หลังยุคโควิด พฤติกรรมการท่องเที่ยว จะเปลี่ยนไปอย่างไร? | พสุ เดชะรินทร์
คำถามสำคัญสำหรับทั้งคนในวงการท่องเที่ยวและคนทั่วไปในฐานะนักท่องเที่ยวคือ พฤติกรรมการท่องเที่ยว หลังยุคโควิด จะเปลี่ยนหรือไม่? จะเปลี่ยนไปเพียงใด? และ ในลักษณะใด?
สัปดาห์นี้ไทยเริ่ม เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาคนไทยก็เที่ยวในประเทศกันมากขึ้น และจากการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ โควิด ก็ทำให้แนวโน้มที่คนไทยจะกลับไป ท่องเที่ยว ต่างประเทศก็มีมากขึ้น Brian Chesky ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ AirBnB ได้ให้สัมภาษณ์ BBC ไว้ว่าโควิดทำให้พฤติกรรมในการทำงานของคนเปลี่ยนไป การทำงานจากที่ใดก็ได้ (Work from anywhere) ก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน
ในอดีตคนจะอาศัยอยู่ในบ้าน ไปออฟฟิศเพื่อทำงาน และไปท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน แต่ปัจจุบันทั้งสามสถานที่ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น นั้นคือสถานที่อยู่อาศัย ทำงาน และท่องเที่ยวพักผ่อนจะกลายเป็นสถานที่เดียวกัน จากข้อมูลการ จองที่พัก ผ่านทาง AirBnB จะเริ่มพบแนวโน้มของการ จองสถานที่พัก ที่ยาวนานขึ้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเดินทางไปท่องเที่ยวนั้น สถานที่ท่องเที่ยวจะไม่ใช่แค่เพื่อท่องเที่ยวอีกต่อไป แต่จะเป็นทั้งที่อยู่อาศัย (เป็นสัปดาห์หรือเดือน) และที่ทำงานไปพร้อมๆ กันด้วย
ในอีกมุมมองหนึ่ง บริษัทท่องเที่ยวอย่าง Expedia ของอเมริกา ได้ทำการวิจัยและพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น นักท่องเที่ยว จำนวนไม่น้อยที่ยินดีที่จะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อทำให้การเดินทางของตนเองเป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม มากขึ้น
ประเด็นที่ นักท่องเที่ยว เหล่านี้ให้ความสำคัญเมื่อพิจารณาตัดสินใจเลือก ทั้งเรื่องการเดินทางหรือที่พัก ประกอบไปด้วย การใช้ Single use plastics การ Recycle การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ที่ชาร์จรถไฟฟ้า หรือ การใช้ พลังงานหมุนเวียน และไม่น่าแปลกใจที่พบว่าความสนใจต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการท่องเที่ยวนั้นจะมีมากที่สุดในกลุ่มคนรุ่นใหม่
ทาง Traveloka แอปเพื่อการท่องเที่ยวชื่อดังของภูมิภาคนี้ก็ได้ประกาศถึงแนวโน้ม การท่องเที่ยวหลังยุคโควิด ไว้หลายประการ นอกจากเรื่อง Staycation ที่เหมือนกับทาง AirBnB แล้ว Traveloka ยังระบุถึงแนวโน้มใหม่ๆ ทางการเดินทางท่องเที่ยวอีก อาทิเช่น Touchless travel ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริการและอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ ของการเดินทางเพื่อการลดการสัมผัส และลดโอกาสในการติดเชื้อ Touchless travel สามารถนำมาใช้ได้ทั้งในการเช็คอิน ชำระเงิน ผ่านพิธีศุลกากร เปิดปิดประตูอัตโนมัติ เปิดก๊อกน้ำ หรือ แม้กระทั่งการทิ้งขยะ เป็นต้น
อีกแนวโน้มจาก Traveloka คือการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โควิดทำให้คนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับ สุขภาพจิต ที่ย่ำแย่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวแสวงหา การท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพ กันมากขึ้น
สุดท้าย Traveloka มองว่าแนวโน้มของการเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ยังบริสุทธิ์ ไม่มีคนพลุกพล่าน และเงียบสงบ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักกลางทุ่งนาหรือในภูเขาที่เงียบสงบ หรือ ชายหาดที่ไม่มีคน ซึ่งนอกจากความสงบที่จะได้รับแล้วการไปสถานที่เหล่านี้ยังลดความเสี่ยงจากการพบเจอคนจำนวนมากและการติดเชื้อด้วย
อย่างไรก็ดีมองกันว่าการเดินทางเพื่อธุรกิจนั้น จะได้ผลกระทบมากกว่าการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวจาก ผลของโควิด จะทำให้การเดินทางเพื่อธุรกิจที่จะลดน้อยลง จากอดีตที่ต้องเดินทางข้ามประเทศหรือข้ามทวีปเพื่อเจอคู่ค้า เข้าร่วมประชุม สัมมนา แต่อนาคตก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเมื่อทุกคนคุ้นเคยกับ Zoom และออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับที่หลายๆ บริษัทก็มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่การลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น
กลุ่ม นักเดินทาง เพื่อธุรกิจนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ทำรายได้ให้กับทั้งสายการบิน โรงแรม สถานที่จัดประชุม จัดเลี้ยง รวมทั้งการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วการเดินทางเพื่อธุรกิจจะมีโอกาสฟื้นตัวได้เพียงใด
สุดท้ายแล้ว โควิด อาจจะไม่ได้ทำให้คนเดินทางหรือท่องเที่ยวน้อยลง แต่จุดหมายปลายทางและประสบการณ์ในการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป ความมีสติต่อสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับความสะอาดและสุขอนามัยจะมีมากขึ้น คนจะให้ความสนใจต่อประสบการณ์ในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางและท่องเที่ยวก็คงจะต้องปรับตัวกันต่อไป.