'ทุน Chevening' สุดยอดทุนรัฐบาลอังกฤษ
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 415,000 โดสที่สหราชอาณาจักรบริจาคให้ไทยได้ มาถึงแล้ว ถือเป็นอีกหนึ่งน้ำใจมิตรประเทศตะวันตก มีสัมพันธ์มาอย่างยาวนาน
เดือน ส.ค.นี้ ถือเป็นเดือนที่มีความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร เพราะนอกจากเรื่องของการบริจาควัคซีนแล้ว ยังมีเรื่องของเอกอัครราชทูตคนใหม่ของอังกฤษประจำประเทศไทยและการมอบทุนการศึกษาของรัฐบาลอังกฤษหรือทุนชีฟนิ่ง (Chevening Scholarship) ที่มีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี
Chevening Scholarship หรือทุนชีฟนิ่งถือเป็นทุนการศึกษาของรัฐบาลสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ที่มอบให้แก่นักศึกษาในระดับปริญญาโททั่วโลก
ทุนชีฟนิ่งซึ่งในขณะนี้ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจที่จะศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร ถือเป็นทุนให้เปล่าที่ดำเนินการโดยกระทรวงต่างประเทศอังกฤษในการคัดสรรผู้ที่มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำและคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขางานนั้น ๆ เพื่อมาศึกษาต่อยอดในระดับปริญญาโทในสหราชอาณาจักรและเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยและนานาประเทศ
ในปัจจุบันทุนชีฟนิ่งถือเป็นทุนอันดับหนึ่งของอังกฤษเทียบชั้นเดียวกับทุนฟูลไบรท์ของสหรัฐและทุนมงบุโชของญี่ปุ่น เพราะนอกจากจะเป็นทุนให้เปล่าคือให้ฟรีโดยไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ไม่ต้องใช้ทุน ถือเป็นทุนเต็มจำนวนที่ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายตั้งแต่การขอวีซ่า การเดินทางไปกลับ ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่ากิจกรรมในนามของทุน และเหนือสิ่งอื่นใดคือเครือข่ายนักเรียนทุนในประเทศของตนเองและทั่วโลกซึ่งมีมากกว่า 50,000 คน
ทุนชีฟนิ่งถือเป็นทุนที่เปิดกว้างและให้โอกาสกับทุกคนในสังคม สังเกตจากหลักเกณฑ์ที่ไม่มาก ทุนชีฟนิ่งไม่ใช่ทุนสำหรับวิชาการดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีเกรดเฉลี่ยที่สูงลิ่วแต่ทุนให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสังคมและประสบการณ์การทำงานดังนั้นจึงมีเกณฑ์เรื่องของประสบการณ์ทำงานในสาขาวิชาชีพอย่างน้อย 2 ปี และคำมั่นสัญญาใจที่จะกลับมาพัฒนาประเทศบ้านเกิดหลังจากที่จบการศึกษาที่ได้ไปเก็บเกี่ยวหาประสบการณ์จากประเทศแม่แบบประชาธิปไตยและการดำเนินชีวิตอย่างอารยะในพหุสังคม
ทุนชีฟนิ่งถือเป็นทุนที่เปิดกว้างกับทุกคนในสังคมที่สะท้อนความเป็นพหุสังคมของประเทศอังกฤษได้อย่างดี สังเกตได้จากความหลากหลายของนักเรียนทุน ทุนชีฟนิ่งไม่กีดกันชนชาติ เชื้อชาติ หรือสีผิว เช่นเดียวกับเพศสภาพ หรืออาชีพความเชี่ยวชาญ นักเรียนทุนในอดีตแค่เฉพาะในประเทศไทยอย่างเดียวก็มีทั้งสตรีข้ามเพศ พระสงฆ์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจหรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชน
ทุนชีฟนิ่งเน้นความหลากหลายโดยมอบทุนสาขาวิชามากมาย อาทิ สิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ การเมืองและนโยบายสาธารณะ สื่อสารมวลชน บริหารธุรกิจ โดยมีเป้าประสงค์ให้ผู้ได้รับทุนกลับมาพัฒนาท้องถิ่นและเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ในสาขาที่ได้ร่ำเรียนมาระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร
เช่นเดียวกับทุนการศึกษาอื่น ๆ ทุนชีฟนิ่งนั้นถือเป็นหนึ่งใน Soft power หรืออำนาจอ่อนที่อังกฤษมีความพยายามแพร่ขยายอิทธิพลแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยและระบบการตลาดแบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับชนชั้นนำในวงการต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศของผู้ที่ได้รับทุนเพื่ออำนวยความสะดวกในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในประเทศและภูมิภาคนั้น ๆ
ในฐานะนักเรียนทุนคนหนึ่ง ผมจึงอยากจะเอาใจช่วยให้คนไทยได้รับโอกาสที่ดีนี้ เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศชาติ นำความรู้ที่ได้เรียนมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาประยุกต์เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชม สังคมและประเทศของเรา โดยท่านผู้อ่านสามารถศึกษารายละเอียดของทุนต่อได้ที่ https://www.chevening.org