มองภูมิคุ้มกันในวันวิกฤติ
วิกฤติโควิด-19 เป็นมาตรวัดภูมิคุ้มกันชั้นดีของบุคคลและองค์กร หากภูมิคุ้มกันของบุคคลและองค์กรแข็งแกร่ง ภูมิคุ้มกันของสังคมย่อมแข็งแกร่งด้วย
ผู้สนใจในศาสตร์พระราชาคงโยงต่อไปได้ทันทีว่า ภูมิคุ้มกันเป็น 1 ใน 5 องค์ประกอบของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
ข้อมูลจากวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ชัดว่าโควิด-19มีผลร้ายต่อผู้มีร่างกายไม่สมบูรณ์มากกว่าผู้อื่นหลายเท่า ความไม่สมบูรณ์เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง บางอย่างป้องกันไม่ได้ เช่น ลักษณะที่แต่ละคนรับมาตั้งแต่เกิดและความร่วงโรยไปตามวัย บางอย่างป้องกันได้มากหากดำเนินชีวิตตามหลักวิชามานาน เช่น รับประทานอาหารครบหมู่และพอประมาณ ออกกำลังกายเป็นประจำและไม่สูบบุหรี่ เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางแล้วทั้งจากข่าวสารข้อมูลรอบด้านและจากระบบการศึกษา ตัวอย่างของผู้ดำเนินชีวิตตามแนวดังกล่าวน่าจะมีอยู่ทั่วไป
การระบาดของโควิด-19เกิดผลกระทบร้ายแรงทางเศรษฐกิจ กิจการต่าง ๆ ต้องปิด หรือลดกิจการลงส่งผลให้เกิดการตกงานและการลดลงของรายได้ ในภาวะเช่นนี้ ผู้ที่มีเงินออมย่อมเดือดร้อนน้อยกว่าผู้ไม่มี ข้อมูลบ่งชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้สูงและมีเงินออมน้อย โดยทั่วไป คนงานไทยที่ทำงานอยู่ในเมืองมักมีเครือข่าย หรือครอบครัวส่วนหนึ่งอยู่ในชนบท เมื่อตกงาน จึงมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างเมื่อเดินทางกลับไปชนบท วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ชี้ให้เห็นความสำคัญของภูมิคุ้มกันชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ในวิกฤติปัจจุบัน การทำเช่นนั้นอาจยากขึ้นเนื่องจากหลังเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทลดความกระชับลงและการกลับไปชนบทมีโอกาสนำเชื้อโรคร้ายไปติดไปด้วย วิกฤติครั้งนี้จึงมีผลกระทบร้ายแรงมากกว่าครั้งนั้นทำให้ภาครัฐต้องช่วยเหลือ แต่ก็ทำได้ในวงจำกัดเนื่องจากภาครัฐขาดรายได้ส่งผลให้ต้องกู้ยืม การระบาดของโควิด-19จึงน่าจะให้บทเรียนที่ตอกย้ำความสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันพื้นฐานจากการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักวิชาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในระดับองค์กรซึ่งมีหลากหลายชนิด การสร้างภูมิคุ้มกันตามแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอาจไม่ประจักษ์ทันทีแบบบุคคลมีเงินออม อย่างไรก็ดี ผมมีตัวอย่างของกิจการหนึ่งซึ่งได้นำมาเสนอไว้ในหนังสือเรื่อง “จดหมายจากชายทุ่ง” ซึ่งเขียนขึ้นเป็นวิทยาทานและในปัจจุบันสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) ขอนำมาเล่าคร่าว ๆ ว่า เขาสร้างภูมิคุ้มกันและผ่านวิกฤติ 2 ครั้งได้อย่างไรได้แก่ วิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มเมื่อปี 2540 และวิกฤติอันเกิดจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลปี 2554
องค์กรดังกล่าวทำกิจการอยู่ในวงการก่อสร้างซึ่งในสมัยหนึ่งมีโอกาสสูงที่จะขยายไปรับงานถึงในย่านตะวันออกกลางที่กำลังสร้างความร่ำรวยมหาศาลให้กิจการจำนวนมาก แต่เขาไม่ทำ ตรงข้าม เขาเก็บรายได้ก้อนใหญ่ในรูปของเงินสดไว้ในองค์กรและไปซื้อที่ดินเตรียมไว้ใช้ผลิตอาหารเพื่อและโดยคนงานในสภาวการณ์ที่อาจคาดไม่ถึง เมื่อเกิดวิกฤติปี 2540 เขาไม่จำเป็นต้องปลดคนงานเพราะกิจการก่อสร้างลดลง หากเปลี่ยนบางส่วนให้ไปทำเกษตรกรรมเพื่อผลิตอาหารมาปันกัน แต่ยังรับเงินเดือนเต็ม เมื่อเศรษฐกิจฟื้นคืนกลับมา เขารับงานใหม่ได้ทันทีเพราะมีคนงานพร้อมอยู่แล้ว ในขณะที่กิจการซึ่งปลดคนงานต้องเสียเวลาหาคนงานใหม่
การเก็บเงินสดก้อนโตไว้ในองค์กรและการไม่ปลดคนงานเป็นปัจจัยสำคัญในการสู้กับภาวะน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทั้งนี้เพราะเขามีเงินสดสำหรับซื้ออุปกรณ์สู้กับภาวะน้ำท่วมได้ทันทีพร้อมกับมีทุนจ้างคนงานที่อาสาผลัดกันทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในอัตราล่วงเวลา นอกจากนั้น การไม่ปลดคนงาน หากยอม “ตายด้วยกันหากกิจการล้ม” เมื่อปี 2540 ได้สร้างขวัญและกำลังใจพร้อมกับความจงรักภักดีในองค์กรให้แก่คนงานอย่างทั่วถึง พวกเขาจึงพร้อมทุ่มเททุกอย่างให้แก่องค์กรเมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม สำหรับวิกฤติอันเกิดจากโควิค-19 ผมทราบว่า องค์กรนี้มีภูมิคุ้มกันสูงมาก หากเขาจำเป็นต้องลดปริมาณงานลง เขาจะไม่ปลดคนงานแน่นอน
วิกฤติที่กำลังลุกลามอยู่นี้จะยุติเมื่อไรยังยากแก่การคาดเดา แต่หลังจากมันยุติ ทั้งบุคคลและองค์กรน่าจะทบทวนเรื่องภูมิคุ้มกันของตนว่าเพียงพอหรือไม่ในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้.