อยากโต...ต้องก้าว

อยากโต...ต้องก้าว

ความหนักใจของคนเป็นพ่อแม่คือ การตัดสินใจเรื่องลูก เพราะมันไม่ง่าย บางเรื่องทางเลือกคือความปลอดภัย แต่บางเรื่องทางเลือกคือการเติบโต

ระหว่างนี้ ผมกับพินกำลังจะเดินทางไปแคนาดา ย้อนเล่าถึงตอนที่เคยเขียนถึงลูกสาวคนนี้ไว้ในเล่ม ปรับสมอง เปลี่ยนชีวิต พิชิตเป้าหมาย (2016 เนชั่นบุ๊คส์) สักนิด

สวัสดีค่ะ หนูชื่อเด็กหญิง เพียงเธอ ธำรงนาวาสวัสดิ์

 "เอ่อ... คุณพยาบาลครับ ผมหาลูกไม่เจอน่ะครับ ไม่ทราบน้องอยู่ไหน?"  ผมถามพยาบาลในห้องเด็กแรกเกิด ข้างนอกพี่ชายและพี่สะใภ้ยืนรอเยี่ยมหลานสาวตัวน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่ถึงชั่วโมง

“คุณพ่อชื่ออะไรนะคะ?” คุณพยาบาลถาม ก่อนหันไปหาเพื่อนร่วมงานข้างๆ ทั้งคู่ซุบซิบกันอยู่พักหนึ่ง “อ๋อ... เคสนี้ไงเธอ” ผมได้ยินแว่วๆ พร้อมท่าทางโบ้ยไปด้านหลัง มองตามไปเห็นห้องกระจกที่มีหมอและพยาบาลวิ่งกันวุ่นวาย ใจผมวูบดิ่งเหมือนพื้นที่ยืนอยู่แยกจากกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นคืนนั้นคือน้องพินหยุดหายใจเพราะเลือดออกในสมองจากการใช้เครื่องมือช่วยคลอด คุณพยาบาลหันมาเห็นพอดีตอนน้องชักเกร็ง สุดท้ายคุณหมอต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เจ้าตัวเล็กใช้ชีวิตอยู่ใน NICU อีกสองอาทิตย์กว่า เมื่อกลับมาอยู่บ้าน ผมกับเพชรยังต้องให้ยากันชักต่อเนื่องมาอีกร่วมสามเดือน

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 14 ปีแล้ว เวลาผ่านไปไวอย่างไม่น่าเชื่อ

“พิน พ่อกับแม่มีเรื่องจะคุยด้วย” ผมและเพชรเข้าไปหาลูกสาวก่อนนอน เราเล่าให้เธอฟังถึงโอกาสของการไปเรียนต่อที่แคนาดา เป็นโรงเรียนประจำชื่อ Brentwood College School อยู่บนเกาะแวนคูเวอร์ ใกล้กับเมืองหลวงวิคตอเรีย

“ถ้าหนูไป ก็จะมีโอกาสได้เข้าเรียนกับเพื่อนๆ ตามปกติ ไม่ต้องเรียนออนไลน์อย่างที่นี่” เพชรอธิบาย

“แม่ไม่รู้ว่าสถานการณ์ของมาเลเซียในเดือนสิงหาคมปีหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้ายังต้องนั่งเรียนอยู่บ้าน ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเลย ก็คงแย่ จริงไหม?” ภรรยาผมราวกับรู้อนาคตว่า เดือนสิงหา 2564 นี้ มาเลย์มีเคสใหม่วันละสองหมื่นย่ำแย่หนักลงไปอีก

“พ่อไม่กังวลเลยว่าพินจะดูแลตัวเองได้ไหม เพราะถ้าพูดกันตรงๆ พินเป็นผู้ใหญ่ มีความพร้อม มีความคิดความอ่านดีกว่าตอนพ่อไปสักพันเท่าได้” ผมหมายถึงตนเองตอนจากบ้านไปในวัยไล่เลี่ยกัน

“มันจึงอยู่ที่ว่า หนูจะตัดสินใจอย่างไร” เราทั้งคู่สรุป

 ข้อคิดของผู้นำสมอง

1. สมองมนุษย์มีช่วงเวลาเติบโตแบบก้าวกระโดดสองครั้ง ครั้งแรกยามเป็นเด็กเล็ก อายุสัก 4-6 ปี ใยสมองจะพุ่งกระฉูด อยากรู้อยากเห็นไปเสียทุกเรื่อง เป็นที่มาของอาการ ‘เจ้าหนูจัมมัย (ทำไม)’ ซึ่งพ่อแม่ทุกคนรู้จักดี ส่วนครั้งที่สองของการก้าวกระโดดนี้ คือช่วงเวลาประมาณ 13-16 ปี ที่สมองจะพุ่งกระฉูดไม่ต่างกัน เป็นส่วนหนึ่งของอาการ ‘วัยรุ่น’ ซึ่งสังคมและสิ่งแวดล้อมมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาในช่วงนี้ (ท่านใดสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ในหนังสือ Brain Rules for Babies โดย Dr. John Medina ครับ)

2. ความเครียดแบบสะสม ข้อนี้เคยเขียนไว้และเพิ่งเขียนถึงไปเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว การอยู่อย่างอบอุ่นในครอบครัวนั้นเป็นเรื่องดี แต่พอนานไปความอุ่นเริ่มกลายเป็นร้อน สมองที่แช่อยู่กับฮอร์โมนความเครียดเรื่องโควิดเริ่มแย่ ยิ่งไม่มีทางให้กำจัดได้ด้วยการเล่นและการออกกำลัง สังเกตได้คือความสามารถในการควบคุมอารมณ์ลดลง ลูกสาวและลูกชายทะเลาะกันด้วยเรื่องไร้สาระมากขึ้นทุกวัน 

3. อยากโตต้องก้าว ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุดต่อการตัดสินใจเรื่องนี้ BASE Model บอกว่าสมองจะพยายามเรียบเรียง ความคิด (Belief) การกระทำ (Action) สังคม (Social) และ สิ่งแวดล้อม (Environment) ให้สอดคล้องกัน เพราะนั่นคือความสุข แต่ความสุขไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีเสมอไป มันนำมาสู่ Complacency ความเฉื่อย และ Comfort Zone ด้วยเช่นเดียวกัน พินอยู่มาเลเซีย อยู่โรงเรียน ISKL นี้มาสี่ปีแล้ว ถึงเวลาต้องขยับ BASE และก้าวออกไปเพื่อท้าทายการเติบโตของตัวเอง

“หนูคิดว่า หนูเบื่อการเรียนออนไลน์เต็มทีแล้ว ถ้าไปแคนาดาทำให้หนูได้เจอครู ได้เจอเพื่อน ได้เล่นบาส หนูว่าก็น่าจะดี” พินบอกหลังจากนอนคิดอยู่คืนหนึ่ง

“ที่สำคัญ หนูยังไม่เคยไปแคนาดา ไม่เคยไปทวีปอเมริกาเลย จะได้ไปเรียนรู้ว่าที่นั่นต่างจากที่อื่นๆ อย่างไร”

พ่อกับแม่แอบถอนหายใจทั้งคู่ ส่วนหนึ่งก็ดีใจในคำตอบของลูกสาว แต่อีกส่วนหนึ่งก็ใจหายที่ลูกนกตัวน้อยจะกางปีกออกบินจากรัง

อยากโตต้องก้าวใช่ไหมครับคุณผู้อ่าน?