ทำไม เจย์ พาวเวล เปลี่ยนโทนท่ามกลาง Omicron | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ และ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้มาให้การต่อคณะกรรมการสถาบันการเงินสหรัฐ สภาคองเกรส
ไฮไลต์ของงานนี้ หาใช่มาจากประเด็นของแบงก์สหรัฐแต่อย่างใด หากแต่มาจากการที่ เจย์ พาวเวล ได้ให้ความเห็นว่า ณ นาทีนี้ น่าจะถึงเวลาที่ต้องนำคำว่า ‘ชั่วคราว’ ออกจาก สิ่งที่เฟดเรียกปรากฏการณ์ของเงินเฟ้อสหรัฐในช่วงที่ผ่านมาว่า ‘อัตราเงินเฟ้อที่สูงแบบชั่วคราว’
นอกจากนี้ พาวเวลยังให้ความเห็นต่อว่า ในการประชุมเฟด ช่วงกลางเดือนนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่าที่จะลดระยะเวลาการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ (QE) ที่มีแผนว่าจะยุติการซื้อดังกล่าวลงในเดือนมิถุนายน ปี 2022 ให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม เป็นเวลา 2-3 เดือน ซึ่งต้องเขาจะพิจารณาข่าวล่าสุดและผลกระทบจากโควิด Omicron รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดก่อนวันประชุมเฟดในครั้งถัดไป ประกอบด้วย
งานนี้ เลยส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ลดลงเกือบร้อยละ 2 ในวันดังกล่าว บทความนี้ จะขอแสดงความคิดเห็นว่า เพราะเหตุใดพาวเวลจึงอาจจะต้องการที่จะแสดงจุดยืนหรือท่าทีของนโยบายการเงิน ออกมาในลักษณะเช่นนั้น ณ จุดที่ Omicron กำลังเป็นปริศนาอยู่
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของเฟด ณ ตรงนี้ คือการบริหารความคาดหวังของตลาดในการประกาศนโยบายต่างๆ ซึ่งการที่ข่าวคราวของโควิด Omicron และตัวเลขเงินเฟ้อและการจ้างงานเดือนพฤศจิกายน ยังไม่มีความชัดเจนนั้น ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของพาวเวลที่ต้องคำนึงถึงในการแสดงท่าทีของนโยบายการเงินต่อสาธารณชน ณ เวลานี้
ผมจึงขอทำการวิเคราะห์สถานการณ์ในการประชุมเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ กลางเดือนนี้ ประกอบกับ กรณีซึ่งพาวเวลแสดงท่าทีตอนนี้ ว่าอยากจะทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ดังตารางที่ 1 กับ กรณีซึ่งพาวเวลไม่แสดงท่าทีตอนนี้ ว่าอยากจะทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ดังตารางที่ 2
จากตารางที่ 1 จะพบว่าเมื่อพาวเวลได้แสดงจุดยืนไปเมื่อต้นสัปดาห์นี้ จะพบว่า ไม่ว่าโควิด Omicron จะรุนแรงในสหรัฐหรือไม่ เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐยังสูงอยู่ในกลางเดือนธันวาคม ปี 2021 ทางเฟดก็จะทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าตลาดจะตอบรับแบบที่ไม่มีความรู้สึกเชิงลบแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน หากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาไม่แรงมากเท่าไหร่ในกลางเดือนธันวาคม ปี 2021 และมารู้ภายหลังว่า Omicron รุนแรงมากในสหรัฐ แล้วเฟดจะตัดสินใจคงนโยบาย QE Taper ตามแผนเดิม แน่นอนว่าตลาดก็น่าจะโอเคมาก
เพราะการที่จะเปลี่ยนท่าทีนโยบายการเงินมาเป็นแนวผ่อนคลายมากขึ้นกว่าที่เคยบอกก่อนหน้านั้น ย่อมจะเป็นผลดีกับตลาด หรือแม้แต่ว่ามารู้ภายหลังว่า Omicron ไม่แรงที่สหรัฐ แล้วเฟดจะทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ตลาดก็ยังจะตอบรับแบบที่ดูโอเคอยู่ดี
คราวนี้ หากคิดกันเล่นๆว่า ถ้าเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ พาวเวลตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง โดยไม่แสดงท่าทีตอนนี้ว่าอยากจะทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ก็จะพบว่า พาวเวลอาจพาตัวเองเข้าสู่ที่นั่งลำบากว่าจะเสี่ยงทำให้ตลาดตื่นตระหนกในการประชุมเฟดครั้งถัดไป ช่วงกลางเดือนนี้
จะพบว่า ไม่ว่าโควิด Omicron จะรุนแรงในสหรัฐหรือไม่ เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐยังแรงในกลางเดือนธันวาคม ปี 2021 เมื่อทางเฟดก็จะทำนโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า การที่พาวเวลเลือกไม่แสดงท่าทีตอนนี้ว่าอยากจะทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ตลาดจะตอบรับแบบที่มีความรู้สึกเชิงลบหรืออาจจะถึงขั้นตระหนกเลยก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี หากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐไม่แรงมากเท่าไหร่ในกลางเดือนธันวาคม ปี 2021 และมารู้ภายหลังว่า Omicron รุนแรงมากในสหรัฐ แล้วเฟดจะตัดสินใจคงนโยบาย QE Taper ตามแผนเดิม แน่นอนว่าตลาดก็ยังพอจะโอเค เพราะคงท่าทีนโยบายการเงินตามเดิม ย่อมจะเป็นผลดีกับตลาด ทว่าหากมารู้ภายหลังว่าตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐและ สถานการณ์โควิด Omicron ไม่รุนแรงที่สหรัฐ แล้วเฟดจะทำนโยบายการเงิน ตึงตัวขึ้น ตรงนี้ อาจจะทำให้ตลาดมีความตระหนกได้
โดยสรุป การที่พาวเวลแสดงท่าทีเปลี่ยนไปดังเช่นที่เราเห็นในตอนนี้ ถือเป็นตัวช่วยต่อเฟดในการบริหารจัดการความคาดหวังของตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ในอนาคตอันใกล้.
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)