“ก้าว...เพื่อโลกที่ยั่งยืน”

“ก้าว...เพื่อโลกที่ยั่งยืน”

อย่างที่ทราบกันนะครับว่าโลกในปัจจุบันเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวทั้งการสื่อสาร เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ทำให้เรามองเพียงแค่ตนเองไม่ได้แล้ว

เพราะต่างก็ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ และมีผลต่อการดำรงชีวิตของทุกผู้คน ดังเช่นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง หรือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินจำเป็น ทำให้ทำลายและสร้างมลพิษในด้านต่างๆ เหมือนกับที่คนไทยเราจะต้องผจญกับฝุ่นขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ในทุกหน้าหนาว ความรุนแรงนั้นประหนึ่งเด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ

การดำเนินงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็กในแต่ละอุตสาหกรรมจึงตระหนักและต่างหาวิธีการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างหวงแหน และมีความพยายามที่จะชดเชย เช่น การปลูกป่า หรือหาแหล่งพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตสินค้า การคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกระบวนการดำเนินงาน (Carbon Footprint) ซึ่งในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่เริ่มพัฒนาจนถึงขั้นตอนการเข้าอยู่อาศัย ประกอบด้วย 10 กระบวนการสำคัญ ผ่านกลยุทธ์ที่สรุปเป็นหลักการดำเนินงาน 6 ประการที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการดำเนินงานต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งเรียกว่า “6 Green” ได้แก่ Green Financial Management, Green Enterprise, Green Design Concept, Green Marketing Management, Green Construction Process และ Green Community Management ซึ่งมีปริมาณและวิธีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่างกัน

โดยใน Green Construction Process (กระบวนการก่อสร้าง) และ Green Community Management (ขั้นตอนที่ลูกค้าเข้าอยู่อาศัยแล้ว) จะส่งผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากที่สุด ดังนั้น จึงควรเริ่มวางแผน ออกแบบ และควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยวัดผลกระทบจากกิจกรรมของคนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงปริมาณ โดยใช้ตัวบ่งชี้คือโอกาสในการเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ที่คำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2eq)

ความพยายามลดกระบวนการและกิจกรรมโดยพิจารณาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint นับเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็น หน่วยวัดมาตรฐานสากล” ที่ทำให้ทุกคนในทุกอุตสาหกรรมเข้าใจและสามารถใช้เกณฑ์เดียวกันในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ เหมือนภาษากลางที่ทำให้เรา สื่อสาร” กัน เข้าใจกันมากขึ้น และเมื่อเราสามารถ วัดได้” เราก็จะสามารถ บริหารจัดการได้”

ทุกวันนี้หลายองค์กร พยายามเปลี่ยนการดำเนินงานจากการลด (ไม่ใช้) มาเป็นการพัฒนาวัสดุสิ้นเปลืองให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย และแน่นอนว่า เราต้องช่วยกันในการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมและลดการรบกวนสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่อาจจะต้องเปลี่ยนจากการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ (Reduce) เพียงอย่างเดียวมาเป็นการสร้างนวัตกรรมและแนวทางการดำเนินงาน (Invent และ Innovate) สร้างและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ (Introduce) ทั้งในเรื่องวัสดุและกระบวนการใหม่ๆ ในการดูแลสิ่งแวดล้อม ที่รบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยลง

ปัจจุบันเราจะเห็นว่าทุกคนตื่นตัวมากขึ้น แม้ในช่วงโควิดที่เราจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเพื่อรักษาชีวิตไว้ แต่ทุกคนก็ยังคงไม่ลืมในสิ่งที่มุ่งเป้าร่วมกันคือการลดการใช้ทรัพยากรลง การคัดแยกขยะ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สังคม และภาคีอื่นๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดี ที่ทำให้เห็นแนวโน้มในการรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้มีความยั่งยืนตลอดชั่วลูกชั่วหลานครับ