เอล ซัลวาดอร์ ประเทศแรกที่ใช้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินของประเทศ
'เอล ซัลวาดอร์' ประเทศแถบคาบสมุทรแคริบเบียน สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกของโลก ที่รับรองให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
เมื่อวันพุธที่ 9 มิถุนายน รัฐสภาของเอล ซัลวาดอร์ โหวตผ่านด้วยคะแนนเสียงถึง 62 จาก 84 เสียงที่ผ่านมาซึ่งจะนำมาใช้เป็นสกุลเงินทางเลือกในอีก 90 วันข้างหน้า
นายนายิบ บูเคเล ประธานาธิบดีหนุ่มวัย 39 ปี แถลงในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาว่า ณ บัดนี้ ผู้คนในประเทศสามารถใช้บิทคอยน์เป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเปรียบเสมือนกับเงินดอลลาร์ได้แล้ว มีผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านแย้งว่า เอล ซัลวาดอร์ไม่ควรเอาบิทคอยน์มาเป็นสกุลเงิน เนื่องจากว่าบิทคอยน์เป็นสกุลเงินที่ไร้การควบคุมหรือ Decentralized ทำให้ง่ายในการหลบเลี่ยงภาษี หรือหน่วยงานใดจะตรวจสอบได้ แต่นายบูเคเลแย้งว่าความจริงแล้วในประเทศเขาก็มีการฟอกเงินเป็นดอลลาร์โดยอาชญากรบ่อยอยู่แล้ว ปัญหาไม่ใช่ว่าจะใช้บิทคอยน์หรือดอลลาร์ ปัญหาคือเรื่องของอาชญากรรม คราวนี้เราลองมาดูประวัติคร่าวๆของประเทศเอล ซัลวาดอร์ กันก่อนนะครับ
สกุลเงินหลักที่ใช้ในประเทศเอล ซัลวาดอร์ แต่เดิมคือ ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่สมัยปีพ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ก่อนหน้านั้นเอล ซัลวาดอร์ใช้สกุลเงินที่มีชื่อว่า ซัลวาดอร่าน โคลอน (Salvadoran Colon) ซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยปีพ.ศ. 2435 ซึ่งสิ่งนี้เองเรียกว่าการทำ Dollarization หรือการเอาดอลลาร์เข้ามาใช้เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของประเทศ ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้มีหลายๆประเทศในยุโรปตะวันออกและรวมไปถึงประเทศในลาตินอเมริกาหันมาใช้ดอลลาร์ในการเป็นสกุลเงินหลักมากขึ้น
อย่างเช่นประเทศโบลิเวียที่ใช้ดอลลาร์สูงถึง 82% ของเงินแลกเปลี่ยนทั้งหมดในประเทศ ประเทศอาร์เจนติน่าอยู่ที่ประมาณ 44% ตุรกีอยู่ที่ 46% รัสเซีย กรีซ โปแลนด์ และฟิลิปปินส์อยู่ที่ประมาณ 20% ส่วนประเทศเพื่อนบ้านของสหรัฐอเมริกาอย่างแม็กซิโกใช้เพียง 7% เท่านั้น มีอยู่สองประเทศบนโลกเองที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์ทั้ง 100% คือประเทศไลบีเรีย และ ปานามา
การที่ประเทศเอล ซัลวาดอร์เอาดอลลาร์มาเป็นสกุลเงิน ประเทศมองเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียให้กับทางเศรษฐกิจ เพราะว่าจะได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมไปถึงสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าสกุลเงินหลัก เรียกได้ว่าจะทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างกับประเทศเอกวาดอร์ที่หลังจากการทำ dollarization แล้วเศรษฐกิจและจีดีพีของประเทศมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อปีพ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาได้มีรายงานออกมาว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด และอยู่ในอัตราที่พอๆกับตอนที่ยังใช้สกุลเงินอันเดิมของประเทศอยู่ และการเข้ามาของการลงทุนก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นด้วยเพราะการที่ประเทศมีอัตราความรุนแรงและอาชญากรรมที่สูงทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้าไปลงทุนในเอล ซัลวาดอร์ ซ้ำร้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการที่ประเทศหันมาใช้สกุลเงินดอลลาร์คือเหล่าคนจน เพราะว่าบรรดาร้านค้าและร้านอาหารต่างๆเมื่อเปลี่ยนไปเป็นดอลลาร์แล้ว ล้วนแล้วแต่เพิ่มราคาสินค้าเพื่อให้เลขมันลงตัว ทำให้คนจนต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อการบริโภค ในขณะที่ค่าแรงเท่าเดิม
จึงทำให้การที่เอล ซัลวาดอร์ หันมาเอาบิทคอยน์เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของประเทศหรือการทำ Bitcoinization เสียงของประชาชนจึงถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย บางคนดีใจและตื่นเต้นที่จะเห็นบิทคอยน์เป็นหนึ่งในสกุลเงินหลักของประเทศ ในอีกฝั่งหนึ่งกลับกังวลและเป็นห่วงว่าคนจะใช้งานสิ่งที่เรียกว่าบิทคอยน์ไม่เป็น และจะทำให้คนจนยิ่งจนลงกว่าเดิมเหมือนกับช่วงตอนปีพ.ศ. 2544
และด้วยเหตุผลที่ว่าประชากรประมาณ 70% ของประเทศก็ยังไม่สามารถเข้าถึงธุรกรรมการเงินขั้นพื้นฐานได้เลยหรือมีบัญชีธนาคาร แต่รัฐบาลก็ให้การรับรองว่า รัฐบาลจะตั้งกองทุนสำรองให้กับประชาชนเป็น บิทคอยน์ เป็นมูลค่าถึง 150 ล้านดอลลาร์เพื่อเตรียมไว้สำรองในการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นบิทคอยน์
อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้รัฐบาลอยากเอาบิทคอยน์เข้ามาใช้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศคือ จากการรายงานขององค์การธนาคารโลก หรือ World Bank เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมาว่า เอล ซัลวาดอร์ เป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานมากที่สุดในโลก และเอาเงินกลับประเทศมากที่สุดในโลกถึง 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณ 20% ของจีดีพีของประเทศ
รัฐบาลของเอล ซัลวาดอร์ยังออกมาตรการชักชวนชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้นด้วย โดยใครที่ถือบิทคอยน์มากกว่า 3 บิทคอยน์ขึ้นไป ทางการของเอล ซัลวาดอร์สามารถพิจารณาคุณเป็นพลเมืองของเอล ซัลวาดอร์ ซึ่งพาสปอร์ตของเอล ซัลวาดอร์มีคะแนนดีกว่าของประเทศไทยด้วย อย่างเช่นประเทศไทย สามารถเดินทางไปประเทศอื่นโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เพียง 18 ประเทศ ในขณะที่เอล ซัลวาดอร์ได้ถึง 38 ประเทศเลยทีเดียว
ในสัปดาห์หน้านี้เองทางรัฐบาลของนายบูเคเลจะมีการประชุมกับทาง IMF เพราะทางเอล ซัลวาดอร์ต้องการที่จะกู้เงินเพิ่มเพื่อพัฒนาประเทศและจากการประสบปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เป็นจำนวนเงินถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการที่เอล ซัลวาดอร์ได้เอาบิทคอยน์มาใช้เป็นสกุลเงินของประเทศอาจจะทำให้การประชุมกับ IMF ยุ่งยาก และ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในส่วนตัวผม ผมนึงถึงเรื่องราวในหนังสือ The Bitcoin Standard ของคุณ Saifedean Ammous ที่กำลังจะถูกแปลเป็นภาษาไทยในเร็ววันนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึง ศตวรรษที่ 20 มีหลายๆประเทศได้เริ่มใช้ Gold Standard และ Silver Standard มากขึ้น นั่นก็คือการเอาค่าเงินของตัวเองไปผูกไว้กับทองคำและแร่เงิน ปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไปคนใช้แร่เงินน้อยลงเพราะเมื่อเกิดเงินเฟ้อมูลค่าของแร่เงินก็ตกต่ำลง ทำให้ประเทศในแถบฝั่งยุโรปเริ่มหยุดใช้แร่เงิน สองประเทศสุดท้ายที่เอาแร่เงินออกจากระบบเศรษฐกิจคือประเทศจีนและอินเดียในปีพ.ศ. 2478 ซึ่งตอนนั้นเองมูลค่าของแร่เงินตกไปจากวันแรกที่เริ่มใช้ถึง 78% จึงทำให้ความร่ำรวยของสองประเทศนี้ลดลงไปอย่างมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สุดท้ายเราก็ต้องดูในวันข้างหน้าว่าการที่เอล ซัลวาดอร์เอาบิทคอยน์มาใช้เป็นสกุลเงินในประเทศจะหมู่หรือจะจ่ากันครับ.