“กลยุทธ์การตลาดแดนมังกร” เปลี่ยนการเติบโตของเทคโนโลยี เป็นจุดแข็งประเทศ
จีน ยังคงเดินหน้าสร้างภาพลักษณ์และทำการตลาดระดับโกลบอลให้กับประเทศตนเองอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในการตลาดที่จีนทำเพื่อยกระดับภาพลักษณ์และแก้ไขภาพจำในอดีตที่เคยถูกมองคือ การพัฒนาเทคโนโลยี
นโยบายจีน Made in China 2025 เป็นการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมโลก ส่งออกจากจีน ไม่ใช่แค่เป็นโรงงานโลก หรือผลิตตามออเดอร์อีกต่อไป
ตัว อ้ายจง เองสมัยได้ทุนไปเรียนสาขา Computer Software and Theory ซึ่งอยู่ในสายวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่ Beihang University กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปี 2011 หรือราว 10 ปีที่แล้ว มีคนจำนวนมากเลยถามผมว่า ไปเรียนสายไอทีที่จีน ไปทำไม? เพราะในมุมมองของพวกเขา เทคโนโลยีจีนยังล้าหลังประเทศอื่น รวมทั้งไทยด้วยซ้ำ
ภาพจำเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในอดีตจีนเคยเป็นแต่ประเทศผู้ใช้นวัตกรรม เสมือนเป็นแรงงานผลิตตามสั่ง และมีสินค้าก็อปปี้จำนวนมาก ทางจีนเองก็รู้ถึงปัญหาของตนเองว่าด้อยอะไร ต้องปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติมอะไร จึงจะไปถึงเป้า "ผู้นำโลก" ดังนั้น จีนจึงมุ่งไปที่การศึกษา การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จีนเปรียบดัง "โรงงานวิจัย" ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างปั่นเปเปอร์งานวิจัย สร้างนวัตกรรมออกมา เพราะจีนเชื่อว่า มันคือกลไกที่จะนำไปสู่มหาอำนาจโลก
จากความพยายามของจีนทำให้ปี 2021 นี้ การจัดอันดับองค์กร-สถาบัน-มหาวิทยาลัย จากทาง Scimago ที่มุ่งเน้นวัดคุณภาพทางการวิจัย เราได้เห็นอันดับ 1 ของโลกทั้งแบบ Overall และสาขา Computer Science ตกอยู่ในมือ Chinese Academy of Sciences (สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน) และกระทรวงศึกษาธิการจีนเข้ามารั้งอันดับที่ 3
ถ้านับแค่มหาวิทยาลัย Scimago จะตัด Chinese Academy of Sciences และกระทรวงศึกษาธิการจีนออกไป ทำให้ Harvard University ของอเมริกามาเป็นอันดับที่ 1 แบบ Overall และ Tsinghua University มาเป็นที่ 3
ในสาย Computer Science มหาวิทยาลัย Tsinghua ขึ้นมาครองเบอร์ 1 ของโลก แบบจัดอันดับเฉพาะมหาวิทยาลัย โดย Harvard ไม่ติด Top10 สายนี้ ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยจีนเข้ามาอยู่ใน Top 10 สาขา Computer Science ระดับโลก ถึง 5 มหาวิทยาลัย อเมริกา 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง
ว่ากันตามตรงแล้ว การจัดอันดับสถาบัน หรือมหาวิทยาลัย ไม่สามารถบ่งบอกคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพของนักศึกษา-ผู้เกี่ยวข้องกับที่นั่นได้ทั้งหมด แต่พอจะทำให้เห็นถึงผลงานการวิจัย ผลงานนวัตกรรม และการให้ความสำคัญต่อการวิจัยการพัฒนานวัตกรรมและการศึกษาทั้งในภาพรวมว่าแต่ละแห่งเป็นอย่างไร
ในมุมมองของผู้เขียนเอง จึงมองว่า การจัดอันดับ Scimago ครั้งนี้ พอจะเป็นหลักฐานได้บ้างถึงนโยบายจีนที่เน้นเรื่องการวิจัย การศึกษา โดยเฉพาะทางด้านพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ได้ เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทำการตลาดให้ตอบสนองสิ่งแวดล้อมระดับมหภาค ก็คือ เทคโนโลยีโลก ไม่ใช่แค่ตอบสนอง แต่เปลี่ยนให้เป็นจุดแข็งของตนเองอีกด้วย
จีนอนุมัติหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมเป็นครั้งแรกของประเทศ
“เทคโนโลยีควอนตัม” เป็นอีกหลักฐานบ่งชี้อย่างดีถึงความพยายามในการพัฒนาทางเทคโนโลยี และเป็นหลักฐานยืนยันความสำเร็จของความพยายามนั้น โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจีนอนุมัติหลักสูตรปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมเป็นครั้งแรกของประเทศ หลัง "เทคโนโลยีควอนตัม" ถูกบรรจุในแผนพัฒนาจีน ระยะ 5 ปี (2021-2025)
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) กลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของจีนที่ได้รับอนุมัติหลักสูตรปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาเอกสาขาแรกของประเทศในสาขานี้
จากการเปิดเผยข้อมูลจาก CGTN สื่อภาคภาษาอังกฤษในเครือสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG) ระบุว่า มหาวิทยาลัย USTC ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหอเฟย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย ทางตะวันออกของจีน จัดทำหลักสูตรปริญญาทางด้านควอนตัม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ควอนตัมและเทคโนโลยีในจีนและระดับโลก รวมทั้งเพิ่มคุณภาพและปริมาณของนักวิจัย-นักประดิษฐ์-นักวิทยาศาสตร์ทางศาสตร์ควอนตัม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้กลายเป็นหนึ่งในพรมแดนใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม โดยจีนได้บรรจุ "เทคโนโลยีควอนตัม" เป็นโครงการสำคัญ (Key Project) ในแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025)
USTC ได้ดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สารสนเทศควอนตัมตั้งแต่ต้นปี 1990 พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์วิจัยที่เกี่ยวข้องขึ้นสำหรับสนับสนุนการฝึกฝนผู้มีความสามารถควอนตัม
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมหลายโครงการ รวมถึงดาวเทียมควอนตัมดวงแรกของโลก เพื่อสร้างเครือข่ายการสื่อสารควอนตัม ระยะทาง 2,000 กิโลเมตร ระหว่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ สายการสื่อสารควอนตัมระยะทาง 2,000 กม. ระหว่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และจีนยังสามารถสร้างต้นแบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมประมวลผลเร็วที่สุดในโลกอีกด้วย
ปัจจุบัน เมืองเหอเฟย ถือเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีควอนตัมจีน มีบริษัทเทคโนโลยีควอนตัมมากกว่า 20 แห่ง สร้างเม็ดเงินกว่า 430 ล้านหยวน (ประมาณ 67.3 ล้านดอลลาร์) ในปี 2020 ที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทย ตอนนี้เริ่มให้ความสนใจและมุ่งความสำคัญให้กับการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีควอนตัมเช่นกัน อย่างในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งอ้ายจงเป็นอาจารย์ที่นี่ ก็มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยีควอนตัม ของทางคณะวิทยาศาสตร์ โดยที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีการวิจัยในระดับปริญญาโทและเอกทางเทคโนโลยีควอนตัมโดยเฉพาะเลยด้วย หากใครสนใจก็ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ครับ
ทั้งนี้ สายคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่จีนให้ความสำคัญอย่างมาก นอกจากเทคโลยีควอนตัม ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, Blockchain Technology, IoTs (Internet of Things), 5G (รวม 6G ที่จีนกำลังซุ่มพัฒนา), Cloud computing และความปลอดภัยทางด้านเครือข่าย
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่