‘ปรับทัพธุรกิจ’ สู่ Food Delivery
ปี 2564 น่าจะเป็นอีกปีที่สดใสของตลาด Food delivery ฟู้ดเดลิเวอรีในไทย
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่โดยปกติแล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการรับมือกับวิกฤติโรคระบาดกลับส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรีบปรับพฤติกรรมการบริโภค วิถีการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับโลกใหม่ เกิดเป็น New Normal อย่างรวดเร็ว
ธุรกิจมากมายได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่ในขณะเดียวกันวิกฤตินี้ก็ทำให้ธุรกิจบางประเภทได้อานิสงค์โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ แอพพลิเคชั่นออนไลน์ต่าง ๆ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตในช่วงแห่งความยากลำบากก็ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อาทิ การประชุมออนไลน์ ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าออนไลน์ ตลอดจนการขนส่งสินค้าและอาหาร
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ขนาดตลาดของ Food delivery ของไทยจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ที่ 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งเป็นปีที่โควิด-19 เริ่มระบาดที่ 68,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 6,000 ล้านบาท ตลาด Food delivery เติบโตอย่างต่อเนื่อง 8-10% มาตั้งแต่ปี 2557 และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไป
เม็ดเงินในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับข้อมูลของฐานลูกค้าผู้ใช้ทำให้เกิด Platform ใหม่ ๆ เข้าพยายามเข้ามาตีตลาดนี้ พูดได้ว่าการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด จากจำนวนของ Platform ที่เพิ่มมากขึ้นนี้ ในระยะสั้นแล้วผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ใช้บริการ Platform ทั้งในฐานะผู้ซื้อ ผู้ขายอาหาร และผู้จัดส่ง
ในปัจจุบัน Platformในตลาด Food delivery อันเป็นที่นิยมของผู้ซื้อและขายนี้มีประมาณ 3-4 เจ้า คือ Grab, Lineman, Foodpanda, Gojek (Get) ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีจุดเด่นที่เหมือนกันคือ จำนวนร้านอาหารให้เลือกที่มากมายและนิยมส่งฟรีในระยะจัดส่งที่ไม่ไกล
รูปแบบการทำกำไรของแต่ละ Platform นั้นก็แตกต่างกันโดยรายรับหลักคือ ค่าบริการจัดส่งและส่วนแบ่งยอดขาย ซึ่งแต่ละ Platform ก็จะปรับสมดุลระหว่าง 2 ปัจจัยนี้จนเกิดมาเป็นการวางตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ของตนเอง และโปรโมชั่นต่างๆ
Grab และ Foodpanda นั้นนิยมจัดโปรโมชั่นแจกโค้ดส่วนลดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง คิดราคาค่าส่งที่ไม่แพง แต่ราคาอาหารในบางรายการมีความแตกต่างกับราคาหน้าร้าน ขณะที่ Lineman และ Gojek เน้นราคาค่าอาหารที่ค่อนข้างตรงกับหน้าร้าน และคิดอัตราค่าส่งที่สะท้อนความเป็นจริง
เพราะตลาดที่ใหญ่ถึง 74,000 ล้านบาท และเสียงบ่นของผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ตลอดจนเหล่าผู้ทำการจัดส่งสินค้าถึงความไม่ยืดหยุ่นหรือรูปแบบของการทำกำไรที่คนไทยยังไม่คุ้นชิน จึงทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่สัญชาติไทยที่เชื่อว่าเข้าใจพฤติกรรมคนไทยได้ดีกว่า Platform ต่างชาติเหล่านี้ อาทิ Robinhood ของ SCB 10X ในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ และ True Food ของเครือ CP
หากมองในแง่ของผู้ขายอาหาร Robinhood ขายความเป็นธรรมให้กับผู้ขายอาหาร โดยไม่คิดส่วนแบ่งจากการขาย ขณะที่ True Food ก็ดึงความโดดเด่นจากจุดแข็งในเครือ CP ในฐานะผู้ผลิตวัตถุดิบโดยให้ส่วนลดราคาวัตถุดิบแก่ผู้ขายอาหาร ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ขายได้มาก
ในฐานะผู้ซื้อ ทางเลือกที่เพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 6 ถือว่ามีนัยสำคัญ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ผู้บริโภคทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้จัดส่งสินค้านั้นมีทางเลือก สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะที่สุดกับตนเอง นี่คือข้อดีของการแข่งขันเสรี เพราะกลไกตลาดจะทำหน้าที่ของมัน
การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในพฤติกรรมของผู้บริโภค และขนาดของตลาด Food delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิด new normal ใหม่ ๆ มากมาย อาทิ รูปแบบการขายหน้าร้านที่เปลี่ยนไป การใช้ระบบครัวกลาง หรือแม้กระทั่ง Ghost kitchen (ร้านค้าที่ไม่มีหน้าร้าน) ธุรกิจที่ปรับรูปแบบให้สอดรับกับเทรนด์นี้ก็จะสามารถตักตวงโอกาสจากขาขึ้นของ Food delivery นี้ได้