4.อุตสาหกรรมไทย: โชติช่วงแต่ยังไม่ชัชวาล
ภาคอุตสาหกรรมของไทยเป็นภาคที่รัฐจงใจพัฒนาขึ้น โดยใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศและลงทุนในการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างมหาศาล
ภาคอุตสาหกรรมของไทยใช้การผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเป็นฐานในการสร้างอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคอุตสาหกรรมนั้นมีสัดส่วนใน GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 ในปี 2536 จนสูงสุดประมาณปี 2553 ที่ร้อยละ 36.7 และลดลงเป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2562 (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2564)
ภาคอุตสาหกรรมฤาจะเป็นความหวังของชาติ ในช่วงแรกๆ ของการพัฒนาอุตสาหกรรมแรงงานในภาคเกษตรถูกดูดซับโดยภาคอุตสาหกรรมมาจนถึงประมาณปี 2544 หลังจากนั้นการดูดซับแรงงานของภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างคงที่และลดลงเล็กน้อย
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยขยายตัวโดยอาศัยปัจจัยการผลิตพื้นฐานคือ แรงงานและทุนเป็นหลัก เช่น ใช้ปัจจัยทุนในช่วงก่อนปี 2540 ใช้แรงงานเป็นหลักช่วงหลังวิกฤติการการเงินเอเชีย และกลับมาใช้ทุนอีกครั้งหนึ่งหลังปี 2546 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เกิดจากการย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมชะงักลงชั่วคราว
เมื่อประเทศไทยใช้นโยบายจำนำข้าว ทำให้แรงงานถูกดึงดูดออกจากภาคการผลิตกลับไปสู่ภาคเกษตร แต่เมื่อนโยบายจำนำข้าวสิ้นสุดลงแรงงานก็ไม่ได้กลับไปที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอีก แต่กลับเข้าไปสู่ภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมจึงดูเหมือนจะเป็นแค่ตัวช่วยชั่วคราวสำหรับเศรษฐกิจไทย
ตามทฤษฎีของการเจริญเติบโตนั้น ประเทศจะไม่สามารถเจริญอย่างก้าวกระโดดได้หากอาศัยแต่เพียงทุนและแรงงานเท่านั้น แต่จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ เช่น นวัตกรรมการผลิตทั้งจากด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านการจัดการ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระเบียบกฎหมายหรือนโยบายซึ่งตัววัดปัจจัยเร่งการเจริญเติบโตที่เป็นปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทุนหรือแรงงานนี้เรียกรวมๆ ว่าผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP)
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ผลิตภาพการผลิตรวมของไทย TFP ซึ่งวัดจากปัจจัยขับเคลื่อนนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง การศึกษา TFP ในระดับอุตสาหกรรมไทยพบว่า อุตสาหกรรมที่มี TFP เพิ่มขึ้นจากปี 2549 มีเพียง 4 กลุ่มคือ วัสดุรีไซเคิล ยาสูบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทีวีและอุปกรณ์โทรคมนาคม (อาชว์ ปวีณวัฒน์, ฐิติมา ชูเชิด และนครินทร์ อมเรศ, 2561)
การศึกษาของสถาบันวิจัยป๋วย อึ้งภากรณ์ ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าโครงสร้างการผลิตทางอุตสาหกรรมที่พิจารณาจากข้อมูลส่งออกในช่วงปี 2544-2559 สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น มีความซับซ้อนเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย
โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญมากขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกเคมีและผลิตภัณฑ์จากยางพารา อย่างไรก็ดี ความสำเร็จนี้กระจุกตัวอยู่ในบริษัทส่วนน้อย และบางบริษัทก็มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะเติบโตและยังกระจุกตัวอยู่ในบางจังหวัด ได้แก่ ระยอง กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยุธยา ฉะเชิงเทรา
การศึกษาสัดส่วนมูลค่าเพิ่มต่างประเทศต่อในประเทศของสินค้าส่งออก พบว่า การส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์จากผู้ผลิตต้นน้ำ แม้ว่าเราจะสามารถผลิตสินค้าชั้นกลางที่ซับซ้อนได้ เป็นเพราะเรานำเข้าปัจจัยการผลิตที่ซับซ้อนขึ้นเป็นผลมาจากการเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของโลก แต่กลับไม่สามารถสร้างนวัตกรรมของตัวเองเพื่อต่อยอดหรือกระจายผลประโยชน์ (Spillover effect) เข้าไปในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นการเติบโตแบบเทพอุ้มชูที่เกิดจากการอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบรรษัทข้ามชาติ แต่ไม่ใช่การเติบโตแบบระเบิดจากข้างในหรือ Inside out (สมประวิณ มันประเสริฐ และก้องภพ วงศ์แก้ว, 2562)
การที่ไทยไม่สามารถยกระดับการผลิต เพราะแรงงานไทยมีผลิตภาพการผลิตต่ำ ขาดการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ผลผลิตจากการลงทุนด้านการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ระบบโลจิสติกส์ยังต้องพัฒนา ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุน (ADB, 2015)
อุตสาหกรรมไทย แท้จริงไม่ชัชวาล ส่วนวิจัยกรุงศรีได้จัดทำดัชนีวัดศักยภาพของอุตสาหกรรมโดยเปรียบเทียบ 64 ประเทศซึ่งครอบคลุมการค้าประมาณร้อยละ 93 ของการค้าโลกทั้งหมดเพื่อวัดความสามารถในการแข่งขันเชิงคุณภาพและเชิงผลลัพธ์โดยดูจากผลิตภาพแรงงาน สัดส่วนการส่งออก มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม และมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศ
การศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพอุตสาหกรรมอยู่ในอันดับที่ 35 และมีอุตสาหกรรมไทยที่ติด 1 ใน 15 อันดับ ของโลกอยู่ 7 อุตสาหกรรมด้วยกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นน้ำมัน (อันดับ 9) อุตสาหกรรมยางและพลาสติก (อันดับ 9) อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม (อันดับ11) อุตสาหกรรมสุขภาพ (อันดับ 11)
อุตสาหกรรมนันทนาการ (อันดับ 13) อุตสาหกรรมค้าปลีกและ
ค้าส่ง (อันดับ 14) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (อันดับ 15) ส่วนอุตสาหกรรมไทยที่ติด 3 ลำดับสุดท้าย ได้แก่อุตสาหกรรมก่อสร้าง (อันดับ 64) อุตสาหกรรมการศึกษา (อันดับ 60) และอุตสาหกรรมไอที (อันดับ 61)
ที่น่าสนใจกว่านี้ก็คือมีประเทศในอาเซียนอื่นๆ ที่มีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพโดดเด่นจนติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เช่น เวียดนามในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ สิงคโปร์ในกิจการเกี่ยวกับการเงินและคอมพิวเตอร์ อินโดนีเซียจะชำนาญเป็นลำดับ 5 เรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเรามักจะคิดว่าไทยเป็นเอกในอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่น เวียดนามและกัมพูชาซึ่งจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันได้ยากขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า (วิจัยกรุงศรี, กรกฎาคม 2564)
ก๊าซในอ่าวไทยจะเริ่มหมดลงภายในประมาณ 15 ปีข้างหน้านี้ รัฐบาลไทยยังคงฝากความหวังไว้กับการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ใหม่ในภาคตะวันออกที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นประเทศที่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยมีอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้นวัตกรรมการวิจัยเป็นฐาน โดยตั้งเป้าการจัดสรรงบประมาณสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท
แต่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่จะสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิตแบบเดิมๆ ที่ผู้ประกอบการไทยมีความถนัดอีกต่อไป แต่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมและบุคลากรด้านดิจิทัลในอุตสาหกรรมยุคใหม่ของไทยมีน้อยมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตประเภทไฮเทค การดึงดูดแต่ทุนอย่างเดียวให้ลงที่ EEC จึงไม่น่าจะเพียงพอ รัฐอาจมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศและต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในเมืองในปัจจุบันให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 ที่อาศัยนวัตกรรมและความรู้ ใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ต้องอาศัยแรงงานไร้ทักษะต่างชาติ
ยิ่งอุตสาหกรรมการศึกษาของไทยอยู่ในลำดับที่ 60 จาก 76 อันดับของโลก ความต้องการบุคลากรต่างชาติก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น!