เศรษฐกิจโลกหลังโควิดหน้าตาจะเป็นอย่างไร
อาทิตย์ที่แล้วผมเขียนบทความ สถานการณ์โควิดสามปีข้างหน้า แฟนคอลัมน์ถามว่า แล้วเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะเป็นอย่างไร จะเปลี่ยนไปหรือไม่จากปัจจุบัน
ในความเห็นของผมเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนมาก หลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมจากพลวัตของสามปัจจัยขับเคลื่อน คือ เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอกว่าเดิม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน และบทบาทของเทคโนโลยี นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ซึ่งจะกระทบการทำธุรกิจและตลาดการเงินโลกอย่างสำคัญ โดยเป็นผลจากสามปัจจัยที่จะเปลี่ยนรูปแบบหรือระเบียบของเศรษฐกิจการเงินโลกหลังโควิด
ปัจจัยแรกคือ เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอกว่าเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิดกระทบเศรษฐกิจทั่วโลกรุนแรง ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิต ผลกระทบนี้จะมีต่อเนื่องถึงอนาคต ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกหดตัวร้อยละ 3.3 ปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 6 แต่ปีหน้าการขยายตัวจะลดลงเหลือร้อยละ 4.4 ขณะเดียวกันวิกฤติโควิดก็ทำให้การกระจายรายได้ในเกือบทุกประเทศแย่ลง ส่งผลให้การฟื้นตัวในแต่ละประเทศแตกต่างกันมากทั้งจากความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนและกำลังซื้อของประชาชน ที่เห็นชัดคือ การฟื้นตัวในแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะเป็นแบบตัวอักษร K คือ มีสาขาเศรษฐกิจบางสาขา เช่น อุตสาหกรรม ก่อสร้าง เทคโนโลยี การเงิน ที่จะนำและได้ประโยชน์จากการฟื้นตัว ขณะที่สาขาบริการและท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานรายได้และฐานการจ้างงานของคนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวช้า ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเปราะบาง กระจายประโยชน์ไม่ทั่วถึง และเป็นการฟื้นตัวที่คนส่วนใหญ่ขาดกำลังซื้อ
ด้านการผลิต ผลของโควิดที่มีต่อการหยุดงานเป็นเวลานานของแรงงาน ผลต่อการหยุดเรียนของนักศึกษาและเยาวชน ผลต่อการปิดกิจการของบริษัทและหนี้ภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และผลต่อห่วงโซ่การผลิตที่บริษัทต้องหันมาพึ่งวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากภายในประเทศและประเทศใกล้เคียงมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แก้ไม่ได้ในเวลาอันสั้น ผลคือความสามารถในการผลิตของเศรษฐกิจโลกจะต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง ที่สำคัญ เศรษฐกิจโลกหลังโควิดก็จะเจอกับปัญหากีดกันทางการค้าอีก เพราะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้หายไปในช่วงโควิดและมีแนวโน้มจะกลับมารุนแรงขึ้นหลังโควิด เพราะนโยบายของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้ลดราวาศอกกับจีนในนี้ ทำให้เศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะเผชิญกับปัญหากีดกันทางการค้าที่อาจหนักกว่าเดิม
สิ่งเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะอ่อนแอกว่าช่วงก่อนโควิด คือ ศักยภาพการผลิตและการขยายตัวลดลง ขณะที่ความไม่แน่นอนที่กระทบธุรกิจก็จะมีมาก ทั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าและข้อพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีนที่คาดกันว่าจะขยายวงหลังโควิด
ปัจจัยที่สอง คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน เทียบระหว่างสหรัฐกับจีน วิกฤติโควิดแสดงชัดเจนถึงความสามารถของจีนในการแก้ปัญหาที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีกว่าสหรัฐ สามารถผลิตวัคซีนได้ทันเวลา และเกือบเป็นเศรษฐกิจเดียวในโลกที่ปีที่แล้วมีการขยายตัว ความสำเร็จนี้ทำให้บทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ระดับรายได้ประชาชาติของจีนปี 2020 ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 71 ของรายได้ประชาชาติของสหรัฐ จากร้อยละ 66 ปี 2019 ซึ่งจีนมั่นใจว่าเศรษฐกิจจีนจะตามทันเศรษฐกิจสหรัฐในแง่รายได้ประชาชาติในอีก 10 ปีข้างหน้า
ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้จีนมีความชอบธรรมที่จะแสดงบทบาทใหม่ในเศรษฐกิจโลกอย่างเปิดเผยในฐานะประเทศผู้นำ ที่จะทวงสิทธิภาวะผู้นำโลกทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ บนพื้นฐานความเข้มแข็งที่จีนมีในทั้งสามมิติคือ เศรษฐกิจ การทหารและเทคโนโลยี แต่บทบาทใหม่ของจีนต้องมาพร้อมกับความถดถอยในภาวะผู้นำของสหรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือประเด็นที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนเพิ่มมากขึ้นหลังโควิด
มีการวิเคราะห์ว่า การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐคราวนี้จะไม่เหมือนสมัยสงครามเย็นที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตสมัยนั้นแข่งขันกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การทหาร อวกาศ เทคโนโลยี และการขยายลัทธิการเมือง นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด แต่คราวนี้จะเป็นการแข่งขันเฉพาะในพื้นที่ที่จีนเลือกจะแข่งและเป็นพื้นที่ที่จีนทำได้ดี เช่น การแก้ปัญหาโควิด การลดความยากจน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี 5จี ระบบการชำระเงินและการค้าระหว่างประเทศ เป็นการแข่งขันเพื่อแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของจีนในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเป็นหลัก เพื่อลดทอนและตั้งรับนโยบายของสหรัฐและประเทศอุตสาหกรรมแนวร่วมที่ต้องการโดดเดี่ยวจีน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนจะขยายวงหลังโควิดและจะมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อการทำธุรกิจทั่วโลก
ปัจจัยที่สาม คือ เทคโนโลยี การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนลึกๆ แล้วคือการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่ต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นที่หนึ่ง เพราะเทคโนโลยีตอบโจทย์ทั้งหมดให้กับการเป็นประเทศผู้นำ คือในแง่เศรษฐกิจ เทคโนโลยีเป็นที่มาของความมั่งคั่งของประเทศ เพราะคนทั่วโลกมีแต่จะพึ่งพาและใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีมากขึ้น เทคโนโลยีเป็นที่มาของสมรรถภาพด้านการทหาร เพราะสนามรบสุดท้ายจะไม่อยู่บนดินแต่จะอยู่ในโลกไซเบอร์ ที่แพ้ชนะกันด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ท้ายสุดเทคโนโลยีเป็นที่มาของความสามารถในการควบคุมข้อมูลและใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์เพื่อขยายและรักษาอิทธิพลของประเทศผู้นำ รวมถึงควบคุมพฤติกรรมต่อต้านหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติและความรู้สึกที่คนทั่วโลกมีต่อประเทศผู้นำ เหล่านี้คือความสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีเป็นสนามรบแท้จริงของสองประเทศมหาอำนาจ
นี่คือสามปัจจัยที่จะมีผลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกหลังโควิด และพลวัตของสามปัจจัยนี้จะกำหนดโอกาสและความเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกผ่านลักษณะของโลกาภิวัตน์ที่จะเกิดขึ้นภายใต้ความขัดแย้งและการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งถ้าสังเกตจากพัฒนาการล่าสุด เช่น ความต้องการของจีนที่จะสร้างห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศแทนห่วงโซ่ที่กระจายไปทั่วโลก เพื่อให้จีนสามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในแง่อุปสงค์และอุปทาน การสร้างข้อจำกัดให้กับบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐในการระดมทุนและโอนเงินกลับประเทศ และการรวมตัวของประเทศต่างๆ ในรูปกลุ่มการค้าเสรีที่ได้แบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน เห็นได้ว่าระบบโลกาภิวัตน์ที่เคยเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกกำลังถูกกดดันให้แบ่งเป็นสองขั้ว ขั้วหนึ่งกับสหรัฐ ขั้วหนึ่งกับจีน รวมถึงเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ขนาดหรือตลาดการค้าโลกหดตัว และกดดันให้ประเทศในภูมิภาคเดียวกันจับกลุ่มค้าขายระหว่างกันมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถือข้าง ผลคือระบบโลกาภิวัตน์จะอ่อนแอกว่าเดิม
นี่คือหน้าตาของเศรษฐกิจโลกหลังโควิดที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านของศูนย์อำนาจในโลกจากระเบียบศูนย์อำนาจภายใต้ประเทศผู้นำเดียว (Unipolar Order) ที่เคยมี ไปสู่ระเบียบศูนย์อำนาจหลายผู้นำ (Multipolar Order) ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นศูนย์กลาง.