ปัจจัยที่มีผลต่อพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากร

ปัจจัยที่มีผลต่อพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (9) บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ

บทความโดย ผศ.ดร.กฤษรัตน์ ศรีสว่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

             ประชาชนชาวไทยทุกคนต่างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรให้แก่รัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้กฎหมายเหล่านี้ ได้แก่ กฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากรหรือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

            นอกจากนี้กฎหมายข้างต้นยังส่งผลทำให้หน่วยงานของรัฐรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรจากประชาชนชาวไทยอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการบริหารงานจัดเก็บภาษีอากรของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้พยายามที่จะดำเนินการจัดเก็บภาษีอากรให้ได้จำนวนตามที่กำหนด มีความครบถ้วน มีความถูกต้องและสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษี

            หากพิจารณาการเสียภาษีอากรของประชาชนใน 'มิติพันธะทางศีลธรรม' (Tax morale) แล้วจะพบว่า พันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากรมีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีอากร (Tax compliance) ของผู้เสียภาษีอากร เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วผู้เสียภาษีอากรมีหน้าที่ดำเนินการใด ๆ เพื่อเสียภาษีอากรให้แก่หน่วยงานของรัฐตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายภาษีอากรกำหนด เช่น การยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระเงินภาษีอากร เป็นต้น แต่ในบางกรณีผู้เสียภาษีอาจประพฤติหรือดำเนินการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนพันธะทางศีลธรรมในการเสียภาษีอากร เช่น การไม่ยื่นเสียภาษี การหลีกเลี่ยงภาษีหรือการหนีภาษี เป็นต้น

            สำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดเก็บภาษีอากรดังที่ได้กล่าวข้างต้น ต่างมีความพยายามที่จะป้องกันและป้องปรามมิให้ประชาชนผู้เสียภาษีประพฤติหรือดำเนินการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนพันธะทางศีลธรรมในการเสียภาษีอากร เนื่องจากพฤติการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อระบบการจัดเก็บภาษีอากรในภาพรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเงินรายได้ภาษีอากรที่ลดลง ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรไปใช้จ่ายในการบริหารประเทศหรือการบริหารราชการแผ่นดินตามที่กฎหมายกำหนด หากรายได้ภาษีอากรมีจำนวนลดลงแล้วอาจกระทบต่อรายจ่ายสาธารณะได้

            ผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ใน Tax Morale: What Drives People and Businesses to Pay Tax? พบว่า มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีอากรและการใช้จ่ายของรัฐบาล เช่น การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ศาลยุติธรรม องค์กรภาคประชาสังคมหรือหน่วยงานอื่น ๆ เป็นต้น และมีข้อเสนอให้รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

            1) การให้ความรู้แก่ผู้เสียภาษีอากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการเสียภาษีอากรชนิดต่าง ๆ ที่มีการจัดเก็บในแต่ละประเทศ ซึ่งควรต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้เสียภาษีอากรตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่มีความพร้อมชำระภาษีอากรให้แก่ประเทศ และหน่วยงานที่ต้องดำเนินภารกิจในข้อนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรเท่านั้นแต่รวมถึงหน่วยงานจัดการศึกษาด้วย เช่น โรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น

            2) การพิจารณาอย่างรอบด้านเมื่อมีการจัดเก็บภาษีอากรชนิดใหม่และนำรายได้ภาษีอากรไปใช้จ่ายเป็นการเฉพาะ เช่น การจัดเก็บภาษีอากรจากการเล่นพนันและนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีอากรไปใช้จ่ายเพื่อพัฒนาการศึกษาในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ซึ่งในขณะตรากฎหมายภาษีอากรดังกล่าวข้างต้นจะต้องออกแบบและผนวกรวมพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากรเพื่อเป้าหมายการบริการสาธารณะด้านการศึกษาในถิ่นทุรกันดารไว้ในกฎหมายด้วย

            3) การสร้างฐานข้อมูลของผู้เสียภาษี หน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรจะต้องพัฒนาระบบและรวบรวมฐานข้อมูลของผู้เสียภาษีอากร เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรทราบได้ว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีการเสียภาษีอากรหรือไม่ และจะได้นำข้อมูลไปพัฒนากฎหมายให้มีช่องว่างทางกฎหมายลดน้อยลง

            4) การสนับสนุนการพัฒนาการบริหารงานจัดเก็บภาษีอากรของหน่วยงานรัฐด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการบริหารงานจัดเก็บภาษีอากรในยุคใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้กับการจัดเก็บภาษีอากร และต้องมีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายภาษีอากรร่วมด้วย

            5) การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในรัฐบาล เช่น ความเชื่อมั่นในระบบการเมืองการปกครองรวมถึงหลักนิติธรรม เป็นต้น ซึ่งความเชื่อมั่นในรัฐบาลมีผลต่อพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล

            6) การศึกษาวิจัยการเสียภาษีอากรของชายและหญิงในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากความแตกต่างของเพศมีผลต่อพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากร ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วควรแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาวิจัยเหล่านี้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป้าหมายการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายภาษีอากร

            ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเสียภาษีของบุคคลธรรมดาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีผลกระทบต่อทัศนคติในการเสียภาษีอากรของประชาชน หากรัฐบาลหรือหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรได้นำข้อเสนอข้างต้นไปปรับใช้หรือพัฒนาปรับปรุงกฎหมายภาษีอากรแล้ว จะมีส่วนช่วยสร้างทัศนคติที่ดีในการเสียภาษีอากรของประชาชนและทำให้ประชาชนเต็มใจที่จะเสียภาษีอากรให้กับรัฐ อันจะส่งผลทำให้เกิดพันธะทางศีลธรรมของประชาชนในการเสียภาษีอากรในที่สุด.