เศรษฐกิจมีหนี้ แต่ไม่มีรายได้ แก้อย่างไร
ชื่อบทความวันนี้คงจะใช้ได้กับคนจำนวนมากขณะนี้ ไม่ว่าประชาชนทั่วไป ธุรกิจ หรือแม้แต่ภาครัฐ คือ เจ้าหน้าที่รัฐรายได้ไม่พอรายจ่าย ไม่พอชำระหนี้
ในระดับประเทศ เศรษฐกิจก็มีปัญหาหนี้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจหรือภาครัฐ คำถามคือ รัฐบาลควรทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ในแง่นโยบายโดยเฉพาะในภาวะที่โควิดยังระบาดอยู่ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เริ่มที่ครัวเรือน ในภาพรวม ระดับหนี้ของครัวเรือนไทยจากตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 89.3 ของรายได้ประชาชาติซึ่งสูงมาก และคงเพิ่มเป็นร้อยละ 91 สิ้นปีนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ คือกว่าร้อยละ 50 เป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่อัตราดอกเบี้ยชำระหนี้ค่อนข้างสูง ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้จะอ่อนไหวมากเมื่อผู้กู้รายได้ลดลงหรือขาดรายได้คือตกงาน วิกฤติโควิดคราวนี้อย่างที่ทราบทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณว่า จำนวนผู้ว่างงานอาจจะสูงถึง 2.7-2.9 ล้านคนสิ้นปีหน้า ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ทำให้หนี้เสียในส่วนของหนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น
สำหรับภาคธุรกิจ ระดับหนี้ ณ สิ้นปี 2019 มีอัตราส่วนอยู่ที่ 143 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติซึ่งถือว่าสูง ส่วนที่แตกต่างระหว่างหนี้ครัวเรือนกับหนี้ภาคธุรกิจ คือ หนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะมีสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ทำให้การผิดนัดชำระหนี้จะเป็นเรื่องที่สามารถเจรจาปรับเงื่อนไขการกู้ยืมหรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ ในวิกฤติคราวนี้ หนี้ภาคธุรกิจเป็นปัญหาของธุรกิจขนาดกลางและเล็กเป็นหลัก จากความไม่แน่นอนของรายได้ที่มีสูงและธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติโควิด โดยเฉพาะในธุรกิจบริการ ต่างจากบริษัทใหญ่ที่สามารถประคับประคองตัวได้ดีในวิกฤติคราวนี้ เห็นได้จากตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ยังดูดีปีที่แล้ว และตลาดพันธบัตรซึ่งเป็นตลาดกู้ยืมโดยตรงจากประชาชนของบริษัทขนาดใหญ่และกลางที่ทำงานได้ดีไม่ติดขัด
สำหรับภาครัฐ การก่อหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นจากผลของวิกฤติโควิด-19 ที่รัฐบาลกู้เงินเพิ่มขึ้นมากเพื่อใช้เยียวยาประชาชน และหลังการกู้ยืมใหญ่สองรอบคือ หนึ่งล้านล้านบาทปีที่แล้วและสี่แสนล้านบาทที่จะกู้ปีนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะคงเพิ่มขึ้นใกล้เคียงเพดานสูงสุดของหนี้สาธารณะที่รัฐบาลจะกู้ได้ คือ ร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ เป็นเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมาย ขณะเดียวกันรายได้ภาษีที่รัฐจัดเก็บก็จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลจะมีข้อจำกัดมากขึ้นในการชำระหนี้ นี่คือเหตุผลทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ ลดรายจ่ายและปรับปรุงวิธีการบริหารหนี้สาธารณะ เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ประเทศเกิดปัญหาหรือวิกฤติด้านการคลัง
ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งสามด้านเป็นเรื่องที่ต้องระวังในแง่นโยบาย เพราะทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในโลกจะมีต้นเหตุมาจากการสร้างหนี้ที่เกินกำลังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น หนี้ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจหรือภาครัฐและนำไปสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด สำหรับประเทศเราขณะนี้ปัญหาสำคัญคือ เศรษฐกิจไม่ขยายตัว การว่างงานเพิ่มขึ้นและหนี้ครัวเรือนสูง ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติยังไม่คลี่คลายและไม่แน่นอนว่าจะจบได้เมื่อไหร่ และพื้นที่นโยบายที่รัฐบาลมีที่จะใช้แก้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกู้เงินเริ่มมีข้อจำกัด
ถ้าย่อส่วนปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวมาเป็นปัญหาระดับครอบครัว ก็จะชัดเจนว่าครอบครัวที่ไม่มีรายได้ มีหนี้มากและมีภาระหนี้ที่ต้องชำระ การแก้ปัญหาที่ตรงจุดก็คือการหารายได้ เศรษฐกิจไทยตอนนี้ก็เช่นกัน ดังนั้น โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจเราขณะนี้ คือ
หนึ่ง ต้องช่วยประชาชนที่ไม่มีรายได้ให้มีรายได้ด้วยการสร้างงานให้มีงานทำ
สอง ช่วยเหลือบริษัทธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดเพื่อให้ธุรกิจสามารถประคองตัวและสร้างรายได้ได้ต่อไป
สาม ส่งเสริมการลงทุนและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อโยกย้ายกำลังแรงงานและกำลังการผลิตออกจากธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ หรือไม่มีอนาคตในโลกธุรกิจหลังโควิด จากพฤติกรรมการใช้จ่ายในเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป ไปสู่สาขาการผลิตหรือธุรกิจที่จะไปได้คือ มีศักยภาพที่จะแข่งขัน หรือ แข่งขันได้ในโลกหลังโควิด เพื่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อการมีงานทำของกำลังแรงงาน เป็นการมองอนาคต ไม่ใช่มองกลับไปที่อดีตและพยายามนำประเทศกลับไปสู่อดีต ซึ่งไม่ถูกต้อง
ทั้งสามมาตรการนี้คือสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการ แต่ที่ผ่านมา นโยบายที่รัฐทำต่อเนื่องก็คือนโยบายที่สอง คือ ช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถสร้างรายได้ ที่ขาดและไม่ได้ทำหรือไม่ทำจริงจังคือ นโยบายข้อหนึ่งและสาม คือการสร้างงานและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ วันนี้จึงอยากให้ความเห็นในสองเรื่องนี้ที่ยังไม่ได้ทำ โดยเฉพาะการสร้างงานเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์และมาตรการที่ทางการอาจพิจารณา
การช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและต้องการทำงานให้มีงานทำ เพื่อให้มีรายได้เป็นมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ให้ผลมากสุด เพราะการเยียวยาของภาครัฐอย่างที่ทำมา เป็นการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจหลังจากเงินได้ถูกใช้ไป นอกจากนี้ยังเป็นภาระต่อรัฐบาลมากเพราะเป็นการเยียวยาที่ให้กับคนทั่วไป ตรงข้ามการสร้างงานจะทำให้ผู้ที่ตกงานมีงานทำ มีรายได้แน่นอน และสามารถใช้จ่ายได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ งานที่ทำก็จะมีผลต่อเศรษฐกิจในแง่การผลิต คือ อุปทานของเศรษฐกิจ ทำให้ผลต่อเศรษฐกิจดีกว่าการแจกเงินเยียวยา การสร้างงานสามารถทำได้หลายทางโดยใช้ทรัพยากรของภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เช่น
หนึ่ง สร้างงานให้ประชาชนทำในรูปงานก่อสร้างหรือซ่อมแซม บำรุงรักษาสาธารณูปโภคและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ เป็นลักษณะงานสาธารณะหรือ Public work ที่ทุกคนที่ต้องการทำงานจะมีงานให้ทำ สามารถมีรายได้ทุกวันและได้ทุกคนที่ทำงาน ภาครัฐต้องออกแบบงานในลักษณะนี้ให้กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ เพื่อประชาชนในทุกส่วนของประเทศสามารถเข้าถึงโครงการ มีงานทำและมีรายได้
สอง รัฐเปิดโครงการระดับประเทศที่จะยกระดับทักษะความรู้และความสามารถด้านดิจิทัลเทคโนโลยีให้กับกำลังแรงงานของประเทศ (Skills Transformation) โดยทำร่วมกับภาคเอกชนและ/หรือสถาบันการศึกษา เป็นโครงการที่เน้นหลักสูตรปรับทักษะและฝึกงานด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่จริงจังอย่างน้อย 12-18 เดือน เพื่อยกระดับทักษะคุณภาพและความรู้ของแรงงานไทยให้ทัดเทียมหรือดีกว่าแรงงานประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม
นี่เป็นขั้นตอนสำคัญของการปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ ที่จะถ่ายเทกำลังแรงงานออกจากสาขาการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำแข่งขันไม่ได้ ไปสู่สาขาการผลิตที่แรงงานมีผลิตภาพหรือความสามารถสูงกว่าและแข่งขันได้ เป็นโครงการที่คนที่ว่างงานอยู่สามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินเดือนช่วงเข้าโครงการเหมือนมีงานทำเพื่อให้มีรายได้ และผู้ที่กำลังทำงานอยู่ก็สามารถเข้าโครงการปรับทักษะได้โดยบริษัทจ่ายเงินเดือนให้เหมือนปกติ
สาม รัฐสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและการจ้างงาน โดยบริษัทจะได้รับเครดิตภาษีในเงินที่บริษัทใช้ในการลงทุน และจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเพิ่มเติมบางส่วนสำหรับค่าใช้จ่ายในส่วนของเงินเดือนและค่าจ้างที่เกิดจากการจ้างงานใหม่ที่เป็นผลจากการลงทุนในรูปของ Hiring Subsidies เป็นเวลาชั่วคราวคือช่วง 12 เดือนแรกของการจ้างงาน
นี่คือตัวอย่างของมาตรการสร้างงานที่อยู่ในวิสัยที่รัฐสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ และควรพิจารณาจริงจังเพราะตรงกับสิ่งที่เศรษฐกิจและประชาชนต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันและไม่สร้างความเสี่ยงให้กับประชาชนเพิ่มเติมในแง่การระบาดของโควิด อยากย้ำว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ตรงเป้า ทำจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาและมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ จะนำประเทศไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหา ง่ายกว่านโยบายที่มาจากเหตุผลหรือแรงผลักดันทางการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์.