การระบาดของ COVID-19 รอบสอง ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับวัคซีน (2)
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงการที่เศรษฐกิจจริง กำลังได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงของ COVID-19 แต่ตลาดทุนกลับไม่แสดงอาการสะทกสะท้าน
ส่วนหนึ่งเพราะความหวังในเรื่องของวัคซีนและอีกส่วนหนึ่งเพราะคาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการด้านการคลังและการเงินมาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเพียงพอและทันท่วงที
มาถึงวันนี้เมื่อมีข่าวว่ามีผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ต้องเสียชีวิตลงไปแล้วหลายสิบคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ 29 คนที่ประเทศนอร์เวย์ ก็ทำให้อาจมีการตั้งคำถามว่าปัจจัยดังกล่าวจะกระทบกับความเชื่อมั่นของตลาดทุนหรือไม่ เพราะหากประชาชนเริ่มมีข้อกังวลกับความปลอดภัยของวัคซีนและไม่ยอมรับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ก็อาจทำให้การแพร่เชื้อยืดเยื้อต่อไปได้อีกหลายเดือน
ตรงนี้ผมได้รวบรวมตัวเลขล่าสุดพบว่าน่าจะได้มีการฉีดวัคซีนประเภทต่างๆ (ที่ปัจจุบันมีใช้อยู่ประมาณ 5 ตำหรับ) เกือบ 50 ล้านเข็มไปแล้ว ซึ่งได้พบว่าบางคนมีผลกระทบข้างเคียงและในกรณีของรัฐบาลนอร์เวย์ก็ได้ปรับเปลี่ยนท่าทีโดยกล่าวว่าการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ (มากกว่า 80 ปี) หรือผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแออยู่ก่อนหน้านั้นอาจไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง ดังนั้นจึงอาจยกเว้นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและผุ้ที่มีสุขภาพเปราะบางดังกล่าว
แต่ในภาพรวมนั้นผมก็ยังเชื่อว่าจะมีการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น การเร่งรัดให้ฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็มหรือมากกว่านั้นต่อวันจะทำให้ประชาชนสหรัฐมีภูมิคุ้มกัน COVID-19 อย่างทั่วถึง (herd immunity) ได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า แปลว่าเรื่องของ COVID-19 นั้นจะไม่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงในเชิงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งหลังของปีนี้
สำหรับประเทศไทยนั้นน่าจะไม่ได้มีภาพที่สดใสเหมือนกับสหรัฐ แม้ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่มาก กล่าวคือวันละ 300-400 คน เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐที่ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 230,000 คน เพราะผมสงสัยว่าการระบาดรอบนี้ของไทยจะยืดเยื้อไปอีก 3-5 เดือนเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีการระบาดของ COVID-19 ในระดับที่สูงกว่าไทย กล่าวคือเมียนมายังมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 500 คน (แต่เป็นจำนวนที่ค่อยๆ ลดลง) ในขณะที่ประเทศมาเลเซียนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 3,200 คนและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปัจจัยเสริมคือการที่ระเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมาประมาณ 2,400 กิโลเมตรและมีชายแดนติดกับมาเลเซีย 600 กิโลเมตรและเราก็ทราบกันดีว่ามีกระบวนการนำพาแรงงานที่ผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทยและมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งแรงงานต่างด้าวนั้น (โดยเฉพาะที่ผิดกฎหมาย) กำลังเป็นแหล่งแพร่ COVID-19 ที่รัฐบาลยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะควบคุมปราบปรามได้อย่างเบ็ดเสร็จ นอกจากนั้นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งคือบ่อนการพนันที่ผิดกฎหมายที่มีอยู่ในประเทศไทยตลอดมาและไม่สามารถปราบปรามได้ ดังนั้นจึงประเมินว่าการระบาดรอบนี้จะยืดเยื้อครอบคลุมทั้งครึ่งแรกของปีนี้ แตกต่างจากรอบแรกเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายนปีที่แล้วที่สามารถควบคุมการระบาดได้ภายใน 3 เดือนเพราะแหล่งที่มาของ COVID-19 คือคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาจากต่างประเทศทางอากาศอย่างถูกกฎหมายที่รัฐบาลสามารถสกัดกั้นได้โดยฉับพลัน
หากมีการระบาดของ COVID-19 ประมาณ 200-400 คนต่อกันอย่างต่อเนื่องในครึ่งแรกของปีนี้ ประเทศไทยก็คงจะอยู่ในภาวะ semi-lockdown คือมีการควบคุมเฝ้าระวังและการทำธุรกิจและบริการต่างๆ ด้วยความระแวง ทำให้จีดีพีขยายตัวไม่ได้มาก ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วก็น่าจะสะดุดลงในครึ่งแรกของปีนี้หรือจีดีพีแทบจะไม่โตหรืออาจหดตัวได้ในครึ่งแรกของปีนี้ในสภาวการณ์ดังกล่าว
สำหรับครึ่งหลังของปีนั้น แนวโน้มก็ไม่น่าจะสดใสเช่นกันเพราะเดิมที่มีการคาดการณ์กันว่าจะสามารถต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้ประมาณ 6-7 ล้านคน แต่ขณะนี้นักวิเคราะห์ก็ทำใจปรับการคาดการณ์ว่าอาจรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพียง 2 ล้านคน ซึ่งเมื่อบวกกับ semi-lockdown ในไตรมาส 1 ก็จะทำให้จีดีพีในปี 2021 นี้ขยายตัวได้เพียง 2% จากเดิมที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 3-4%
แต่การคาดการณ์ดังกล่าวก็ยังมีสมมติฐานว่าประเทศไทยจะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้ปัญหา COVID-19 หมดไปอย่างสิ้นเชิงภายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ดีตัวเลขแผนการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาลนั้นจะเห็นได้ว่ามีเพียง 28 ล้านเข็มที่มีความชัดเจนเพราะได้ทำสัญญาสั่งจองแล้ว โดยรัฐบาลอ้างว่าจะจัดหามาเพิ่มอีก 35 ล้านเข็ม รวมกันเท่ากับ 63 ล้านเข็มหรือเพียงพอให้กับประชาชนเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่น่าจะสามารถทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันอย่างแพร่หลายและทั่วถึงได้ ซึ่งน่าจะกระทบในทางเศรษฐกิจทำให้จีดีพีไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในครึ่งหลังของปีนี้และอาจถึงขนาดที่จะทำให้จีดีพีของไทยคิดลบในปีได้นี้อีกด้วย
ส่วนมาตรการของรัฐบาลที่ประกาศออกมานั้น ณ ขณะนี้เป็นมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายส่วนหนึ่ง ไม่ใช่มาตรการกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้น ไม่มียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและดูเสมือนว่าเป็นมาตรการชั่วคราวที่ตั้งออยู่บนสมมติฐานว่าจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ให้ลดลงอย่างมากจนเปิดเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งผมมองว่าเป็นการประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไป ดังนั้น จึงน่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มขึ้นมาได้อีกในอนาคต แต่ก็เป็นเหมือนกับปีที่แล้วคือการเติมมาตรการเยียวยาเมื่อเห็นว่ามีความจำเป็นจึงเป็นนโยบาย reactive มากกว่า pro-active ครับ