Soft Power Diplomacy : เชื่อมไทยสู่โลก โลกสู่ไทย
“Soft power” หรือ “อำนาจอ่อน” พูดถึงมากในช่วงนี้ อาจเพราะปรากฏการณ์ “ลิซ่า” ลลิษา วงแบล็คพิงค์ ปล่อยซิงเกิ้ลที่มีผู้ชมทั่วโลกทุบสถิติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า soft power มีความหมายและเป็นเครื่องมือสำคัญดำเนินนโยบายต่างประเทศ
Soft power ถูกนิยามเป็นครั้งแรกปี 1990 (พ.ศ.2533) โดย ศจ. โจเซฟ ไนย์ บอกว่า เป็นความสามารถเพื่อจูงใจให้ได้สิ่งต้องการ โดยการโน้มน้าว
ตรงกันข้ามกับการใช้อำนาจบังคับหรือ hard power เพื่ออธิบาย “อำนาจ” ของสหรัฐ ดูเหมือนลดลง เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ กว่า 2 ทศวรรษหลังสงครามเวียดนาม
ที่มา soft power มี 3 ส่วนคือ วัฒนธรรม, อุดมการณ์หรือค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยม, และนโยบายต่างประเทศ ตามตรรกะของศจ.ไนย์ ชี้แท้ที่จริงแล้ว อำนาจสหรัฐมิได้ลดลง
มาถึงปัจจุบัน อิทธิพลหรือความนิยมต่อสินค้า และการบริการต่างๆ ของสหรัฐ ตลอดจนค่านิยมประชาธิปไตยร่วมกับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับการเชื่อถือทั่วโลก
ไทยมีบทบาทเชิงรุกมานานก่อนการนิยาม soft power เพื่อส่งเสริมความนิยมไทยในหลายมิติ อาทิ โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการ Thai Select การจัดงานเทศกาลไทยในมหานครต่าง ๆ ทั่วโลก งานเทศกาลไทยมีผู้เข้าชมเรือนแสนคนและได้รับการจัดอยู่ในปฏิทินประจำเมืองต่าง ๆ อาทิ มวยไทย ภาษาไทย นาฏศิลป์ไทย
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนของไทย วงการศิลปินและอื่นๆ ก็สร้างสรรค์ผลงานรวมทั้งภาพยนตร์ ละครที่มีแฟนคลับติดตามในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ประเทศเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ในละตินอเมริกา กล่าวได้ว่า ความนิยมไทย ไม่เคยเกิดจากสุญญากาศ
ในทางการทูต ไทยใช้ soft power โดยเฉพาะ “การทูตวัฒนธรรม” และ “การทูตสาธารณะ” ผ่านภูมิปัญญา สินค้าและบริการ อาจมีหลากมิติและรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้
1.นิสัยใจคอคนไทย ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศมีพื้นฐานจากความเป็นมิตร มีเมตตา เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง การต้อนรับขับสู้และทัศนคติที่รักสนุกเรียบง่ายที่มีให้คนต่างชาติของคนไทยส่วนใหญ่จนเป็นที่ทราบกันดี
2.วัฒนธรรมไทย ที่ผสมผสานจากวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมและอิทธิพลของต่างชาติมีความลึกและหลากหลาย เช่น ภาษา ดนตรีและศิลปะการแสดง ละครและภาพยนตร์ร่วมสมัย หัตถกรรมและผ้าไทย กีฬาไทยและกีฬาพื้นบ้าน หรือแม้แต่สายพันธุ์สัตว์เลี้ยง U.S. News & World Report จัดให้ไทยติดอันดับประเทศที่ทรงพลังทางวัฒนธรรมอันดับที่ 22 จาก 80 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียรองจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสิงคโปร์
3.การท่องเที่ยวไทย ก็มีชื่อเสียงมานานและมีนักท่องเที่ยวมากถึงเกือบ 40 ล้านคนต่อปีก่อนโควิด-19 เพราะลักษณะของประเทศไทยที่กล่าวข้างต้น แต่ทำเลที่ตั้งและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมการท่องเที่ยวด้วย Brand Finance องค์กรที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 33 ของ Global Soft Power Index 2021 โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศทุกวัย และอยู่ในกลุ่มประเทศที่น่าเยือนมากที่สุดในเอเชีย
4. ด้านอาหารไทย ก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก CNN Travel จัดอันดับให้มัสมั่น ต้มยำกุ้ง และส้มตำ ติดอันดับ 50 รายการอาหารที่ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องกันหลายปี อาหารไทยได้รับความนิยมไปทั่วโลกเพราะมีปัจจัยสำคัญหนึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของชุมชนไทยในต่างประเทศ
คนไทยเหล่านี้ ถือเป็น soft power เพราะนอกจากทำร้านอาหารแล้วยังมีจำนวนไม่น้อยทำอาชีพนวดไทย สปาไทย แพทย์ วิศวกรและธุรกิจสาขาต่าง ๆ และยังมีความผูกพันกับประเทศไทยและมีศักยภาพสูงที่จะนำเงินตราเข้าประเทศ
5.การทูตเศรษฐกิจ การทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทูตดิจิทัล รวมถึงการทูตวัคซีน รวมทั้งการมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพล้วนมีศักยภาพสูง
6.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็น soft power ที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศและภาคส่วนพันธมิตรรวมถึงภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ดำเนินการมาหลายทศวรรษ สร้างมิตรภาพให้ประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน แต่รวมถึงประเทศในแปซิฟิก เอเชียใต้และแอฟริกา
Soft power ของไทยมีศักยภาพสูงและหลากหลายที่ต้องส่งเสริมอีกมาก ตอนนี้อาจถึงเวลาแล้วที่จะจัดตั้งกลุ่มหรือสร้างเครือข่ายองค์กรที่มีการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อน soft power ของประเทศร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์และเป้าหมายเดียวกัน