เทคโนโลยีกับการจี้ปล้นข้ามโลก
ในช่วงนี้ การจี้ปล้นข้ามโลกเป็นข่าวใหญ่มากเนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐถูกจี้ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอินเทอร์เน็ต
การจี้ปล้นผ่านการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยนี้มีหลายรูปแบบ ในระดับบุคคล อาชญากรจี้ปล้นและหลอกลวงผู้ใช้ระบบอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ระบบนี้เริ่มเชื่อมโยงบุคคลเป็นโครงข่ายในวงกว้าง แต่มักไม่เป็นข่าว กระบวนการยุติธรรมตามจับอาชญากรได้ยากเนื่องจากอาชญากรมักอยู่คนละฟากโลกและสังคมของผู้ถูกปล้นขาดความสามารถทางเทคโนโลยีร่วมสมัย
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่าน บริษัทพลังงานขนาดใหญ่ในสหรัฐถูกจี้ปล้นโดยกลุ่มอาชญากรซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน วิธีจี้ปล้นที่ใช้ได้แก่การส่งคำสั่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเข้าไปยึดข้อมูลของบริษัทไว้และขอค่าไถ่เป็นหลักล้านดอลลาร์ บริษัทนั้นทำกิจการส่งจ่ายน้ำมันผ่านท่อทั่วภาคตะวันออกของสหรัฐ หากบริษัทไม่จ่ายค่าไถ่ ระบบส่งจ่ายจะไม่กลับมาทำงาน
ผลปรากฏว่าน้ำมันเริ่มขาดแคลนและราคาเริ่มเพิ่มขึ้นในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของสหรัฐก่อนที่บริษัทจะยอมจ่ายค่าไถ่ (ผมอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผลกระทบได้เป็นอย่างดี) ไม่กี่วันหลังจากนั้น มีข่าวแพร่ออกมาว่าบริษัทยอมจ่ายค่าไถ่ ระบบการส่งจ่ายน้ำมันจึงกลับมาทำงานได้ดังเดิม
ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อาชญากรได้ใช้วิธีเดียวกันจี้ปล้นบริษัทในสหรัฐอีก บริษัทนี้ประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่เขียนบทความนี้ซึ่งตรงกับคืนวันอังคารตามเวลาเมืองไทย ยังไม่มีรายงานว่าบริษัทได้ตัดสินใจจ่ายค่าไถ่หรือไม่ หรือได้จ่ายไปลับ ๆ เนื่องจากโรงงานและกิจการส่งเนื้อสัตว์ของบริษัทเริ่มกลับมาทำงานแล้ว ส่วนด้านบริษัทส่งจ่ายน้ำมันที่อ้างถึงมีข้อมูลเผยแพร่ออกมาว่า บริษัทจ่ายค่าไถ่ในรูปของเงินตราอีเล็กทรอนิกส์ “บิตคอยน์” ตามความต้องการของอาชญากร
ในวันจ่ายนั้น บิตคอยน์ซึ่งเป็นเงินตราทำขึ้นมาโดยเอกชนและเป็นที่นิยมของอาชญากรข้ามชาติมีค่า 4.4 ล้านดอลลาร์ พร้อม ๆ กันนั้นมีรายงานว่า สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐได้ยึดเงินค่าไถ่ส่วนใหญ่คืนมาได้แล้ว ปัจจัยที่เอื้อให้การยึดคืนนั้นเกิดขึ้นได้คือ บริษัทรายงานให้สำงานสอบสวนกลางทราบทันทีเมื่อตนถูกจี้ปล้นและสำนักงานนั้นมีความสามารถด้านเทคโนโลยีและลงมือปฏิบัติการทันทีเมื่อทราบเรื่อง
อนึ่ง องค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐคาดเดาว่าอาชญากรจี้ปล้นที่อ้างถึงเหล่านั้นอาศัยอยู่ในรัสเซีย ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลรัสเซียอาจจงใจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือรู้เห็นเป็นใจด้วย เพราะไม่ชอบนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรื่องนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับกรณีที่รัสเซียจงใจใช้สารพัดวิธีผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอินเทอร์เน็ตช่วยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่เขาเป็นตัวแทนของพรรคริพับลิกัน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อประธานาธิบดีไบเดนพบกับประธานาธิบดีปูตินที่เมืองเจนีวาสัปดาห์หน้า หนึ่งในประเด็นใหญ่ที่เขาจะพูดกันได้แก่เรื่องการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยทั้งโดยอาชญากรเพื่อจี้ปล้นและโดยภาครัฐที่พยายามผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของนโยบาย หรือบ่อนทำลายฝ่ายที่มีความแตกต่างทางระบบการเมือง ผู้ติดตามเรื่องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีร่วมสมัยทำลายฝ่ายตรงข้ามย่อมทราบกรณีที่ระบบทำงานของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของอิหร่านถูกทำลายและมีผู้สงสัยว่าสหรัฐคือผู้ทำ นายปูตินอาจยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกก็ได้
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อ้างถึงนั้นนำไปสู่การวิจารณ์กันอย่างเข้มข้นในสหรัฐเรื่องปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐอาจถูกทำลายได้อย่างง่ายดายด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า การควบคุมระบบการคมนาคม น้ำประปา หรือการรักษาพยาบาล ในทางตรงข้าม อาจคาดเดาได้ว่าสหรัฐได้พัฒนาขีดความสามารถในการทำลายฝ่ายตรงข้ามด้วยเทคโนโลยีเดียวกันไว้พร้อมแล้วอย่างแน่นอน ณ วันนี้ โลกจึงยังตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นเช่นเดิม กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดความสามารถทางเทคโนโลยีมีโอกาสได้รับความเสียหายสูงและอาจถูกชี้ปล้นด้วยโจรข้ามโลก ด้วยคำสาปของเทคโนโลยีจะมีผลร้ายต่อไปในหลายรูปแบบ.