กำราบวิตกจากโควิด
ในยามที่โควิดระบาดเช่นทุกวันนี้ ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ มีความกังวลใจ รู้สึกหวาดหวั่นหงุดหงิด ไม่ค่อยมีความสุขกับชีวิตเหมือนก่อน ฯลฯ ไม่ต้องตกใจ
เพราะมีเพื่อนอีกมากมายที่รู้สึกเหมือนท่าน ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของเราดีขึ้นอาจช่วยให้คุณภาพชีวิตไม่ลดลงไปมากก็เป็นได้ มนุษย์มีความสามารถที่น่าอัศจรรย์ในการคาดเหตุการณ์ในอนาคต “การคิดไปข้างหน้า” ช่วยให้สามารถคาดคะเนอุปสรรคหรือปัญหาและทำให้มีโอกาสที่จะวางแผนแก้ไข หากการ “คิดไปข้างหน้า” ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายก็นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น ล้างมือบ่อย ๆ รักษาระยะห่างและใส่หน้ากากอนามัย ช่วยให้ป้องกันติดเชื้อโควิด
อย่างไรก็ดีความวิตกกังวลซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ “การคิดไปข้างหน้า” หากมีมากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกกระวนกระวายวิตกกังวล และหวาดหวั่นจนชีวิตขาดความสุข
จินตนาการในทางร้าย ผลักดันให้ความกังวลพุ่งขึ้น และหากไม่มีการควบคุมก็จะนำไปสู่การคิดในทางร้ายสุด ๆ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย ปวดเนื้อตัวและกล้ามเนื้อ กระวนกระวายใจและไม่สามารถผ่อนคลายได้ นักจิตวิทยาพบว่า 3 สิ่งที่จุดให้ผู้คนเกิดความรู้สึกวิตกกังวล ก็คือ (1) ความกำกวม หมายถึงการขาดความแน่ชัดจนสามารถตีความได้หลายลักษณะ (2) ความแปลกและใหม่หมายถึงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจนไม่สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้วมาใช้ประโยชน์ได้ (3) การคาดคะเนไม่ได้ หมายถึงการไม่รู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น
การระบาดของโควิดมีครบทั้ง 3 เงื่อนไขจึงทำให้ผู้คนทั่วโลกเกิดความรู้สึกวิตกกังวลอย่างเสมอหน้า เชื้อโควิด-19กลายพันธุ์ไปได้หลายรูปแบบและหลากพิษสง ไม่อยู่นิ่งและไม่ลงตัวไปชัด ๆ ยาที่รักษาโรคก็ไม่เห็นพ้องกันว่าควรเป็นยาอะไร ยิ่งวัคซีนแล้วยิ่งปวดหัว ว่ากันไปคนละทางจนไม่รู้ว่าอะไรคือข้อสรุป แถมโรคนี้ก็แปลกและใหม่มาก ไม่มีประสบการณ์เดิมมากเพียงพอที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ และสุดท้ายไม่มีใครรู้ว่ามันจะจบลงเมื่อใด อย่างไร และมีผลกระทบต่อผู้คนมากน้อยเพียงใด
ความไม่ชัดเจนบวกการขาดประสบการณ์ที่จะมาช่วย และการไม่สามารถพยากรณ์ได้จึง ทำให้เกิดความเครียด เกิดความวิตกกังวลอย่างมากไปทั้งโลก นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อผู้คนในเรื่องรายได้ การมีงานทำ หนี้สิน การประคับประคองธุรกิจและชีวิตให้พออยู่รอดไปได้อย่างไม่รู้ว่าจะเป็นเวลายาวนานเพียงใด
นอกจากนี้ยังมี 3 เหตุผลที่ทำให้การระบาดของโควิดฝังอยู่ในจิตวิทยาแห่งความหวาดกลัวเป็นพิเศษ อันได้แก่ (ก) มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นที่อยู่ได้ในทุกสถานที่และพร้อมที่จะเป็นพิษภัยแก่ตัวเรา (ข) สามารถติดจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดายในทุกโอกาสและ (ค) การติดเชื้ออาจเกิดเมื่อใดก็ได้โดยเฉพาะในเวลาอันใกล้ สามสิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการคุกคามอยู่ตลอดเวลาจนกลายเป็นความวิตกกังวลว่าอาจติดเชื้อจนป่วยหรือตายได้ สำหรับบางคนที่มีความสามารถเป็นพิเศษในการจินตนาการด้านร้าย และควบคุมความคิดของตนเองได้น้อย ก็จะเกิดความวิตกกังวลมากกว่าคนปกติ จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากกว่าคนอื่น
เราจะแก้ไขปัญหาความวิตกกังวลอันเกิดจากการระบาดของโควิดได้อย่างไร? นักจิตวิทยาให้คำแนะนำ 5 ข้อ ดังนี้
(1) ยึดวิทยาศาสตร์เป็นหลัก อย่าสนใจคำพูดหรือข่าวที่ไปทางดราม่าในสื่อโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเพราะความจริงมักถูกปิดบัง บิดเบือน หรือเว่อร์อยู่บ่อยๆ จงให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์ที่มาจากแหล่งทางการที่เชื่อถือได้เพื่อจะไม่รู้สึก ทุกข์ใจ สับสน และท้อแท้
(2) ตัดขาดแต่ไม่ห่างไกล ป้องกันตนเองด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคมอยู่เสมอ โดยไม่ตัดขาดจากเพื่อนและคนที่เรารัก โลกสมัยใหม่ทำให้เราสามารถมีร่างกายที่อยู่ห่างไกลแต่ใจอยู่ชิดกันได้ การมีเพื่อนในยามนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะจักได้เรียนรู้ว่าคนอื่น ๆ ก็มีชีวิตที่ไม่เป็นปกติและมีความวิตกกังวลไม่ต่างไปจากเราเช่นกัน
(3) เน้นกลุ่มใกล้ตัว เน้นกลุ่มคนที่ใกล้ตัว ไม่ว่าครอบครัวหรือชุมชน ต้องตระหนักถึงผลที่จะเกิดใกล้ตัวเสมอ เช่น การทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกที่ดีจากคำพูดที่ให้กำลังใจ การช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการให้เวลา ทรัพยากร เงินทอง ความสนใจฯลฯ
(4) ฝึกฝนดูแล ดูแลตนเองเป็นอย่างดี กินอาหารถูกหมู่ พักผ่อนเพียงพอ ออกกำลังกาย และมีพฤติกรรมที่ดีในการดูแลตนเอง เช่น ห่างจากบุหรี่ แอลกอฮอร์ หรือยาเสพติด ที่เชื่อว่าช่วยลดความเครียด
(5) หาความหมาย โควิดทำให้บางคนรู้สึกว่าสูญสิ้นความสามารถในการควบคุมสรรพสิ่ง ตนเองอยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้นจงแก้ไขด้วยการหาอะไรที่สามารถควบคุมได้มาทำเช่น ปลูกดอกไม้ อ่านหนังสือ วาดรูป ระบายสีรูป งานศิลปะ ปรุงอาหาร ต่อจิ๊กซอ ฯลฯ เพื่อให้รู้สึกว่าสามารถทำบางสิ่งได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ การกระทำเช่นนี้ก็คือการแสวงหาความหมาย ซึ่งจะช่วยให้ลดความรู้สึกกระวนกระวายและลดความรู้สึกวิตกกังวลลงได้
ความรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวลในเวลานี้นั้นโดยแท้จริงแล้วคนอื่น ๆ ในโลกก็ประสบเช่นเดียวกับเรา ไม่มีใครหลุดรอดไปได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ประสบเดียวกันอย่างไร ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ในยามนี้คนไทยจำนวนมากมีความวิตกกังวลสูง มีความหวาดหวั่นว่าจะเจ็บป่วย กังวลเรื่องปากท้อง เรื่องหนี้สิน เรื่องการปรับตัวหลังโควิดระบาด ฯลฯ จนมีความเครียดสูง หงุดหงิดง่าย และมีความอดทนต่อสิ่งปลุกเร้าต่ำ พูดง่ายๆก็คือฟิวล์ขาดง่าย
ดังนั้น ทุกคนต้องอดทน ดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังทั้งในเรื่องกาย วาจาและใจ (มารยาทในการใช้ถนน อากัปกิริยาและคำพูดที่สุภาพไม่ก้าวร้าวจะช่วยได้มาก) ความรุนแรงต่อชีวิตเห็นกันอยู่ทุกวันในสื่อ น่าคิดว่าทำอย่างไรเราจึงจะไม่เป็นเหยื่อภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าแตกต่างจากที่เคยเป็นมาในสังคมไทย
โดยปกติชีวิตมนุษย์ก็เปราะบางอยู่แล้ว สถานการณ์ในช่วงเวลานี้ทำให้มันเปราะบางยิ่งขึ้นดังนั้นการดำเนินชีวิตอย่างทะนุถนอมความเปราะบางจึงต้องกระทำด้วยความเป็นพิเศษอย่างยิ่ง.