หาก 'โครงการฯทวาย' ไม่มี(อิตาเลียน)ไทย

หาก 'โครงการฯทวาย' ไม่มี(อิตาเลียน)ไทย

โครงฯทวาย มีความสำคัญในแง่ภูมิเศรษฐกิจของไทย แต่สถานะโครงการปัจจุบันเกิดความไม่แน่นอนเมื่อเอกชนถูกไทยที่ไปบุกเบิกลงทุนถูกยกเลิกสัมปทาน7ฉบับ

ที่ตั้งของประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง และการส่งออกเนื่องจากอยู่ใกล้ประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากอันดับ 1 และ 2 ของโลกคือจีนและอินเดีย การส่งออกไปยังฝั่งตะวันตกในแผนพัฒนาระดับชาติพูดถึงหลายโครงการที่หากมีการพัฒนาจะเพิ่มโอกาสในการส่งออกของไทยหนึ่งในโครงการสำคัญคือ"โครงการฯทวาย"

ย้อนไปเมื่อทศวรรษที่ 1990 ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)ได้เข้ามาสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแนวคิดในการพัฒนาในรูปแบบแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridor)จึงเกิดขึ้นแนวระเบียงเศรษฐกิจหนึ่งที่มีความสำคัญคือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West Economic Corridor)ในด้านตะวันออกเริ่มต้นจากเมืองกวีเญินชายฝั่งทะเลจังหวัดบิ่ญดิ่ญทางตอนกลางของประเทศเวียดนาม และปลายสุดด้านตะวันตกคือเมืองทวาย ในสหภาพเมียนมาซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง130 กม.

161303295674

ระเบียงเศรษฐกิจนี้ผ่านตอนกลางของประเทศไทยผ่านศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพมหานคร เชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทั้งทางถนนและระบบรางไปยังเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ในทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจโครงการฯทวายที่จะเปิดประตูการส่งออกของไทยสู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียจึงเป็นหมุดหมายหนึ่งในการเสริมให้ไทยเป็นฮับทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาไทยกับเมียนมามีการร่วมมือกันพัฒนาโครงการฯทวายมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่สองประเทศถือหุ้นร่วมกัน มีการตั้งคณะกรรมการระดับสูงในการทำงานเชิงนโยบายร่วมกันมีการลงนามในความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาโครงการฯนี้ร่วมกัน

ในทางกายภาพไทยยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปเชื่อมต่อชายแดนเมียนมาที่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี โดยสร้างถนนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ - กาญจนบุรีวงเงินกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเตรียมเงินกู้ในการปรับปรุงถนนจากชายแดนไปยังโครงการฯทวายระยะทาง 139 กิโลเมตรอีก 4.5 พันล้านบาทภาคเอกชนไทยเข้าไปบุกเบิกลงทุนในโครงการนี้ที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินประเมินไว้เป็นมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท

การถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับรวดของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำไว้ในการลงทุนในพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ระยะแรก (initial phase) ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายของหน่วยงานเศรษฐกิจระดับชาติของไทยเมื่อครั้งที่เคยเดินทางไปโครงการฯทวายพร้อมกันเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนท่านฯบอกว่า

“โครงการทวายนั้นเกิดได้แน่ แต่ถ้าเกิดแล้วประเทศไทยถูกกีดกันออกจากโครงการนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมีหลายประเทศที่ถือกระเป๋าเข้ามา เจรจาแล้วบอกว่าเขาพร้อมที่จะลงทุนถ้าไม่มีไทยเข้ามาเอี่ยวในโครงการนี้”

บอกเล่ากันเรื่องนี้เพื่อย้ำถึงความสำคัญของโครงการฯทวายนอกจากรัฐบาลไทยต้องส่งสัญญาที่ชัดเจนว่าเราสนับสนุนการเดินหน้าโครงการนี้ สิ่งที่ต้องลงไปดูคือเงื่อนไขที่ Dawei Special Economic Zone Management Committee(DSEZ) กำหนดขึ้นมาใหม่ให้ผู้ลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาในโครงการฯทวายไม่ต้องจ่ายชดเชยให้กับเอกชนไทย 8 พันล้านบาทนั้นมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร?

...ในเรื่องนี้รัฐบาลไทยต้องรู้ให้เท่าทันเพราะงานนี้ไม่เพียงเกมเขี่ยเอกชนไทยให้พ้นจากโครงการฯทวาย หากอาจหมายถึงความพยายามของบางฝ่ายที่ต้องการตัดไทยออกจากโครงการนี้