กินอยู่อย่างไทย เส้นทางเดินไม่มีที่สิ้นสุด
โควิด-19 เป็นช่วงเวลาที่แต่ละคนคงได้ฉุกคิดถึงความไม่แน่นอน ธุรกิจต้องหันมาทบทวนโมเดลธุรกิจ ประเทศเองก็ต้องมองทิศทางอนาคตและโมเดลการพัฒนาใหม่
การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลเป็นเป้าหมายที่สำคัญ การสร้างความเข้มแข็งและเติบโตของชุมชนด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) เป็นแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันเลย เพราะเมืองไทยมีของดีอยู่มาก
ของดีที่ว่า หนึ่งในนั้นก็คือ เมืองไทยมีความรุ่มรวยด้านอาหาร ศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก หากผู้ประกอบการ ชุมชน เมืองต่างๆของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองรองที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีเสน่ห์สามารถชูจุดเด่น เพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ หลายเมืองก็นับว่ามีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาเป็นเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) หรือเมืองแห่งความสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy) ได้ไม่ยาก
ยิ่งถ้าเราพูดเรื่องอาหารแล้ว เมืองไทยเรามีชื่อเสียงเรื่องข้าวปลาอาหารมาแต่ไหนแต่ไร ช่วงหลังมานี้เราได้มีโอกาสเห็นเชฟเก่งๆ หลายคนที่รังสรรค์เมนูอาหารโดยอาศัยวัตถุดิบจากพื้นถิ่นทั่วประเทศไทยมาผสมผสานกันทั้งพืชผักผลไม้ออร์แกนิคคุณภาพ สมุนไพร เนื้อสัตว์ที่หลากหลาย ของดีเครื่องปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นทั้งหลาย ดีไซน์อาหารเมนูจานใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็น วิธีการทำอาหารแบบไทยดั้งเดิม หรือการทำอาหารไทยผสมผสานกับเทคนิคการทำอาหารชาติต่างๆ เช่น ใช้เทคนิคการทำอาหารนานานชาติ กับวัตถุดิบพื้นบ้าน อาทิ การจัดจานอาหารแบบญี่ปุ่น การทำซอสแบบฝรั่งเศส จนกระทั่งออกมาเป็นอาหารรสเลิศ แถมไปด้วยการตกแต่งจานอาหารด้วยศิลปะ บ้างก็เติมแต่งงานคราฟท์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการซึ่งไร้ขีดจำกัด พร้อมกับเรื่องราวการนำเสนอให้กับวัตถุดิบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ สไตล์และแนวคิดที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ทำให้ตลาดอาหารแบบนี้กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามมอง
การเริ่มต้นจาก “ครัวไทย” เชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าที่อาหาร ด้วยวิธีการทำอาหารแบบยั่งยืน นอกจากจะช่วยยกระดับวงการอาหาร เพิ่มมูลค่าให้กับอาหารแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรอีกด้วย ผู้ผลิตหรือเกษตรกรก็ต้องหันมาใส่ใจขั้นตอนการผลิต สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากฟาร์มให้กลายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ
อาหารการกินเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนทั่วโลก การกินอาหารที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต การทำอาหารกินกันภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน อาหารการกินตามท้องถนนหรือ Street Food ก็มีเสน่ห์น่าสนใจ อาหารในวิถีใหม่ๆมีให้คนเลือกลิ้มลองรสชาติมากมาย
การลงมือทำอาหารที่ดี การมอบอาหารดีๆให้ใครสักคนหนึ่งเป็นการส่งมอบความรักให้คนที่ได้กินอย่างหนึ่ง เพราะอาหารที่ดีนั้นเกิดจากการใส่ใจในรายละเอียด ความพิถีพิถัน การคัดสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุด รวมไปถึงการออกแบบประสบการณ์การกินให้ผู้ที่ได้ลิ้มรส การพัฒนาต่อยอดจากอาหารจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่มีเส้นทางอีกยาวไกลไม่มีที่สิ้นสุด
ที่สำคัญเป็นการสร้างอุปสงค์ (Demand) ความต้องการอาหารคุณภาพดี อาหารปลอดภัย พร้อมๆ ไปกับการยกระดับอุปทาน (Supply) ภาคการผลิตไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ เราคงเคยได้ยินกันว่า วัตถุดิบดีทำอาหารอย่างไรก็อร่อย นั่นหมายความว่า การสร้างสรรค์อาหารจากวัตถุดิบพื้นถิ่นของไทยที่ดีๆ ยังช่วยแนะนำวัตถุดิบท้องถิ่นที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้จักได้อีกด้วย สร้างเรื่องราว หรือ Story ให้กับวัตถุดิบ เป็นการปูทางให้กับวัตถุดิบอีกมากมายที่ประเทศไทยมีได้เติบโต
อาหารสะท้อนวัฒนธรรมของคนในชาติ การต่อยอด สร้างสรรค์นวัตกรรมทางวัฒนธรรม การสร้างเศรษฐกิจบนความสร้างสรรค์จะสามารถนำไปสู่การสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเงินยกระดับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์รวมถึงสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ ยิ่งไปกว่านั้นการทำงานเชิงสร้างสรรค์ การทำงานและการทำเงินบนคุณค่าที่แท้จริงยังนับเป็นสุนทรียศาสตร์ และเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจ สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดอนาคตที่ดีร่วมกันอีกด้วย
เมื่อคิดถึงคำว่า กินดีอยู่ดี อยากให้คนทั้งโลก คิดถึง กินอยู่อย่างไทย
*บทความโดย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์, ประกาย ธีระวัฒนากุล สถาบันอนาคตไทยศึกษา Facebook.com/thailandfuturefoundation