การกำกับดูแลเพื่อความยั่งยืน | พรรณี วรวุฒิจงสถิต
ในการประกอบธุรกิจโดยทั่วไป กิจการทุกแห่งต้องมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อผลการดำเนินงานที่ดี มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและสังคมทั่วไป ทุกกิจการล้วนแล้วแต่ต้องการให้กิจการมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง
กิจการที่ดี จึงมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน ด้วยการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ วัตถุประสงค์ที่จะเป็นแนวทางในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ในการปฏิบัติงานก็ได้มีการวางแผน วางระบบระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้ปฏิบัติงานลุล่วงอย่างไม่มีปัญหา มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการป้องกันการทุจริตผิดพลาด
เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานนั้นมีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผล อยู่บนความประหยัดคุ้มค่า มีการรายงานที่น่าเชื่อถือโดยเฉพาะรายงานทางการเงิน เพื่อใช้ในการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงมีการปฏิบัติตามกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
แต่ปัจจุบัน การกระทำที่ได้กล่าวไปข้างต้นยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าจะสำเร็จสมประสงค์หรือไม่ หรือแม้ว่างประสบความสำเร็จแล้วแต่จะอยู่รอดต่อไปได้ไหม ทั้งนี้เพราะโลกได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางด้านสังคม โดยเฉพาะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความแน่นอน จึงเกิดความเสี่ยงต่อกิจการในการดำเนินงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของกิจการไม่มากก็น้อย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมที่เกิดจากโรคระบาดโควิด-19 บวกกับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้พฤติกรรมของคนในด้านการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้กิจการด้านร้านอาหารแม้จะเกิดผลกระทบที่เปิดร้านไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ อย่างน้อยก็ยังพอให้อยู่รอดได้บ้าง
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจ และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมดังกล่าว กิจการที่จะอยู่รอดได้จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อการช่วงชิงลูกค้า ที่ต้องพิจารณาการใช้จ่ายเงินให้คุ้มค่า ไม่สามารถใช้อย่างฟุ่มเฟือยแบบเดิมๆ
กิจการก็ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการของตนให้มีคุณภาพ ราคาก็ต้องเหมาะสมที่จะให้ลูกค้าสามารถจ่ายได้ การดำเนินงานทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ว่องไว เพื่อการต่อสู้เพื่ออยู่รอด และหากต้องการการอยู่รอดอย่างยั่งยืนก็ต้องให้มีการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืนด้วย
การกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน ต้องทำอย่างไร เพียงแค่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งก็ได้มีการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกด้าน รวมถึงสังคม สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่เพียงพออีกหรือ นั่นคือคำถามที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่เข้าใจว่าทำอย่างไรให้ยั่งยืน
ขณะนี้กิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้มีการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกกิจการได้มีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนโดยให้คำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) การกำกับดูแล (Governance) ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนกับธุรกิจ โดยให้มีการดำเนินงานกับคำว่า ESG ที่เข้มข้นและจริงจังขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบกับ ESG ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันก็ได้มีการประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน เพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการลงทุนอย่างยั่งยืนด้วย สำหรับกิจการในตลาดหลักทรัพย์ปกติก็มีกฎการกำกับดูแลกิจการที่ดีมากมายแล้ว ก็ยังต้องเพิ่มการกำกับดูแลเพื่อการยั่งยืนให้เข้มข้น ตั้งแต่การจัดทำนโยบาย การวางแผนกลยุทธ์ก็ต้องมีการวางแผนให้คำนึงถึง ESG อย่างชัดเจน และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ตามหลักการของการกำกับดูแลเพื่อความยั่งยืน กิจการต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้าน ESG ที่จะเกิดจากการดำเนินงานของกิจการเอง เช่น ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก มลพิษทางน้ำ ขยะติดเชื้อ ฯลฯ ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย ปัญหายาเสพติด ปัญหาจากโรคระบาดโควิด-19 ปัญหาแรงงาน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ฯลฯ
ผลกระทบด้านการกำกับดูแล ได้แก่ การวิเคราะห์ถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ผลกระทบที่จะเกิด การกำกับดูแลการดำเนินงานให้ลดผลกระทบที่ไม่ดี ให้เกิดผลกระทบที่ดี ในขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ถึง ผลกระทบ ESG ที่กิจการคนอื่นทำแล้ว อาจมากระทบกับกิจการเราได้ เช่น หากเขามีนโยบายทำการค้ากับคนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้การดำเนินงานของเราจะมีเพียงเล็กน้อย เขาก็อาจไม่ค้าขายกับเรา ก็จะทำให้เราเสียหายได้เช่นกัน
ดังนั้น การกำกับดูแลเพื่อความยั่งยืน จึงต้องให้ความสนใจต่อผู้มีส่วนได้เสียรอบด้าน และคำนึงถึงผลกระทบด้าน ESG ที่เกิดจากการกระทำของเรา หรือ การกระทำของคนอื่นที่จะมากระทบกับธุรกิจเราก็ได้ สิ่งเหล่านี้หากว่าได้มีการวางแผนไว้ในกลยุทธ์ธุรกิจแล้ว ก็มั่นใจได้ว่า กิจการของเราจะสามารถประกอบธุรกิจ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ได้ อย่างไม่มีปัญหา และต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้มีการกำกับดูแลเพื่อความยั่งยืนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้.