ก้าวทันโลกใหม่ในทศวรรษหน้า | ธราธร รัตนนฤมิตศร
โลกใหม่ในทศวรรษหน้าได้มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นสูงมากขึ้น พร้อมกับตอบโจทย์รากฐานการพัฒนาของมนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ หลายด้าน
เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราได้เข้ามาสู่ยุคต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เกิดการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีหลายด้านอย่างรวดเร็วและมีการต่อยอดเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน การประมวลผลแบบควอนตัม เทคโนโลยีชีวภาพ จีโนมิกส์ และวัสดุศาสตร์ ส่งผลให้มนุษย์สร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และรูปแบบอาชีพใหม่จำนวนมาก
เศรษฐกิจแบบใหม่ในโลกได้มุ่งไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นสูงมากขึ้น พร้อมกับตอบโจทย์รากฐานการพัฒนาของมนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจแบ่งปัน เศรษฐกิจสุขภาพ เศรษฐกิจอวกาศ และเศรษฐกิจเมตาเวิร์ส (Metaverse Economy) ในขณะที่โมเดลเศรษฐกิจแบบเก่าแบบซื้อมาขายไปเพื่อกินส่วนต่างเป็นทอดๆ กำลังหมดไป เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อออนไลน์กับผู้ผลิตจากที่ไหนก็ได้ในโลกได้โดยตรง เศรษฐกิจแบบผ่านตัวกลางกำลังจะกลายเป็นอดีตไปในทุกวงการ
การพัฒนาเทคโนโลยีหลายแขนงโดยเฉพาะระบบอัตโนมัติส่งผลต่ออนาคตของงาน งานจำนวนมากจะถูกทดแทนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะงานที่ทำซ้ำ มีแบบแผนหรือคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีงานทักษะระดับสูงขึ้นมาทดแทน ทั้งงานที่ใช้ทักษะด้านเทคโนโลยี (High Tech) ไปจนถึงงานที่ใช้ทักษะมนุษย์สูง (High Touch)
นอกจากนี้ รูปแบบของการทำงานก็กำลังเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะงานในรูปแบบของเศรษฐกิจแบ่งปันที่มีการพัฒนาสูงและประชาชนนิยมใช้บริการ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการใช้งานและเข้าสู่ดิจิทัลในทุกช่วงวัย ประชาชนสามารถใช้บริการออนไลน์ต่างๆ
เช่น สั่งซื้ออาหารสั่งซื้อสินค้า เรียกรถยนต์ เรียนออนไลน์ ทำงานจากบ้านหรือทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จึงเกิดอาชีพในรูปแบบใหม่ๆ ตั้งแต่งานชั่วคราวแบบใหม่ งานตามความต้องการ (on-demand job) งานอิสระ หรือการมีหลายงาน หลายอาชีพที่ทำไปพร้อมกัน คนยุคใหม่จึงเป็นทั้งพนักงาน แม่ค้า เจ้าของกิจการ ผู้ผลิต นักเขียน ผู้บริโภค สื่อสารมวลชน และนักลงทุนไปในเวลาเดียวกันผ่านคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
อุตสาหกรรมต่างๆ ทุกวงการก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ผ่านแรงขับเคลื่อนหลัก 2 ประการที่สำคัญ แรงขับเคลื่อนประการแรก คือ ความพยายามของผู้ผลิตในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ (Mitigation) ที่จะช่วยตอบโจทย์การรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและต้องการมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แรงขับเคลื่อนประการที่สอง คือ การพัฒนาของเทคโนโลยียุคใหม่หรือการพลิกผันทางเทคโนโลยี (technology disruption) ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในทิศทางที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติไร้คนขับ บริการทางการเงินมีพัฒนาการของการใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนลงจากรูปแบบบริการการเงินใหม่ๆ เช่นฟินเทค (Fintech) และบริษัทแพลตฟอร์มเทคโนโลยีในการให้บริการการเงินแบบดิจิทัล หรือบริการแบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer to Peer) ที่ตัดตัวกลางออก
เทคโนโลยีบล็อกเชนได้เปลี่ยนยุคของอินเทอร์เน็ตจากเดิมที่ใช้ประโยชน์สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล (internet of information) เพียงอย่างเดียวไปสู่ยุคใหม่ที่สามารถใช้ในการแลกเปลี่ยนมูลค่าได้ (internet of value) จึงเกิดการขยายตัวของการใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ โทเคนและสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ๆ ที่นำไปสู่เศรษฐกิจแบบโทเคน (Token economy) ซึ่งทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบใหม่บนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งในวงการการเงิน เกม ดนตรี ศิลปะ กีฬา พลังงาน เมือง เกษตร แพลตฟอร์มสื่อสังคม ไปจนถึงเศรษฐกิจใหม่ในเมตาเวิร์ส มิติขอบเขตและกลไกของระบบเศรษฐกิจแบบเดิมจึงกำลังพลิกโฉมไปสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งทำให้โมเดลการบริหารจัดการและเศรษฐศาสตร์ยุคเดิมจะต้องมีการคิดใหม่
ในส่วนของภาครัฐ การกำกับดูแล (Regulation) ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เรื่องต่างๆ จะเผชิญความท้าทายมากขึ้นในการกำกับให้เรื่องต่างๆ เกิดเสถียรภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะเดียวกันก็ไม่ขัดขวางการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ หรือขัดขวางโอกาสในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมของผู้บริโภค นอกจากนี้ ขอบเขตระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในวงการต่างๆ จะไม่ชัดเจนและทับซ้อนกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ต้องมีการออกแบบองค์กรใหม่และวางระบบการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกำกับดูแลมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบัน หลายประเทศเริ่มเกิดโมเดลการกับดูแลใหม่ๆ ที่น่าสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะโมเดลการกำกับดูแลใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยปรับจากการออกกฎระเบียบครั้งหนึ่งแล้วใช้ไปได้นานๆ ไปสู่การกำกับดูแลแบบปรับตัวได้ (Adaptive Regulation) และการใช้กระบะทรายทดลองกฎระเบียบเพื่อเรียนรู้ก่อน หรือการกำกับดูแลเดิมที่ออกใบอนุญาตตามคุณสมบัติก็ปรับไปสู่การกำกับดูแลบนฐานของผลลัพธ์ที่พึงประสงค์แทน (Outcome-based Regulation) ซึ่งช่วยให้กฎระเบียบปรับตัวตามนวัตกรรมได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการเอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ได้ด้วย
ดังนั้น พลวัตการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่กำลังส่งผลต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ในหลายมิติ ทั้งในเชิงโอกาสและความเสี่ยง ซึ่งหลายเรื่องเราไม่สามารถใช้วิธีคิดบนฐานคิดแบบเดิมได้อีกต่อไป
ดังนั้น การรู้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงจนสามารถอยู่เหนือกระแสการเปลี่ยนแปลงจนสามารถหยิบจับสิ่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมจึงเป็นหัวใจในการปรับตัวทั้งในระดับบุคคลและองค์กรในทุกวงการ.