยมีเครื่องสื่อสารนำมาใช้ในการอำนวยความสะดวกสถานที่จอดรถแก่นักท่องเที่ยว บางแห่งมีสถานที่จอดรถให้แต่ไม่มีระบบ บางแห่งมีผู้ประกอบการเอกชนดำเนินการแต่การเก็บอัตราค่าจอดรถไม่เท่ากัน บางแห่งเป็นตลาดน้ำ นั่งเรือแล่นล่องแม่น้ำ เก็บอัตราค่าบริการในแต่ละจุดราคาถูกแพงไม่เท่ากัน ควรมีการกำหนดราคามาตรฐานและมีกรรมการคอยตรวจสอบตลอดเวลา รวมถึงการปรับภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยวเกิดความร่มรื่นน่าอยู่พักผ่อน อีกทั้งระบบการกำจัดขยะมูลฝอย ผักตบชวา ป้ายบอกทาง เป็นต้น
4.ของฝากของที่ระลึก โดยเฉพาะขนม อาหารแห้ง ของสด เดิม ไม่มีสติกเกอร์ระบุวันหมดอายุ สินค้าบางชนิดมีราขึ้น มีกลิ่นเหม็นหืน ผลไม้ไม่สด/ดิบ ข้อเสนอแนะผู้ประกอบการ/พ่อค้าแม่ค้า ควรมีการตรวจสอบสินค้าก่อนออกวางจำหน่าย รวมถึงการทำสติกเกอร์ระบุวันหมดอายุ หรือระบุควรบริโภคภายในวันที่เท่าไร หากไม่มีเงินทุนจะทำสติกเกอร์ การใช้ปากกาเมจิกแบบลบไม่ได้มาเขียนข้างซองก็ได้
5.ร้านอาหาร เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงจะต้องเข้าไปรับประทานตามร้านอาหาร ซึ่งปัจจัยพื้นฐานของอาหารรสชาติจะต้องอร่อย ส่วนใหญ่ที่พบสักแต่ว่าทำให้เสร็จเป็นจาน ๆ ไป ไม่ได้สนใจรสชาติให้มีความอร่อยจากฝีมือแต่เป็นการใช้ผงชูรสมากกว่า ความสะอาดสุขอนามัยภายในร้านก็น้อย และไม่มีการวางระบบจัดการภายในร้านและการบริการที่ดี ควรมีการปรับปรุงระบบสุขอนามัยภายในร้าน ปรับปรุงรสชาติให้มีความอร่อยจากฝีมือตามสูตรดั้งเดิมมากกว่าเน้นการใช้ผงชูรส รวมถึงการวางระบบร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นการจัดคิว การเสิร์ฟอาหาร การทำความสะอาดโต๊ะภายหลังลูกค้าทานเสร็จ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมทั้งอาหารริมทาง จะพบว่า คุณภาพของอาหารไม่สมกับราคา หรือไม่เคยปรับปรุงรสชาติอาหารเลยตั้งเริ่มขายมาจนถึงปัจจุบัน เช่น อาหารยอดนิยม ไก่ย่าง แค่ทาขมิ้นให้เหลืองไม่ผ่านการหมัก เนื้อสัมผัสก็แข็งกระด้าง กุ้งชุปแป้งทอด กุ้งตัวนิดเดียว แต่แป้งหนามาก ส้มตำสักแต่ว่าตำหรือคลุกเคล้าในครกที่ไม่เคยล้างเลย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นี่คือภาพสะท้อนที่ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันปรับวิธีคิดเชิงรุก อย่าดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ เพื่อหวังว่าจะได้รับผลลัพธ์ที่ใหม่หรือได้ผลลัพธ์เช่นเดิมแบบในอดีต อย่าเพียงแค่หวังผลระยะสั้น แต่ควรหวังผลระยะยาวเมื่อกลับสู่สถานการณ์ปกติ กลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศจะยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งหากผู้บริโภคเกิดความภักดีและทัศนคติที่ดีต่อการท่องเที่ยวในประเทศมากกว่าการเดินทางไปต่างประเทศแล้ว จุดขายเหล่านี้จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดทำให้ผู้ประกอบการ ชุมชน ท้องถิ่น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความอย่างยั่งยืน.
*บทความโดย ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี