โต้แย้งกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

โต้แย้งกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมิได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 และปี 2550 ในมาตรา 6 มีบทบัญญัติถ้อยคำเหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมิได้  
    ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี2560 มีถ้อยคำแตกต่าง เล็กน้อย ในมาตรา5 บัญญัติว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายกฎหรือข้อบังคับหรือการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐธรรมนูญปี2540 ปี2550และปี2560 จะมีบทบัญญัติวางหลักไว้ว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น(ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ)และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย
                ที่ผ่านมามีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เกี่ยวกับคำโต้แย้งของคู่ความว่าบทบัญญัติของกฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญศาลที่อาจถือเป็นหลักได้คือ

                การพิจารณาว่าคำโต้แย้งเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่9500/2542 วินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของโจทก์มิใช่เป็นคำโต้แย้งว่า ตัวบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับคดีขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้ คำร้องของโจทก์จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา 264 วรรคหนึ่ง แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ไว้พิจารณา จะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 264 วรรคสอง 

แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่า คำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง มิใช่ว่าโจทก์มีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเสมอไป

             ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที 6028/2550  คำพิพากษาศาลฎีกาที่10660/2553ก็วินิจฉัยแนวเดียวกัน
              กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ต้องส่งไปเพื่อวินิจฉัยอีก
           คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 113/2542          เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 16/2541 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2541แล้วว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 มาตรา 26 มาตรา 27 และ มาตรา 28 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งปัญหาดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกจึงเป็นกรณีที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนี้ ศาลจึงไม่ต้องส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้อีก  

               ต้อง เป็นกฎหมายที่ตราโดยอำนาจนิติบัญญัติ               
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2545      แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติ ในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด  ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจและมีผลใช้บังคับได้เท่าที่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่ พ.ร.บ.  ให้อำนาจไว้ก็ตาม

แต่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวไม่ได้ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  จึงไม่เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามความหมายของรัฐธรรมนูญ  มาตรา 264 การที่ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว  ซึ่งศาลยุติธรรมจะนำมาใช้บังคับแก่คดีเป็นประกาศที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ  มาตรา 6 หรือไม่ จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาวินิจฉัย 
            คำโต้แย้งต้องเป็นประเด็นบทบัญญัติหรือเนื้อความของกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่15873/2553         ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งว่า การส่งคำโต้แย้งของคู่ความ (จำเลย) ตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 คู่ความในคดีขอให้ส่งไปได้เฉพาะในประเด็นว่า บทบัญญัติหรือเนื้อความของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
     แต่กรณีตามคำร้องของจำเลยเป็นการโต้แย้งกระบวนการตรากฎหมายว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 154 ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 154 มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยหยิบยกเป็นประเด็นโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่จำต้องส่งคำโต้แย้งของจำเลยตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย
            จำเลยฎีกาคำสั่ง  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ยกคำร้องของจำเลย ที่ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นคำสั่งก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ต้องถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
      พิพากษายกฎีกาของจำเลย

                ต้องเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดี       
     คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5134/2545 การที่ศาลจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติมาตรา  264  วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ นั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีที่ศาลพิจารณาอยู่ การที่จะพิจารณาว่าศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ จะต้องพิจารณาตาม  พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ   มาตรา 7
    ฉะนั้น  การที่จำเลยให้การว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางแต่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯมาตรา  276  ที่  พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ  มาตรา 9 บัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง  ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา  6  นั้น จึงมิใช่เป็นการกล่าวอ้างว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6  จึงไม่มีเหตุที่ศาลภาษีอากรกลางจะต้องส่งความเห็นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย.