โรงสีข้าว ชาวนา ธนาคาร กับวิกฤติที่จะมาถึง(ต่อ)
ปีการผลิต 2563/2564 ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2563 ราคาข้าวเปลือกชนิดต่าง ๆ ณ ความชื้นไม่เกิน 15%
ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,003.03 บาท ได้รับชดเชยตันละ 2,996.97 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 11,727.04 บาทได้รับชดเชยตันละ 2,272.96 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 8,880.82 บาท ได้รับชดเชยตันละ 1,119.00 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 9,939.84 บาท ได้รับการชดเชยตันละ 1,060.00 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,688.99 บาท ได้รับการชดเชยตันละ 1,311.01 บาท
รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณไว้ไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ในการจ่ายเงินชดเชย ปีนี้รัฐบาลกำหนดค่าใช้จ่ายค่าปัจจัยการผลิตและค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท น้อยกว่าปีที่แล้ว 500 บาท พื้นที่เพาะปลูกข้าวประเทศไทย 60 ล้านไร่ จะต้องจ่ายสูงถึง 60,000 ล้านบาท เงินที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในการประกันราคา ค่าปัจจัยการผลิต และค่าเก็บเกี่ยวจะสูงถึง 100,000 ล้านบาท จึงจะบรรเทาปัญหาให้ชาวนาได้
ส่วนภาระหนี้สินครัวเรือนของชาวนา 4.5 ล้านครอบครัว เกษตรกรมีหนี้สินโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 450,000 บาท รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาทปัญหาของชาวนาจึงเป็นภาระที่หนักอึ้งของรัฐบาลทุกยุค น่าเป็นห่วงที่ปีนี้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยลงมาก รัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน รัฐบาลจะต้องระดมสมองจากผู้เกี่ยวข้องทั้งชาวนา โรงสี นักวิชาการและภาครัฐ โดยนำปัญหาที่แท้จริงมาวิเคราะห์ โดยปราศจากอคติ ทั้งเรื่องนโยบายการประกันราคา นโยบายการจำนำข้าว การปรับปรุงการผลิต การลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันในเรื่องราคากับคู่แข่งได้
ในระบบการค้าข้าวโรงสีข้าว เป็นธุรกิจกลางน้ำที่รองรับข้าวสดจากชาวนา ปรับปรุงคุณภาพข้าว ลดความชื้น สีแปรสภาพข้าวเป็นข้าวสารขายให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนขายให้แก่ผู้ส่งออกบางรายก็เป็นผู้ส่งออกเอง บทบาทสำคัญคือเป็นการเป็นโกดังเก็บรักษาข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาให้เหมาะสม แต่เรื่องเศร้าคือ 6 ปีที่ผ่านมา โรงสีข้าวล้มหายไปจากระบบข้าวเมืองไทยเกือบครึ่งแล้ว กว่า 30% ไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีก 20% พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด ปัจจุบันนี้ราคาข้าวลดลง ทำให้มูลค่าสต๊อกข้าวเปลือกข้าวสารของโรงสีลดลงเช่นกัน สถาบันการเงินมีนโยบายการชลอสินเชื่อให้โรงสีข้าว เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เพราะโรงสีข้าวมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในการซื้อข้าวจากชาวนา ทำให้โรงสีข้าวขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนอาจกลายเป็นหนี้ที่มีปัญหาต้องเลิกกิจการอีกหลายราย
ผมมีโอกาสได้พบกับผู้ประกอบการโรงสีข้าวหลายราย ได้แนะนำให้ไปติดต่อกับธนาคารเพื่้อหาทางออกร่วมกัน ธุรกิจโรงสีข้าวเป็นวัฎจักรมีขึ้นมีลง ขอให้ต่อสู้รักษาธุรกิจไว้ให้ได้ อาจมีโรงสีข้าวบางรายมีเจตนาไม่ชำระหนี้ แต่ผมมีความเชื่อว่าโรงสีข้าวส่วนใหญ่เป็นคนดี และเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีชาวนาในประเทศนี้เกือบ 20 ล้านคน ถ้าไม่รีบหาทางออกวิกฤติเกิดแน่นอน ติดตามตอนต่อไปครับ...