COP26 สู่ความยั่งยืน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
การประชุม COP26 เพื่อนำปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ไปสู่เวทีที่ทุกประเทศช่วยกันคิดช่วยกันแก้ปัญหานี้ในระดับโลก
COP ย่อมาจาก “Conference of the Parties” คือการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา (จึงเป็นที่มาของชื่อ COP26)
การประชุม COP26 ครั้งนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ประเทศสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2021 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดราว 30,000 คนจากทั่วโลก อันประกอบด้วย ผู้นำระดับโลก ผู้แทนองค์กร ผู้สังเกตการณ์ นักวิชาการ และนักข่าว
เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการจัดประชุม COP21 ในปี ค.ศ.2015 ณ กรุงปารีส ที่ประชุม 196 ประเทศได้ตกลงที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส จึงทำให้เกิด “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ขึ้น
ภายใต้ “ข้อตกลงปารีส” ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions หรือ NDCs) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติ โดยทุกๆ 5 ปี ประเทศต่างๆ จะต้องกลับมาด้วยแผนการฉบับที่ปรับปรุงใหม่
สำหรับ “COP26” นี้ ประเทศทั่วโลกจะประกาศแผนการลดการปล่อยมลพิษภายในปี ค.ศ.2030 นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงเฉพาะเกี่ยวกับการเลิกใช้ถ่านหิน การเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะไฟฟ้า และคาดว่าจะมีการดำเนินการเพื่อปกป้องธรรมชาติมากขึ้น
รายงานล่าสุดของ UN ชี้ว่า แผน NDCs ปัจจุบัน (ซึ่งรวมที่เสนอเข้ามาใหม่และที่แก้ไขปรับปรุงของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และอีกกว่า 100 ประเทศ) ยังไม่เพียงพอ เพราะยังมีผลให้การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 16% ซึ่งห่างไกลจากเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลง 45% อีกมาก
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ได้ประเมินผลที่มีต่อโลกจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสอย่างละเอียด ( อันเป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อตกลงปารีส” ) ได้พบว่า ความเสียหายที่เกิดจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส กับ 2 องศาเซลเซียส นั้นแตกต่างกันมาก และสรุปได้ว่าอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้นมีความปลอดภัยกว่ามาก
ผลการวิจัยเพิ่มเติมจาก IPCC ที่เผยแพร่ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้เน้นย้ำในคำเตือนเหล่านี้ และสรุปว่ายังมีโอกาสที่โลกจะอยู่ภายในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส แต่จะต้องมีความพยายามร่วมกันอย่างจริงจัง
เนื่องจากแต่ละประเทศถูกกระตุ้นให้ปรับแก้ NDCs ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า การปล่อยมลพิษจะต้องลดลง 45% เมื่อเทียบกับระดับปี ค.ศ.2010 ภายในปี ค.ศ.2030 และการปล่อยมลพิษจะเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 อุณภูมิของโลกก็มีโอกาสที่จะอยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส
ดังนั้น แผนการลดการปล่อยมลพิษระดับชาติที่ประเทศต่างๆ จะเปิดเผยในการประชุม COP26 ครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ล่าสุด ข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564 ว่า ร่างแถลงการณ์ร่วมที่แหล่งข่าวหลายคนระบุว่าเป็นร่างสุดท้ายของที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ที่กรุงโรม กล่าวว่า “ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะยึดมั่นพันธสัญญาสำคัญๆ ตามข้อตกลงโลกร้อนปารีส ค.ศ.2015 ซึ่งรวมถึงการควบคุมอุณภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม”
แถลงการณ์ร่วมล่าสุด ก็คือ “การรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องมีความมุ่งมั่นและดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและมีความหมายจากทุกประเทศ โดยคำนึงถึงแนวทางที่แตกต่างกัน”
คำมั่นสัญญาจากที่ประชุมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการประชุมประจำปีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26)
การประชุม COP26 ครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การประชุมระดับนานาชาติอีกงานหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดว่า เราจะสามารถป้องกันภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ได้ดีเพียงใด ซึ่งมีความเร่งด่วนเป็นพิเศษที่ “ผู้นำ” และชาวโลกของทุกประเทศในโลกจะต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะอาจเป็น “โอกาสสุดท้ายของโลกที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) อยู่ภายใต้การควบคุม”
ความสำเร็จของการประชุม COP26 จะนำไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ครับผม !