เศรษฐกิจใช้เวลานานแค่ไหนที่จะฟื้นตัว | บัณฑิต นิจถาวร
วันจันทร์ที่แล้วผมได้ร่วมให้ความเห็นในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2022 ของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “มองเศรษฐกิจไทยท่ามกลางโควิด” มี ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ดร.ดอน นาครทรรพ และ ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ร่วมเป็นวิทยากร
ช่วงสัมมนามีคำถามน่าสนใจว่าเศรษฐกิจไทยจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนโควิด ซึ่งวิทยากรทุกคนรวมทั้งผมก็เห็นเหมือนกันว่าจะใช้เวลา แต่พอดีเวลามีน้อยจึงไม่ได้ขยายความเรื่องนี้ วันนี้จึงเขียนเรื่องนี้เพื่อเพิ่มเติมความเห็นของผมในประเด็นนี้
ช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียน คือ ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.86 ต่อปีช่วงปี 1991-2020 เทียบกับอัตราเฉลี่ยของอาเซียนที่ร้อยละ 5.29 ต่อปี (จุด A ในรูป)
ถ้าแบ่งช่วงสามสิบปีดังกล่าวเป็นสองช่วงคือ สิบห้าปีแรกและสิบห้าปีหลัง ช่วงสิบห้าปีแรก (1991-2005) เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.93 ต่อปี (จุด B) และร้อยละ 2.75 ต่อปี (จุด C) ช่วงสิบห้าปีหลัง (2006-2010) เห็นได้ว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจเราลดลงเกือบครึ่งในช่วงสิบห้าปีหลัง
ทำให้ก่อนโควิด เศรษฐกิจไทยจึงเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราต่ำ ร้อยละ 2-3 ต่อปี ไม่เข้มแข็งเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน ทำให้เมื่อเกิดโควิดระบาดในปี 2020 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงมีมาก อย่างที่ทราบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเราติดลบร้อยละ 6.1 ในปี 2020
ในทางเศรษฐศาสตร์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาดจะแบ่งเป็นสามช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงที่เศรษฐกิจถูกกระทบหนักทั้งจากการระบาดและมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐซึ่งของเราคือปี 2020 ที่เศรษฐกิจขยายตัวติดลบและติดลบต่อเนื่องมาถึงไตรมาสสามปีนี้
ช่วงสองคือ ช่วงฟื้นตัวที่การระบาดลดลง รัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุม มีการเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ซึ่งของเรา คือ ช่วงตั้งแต่ไตรมาสสี่ปีนี้เป็นต้นไป ช่วงฟื้นตัวนี้จะไปได้ดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย
1.การควบคุมการระบาดโดยเฉพาะไม่ให้มีการระบาดรอบใหม่ๆ เกิดขึ้น
2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการระบาดที่จะกระทบการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
3.นโยบายรัฐที่จะช่วยประคองให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องและเข้มแข็ง ซึ่งจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อนโยบายรัฐช่วยกระจายประโยชน์จากการฟื้นตัวไปสู่ส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง
ช่วงสาม คือช่วงที่เศรษฐกิจต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้เศรษฐกิจมีความสามารถที่จะแข่งขันในโลกหลังโควิด เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามารถไปต่อได้และนำเศรษฐกิจไปสู่ระดับการขยายตัวที่สูงขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยช่วงสามนี้สำคัญมาก เพราะการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ว่า ประมาณร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถไปต่อได้หลังโควิดถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญมาก เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง
จากแนววิเคราะห์ดังกล่าว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงเป็นการเดินทางไกลที่มีสองหมุดหมาย หรือป้ายสำคัญรออยู่ ป้ายแรกคือ เดินทางกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2-3 ต่อปี และป้ายที่สองคือ เดินทางต่อไปสู่ระดับการขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับศักยภาพของประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยตามทันเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
เท่าที่วิเคราะห์กัน การกลับไปสู่การขยายตัวระดับร้อยละ 2-3 ต่อปีอาจใช้เวลา 2-3 ปีเพราะก่อนโควิดเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเกือบร้อยละ 20 ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น ถ้าการท่องเที่ยวโลกยังไม่ฟื้นตัวในปีหน้าและในปีต่อไป ก็ยากที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดได้เต็มร้อย
มากที่สุดเราก็จะเป็นเศรษฐกิจ 80% ที่วิ่งไม่เต็มสูบเพราะการท่องเที่ยวโลกยังไม่ฟื้น นอกเสียจากเราจะไม่รอการท่องเที่ยว แต่มีนโยบายชัดเจนที่จะถ่ายเททรัพยากร แรงงานและทุน ออกจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกที่กำลังขยายตัวแทน ถ้าทำได้เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นี่คือป้ายแรก
ป้ายที่สอง คือ เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปีซึ่งยากกว่ามาก เพราะการไปต่อถึงร้อยละ 5 ต้องการการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในสองระดับ
ระดับแรก คือ ปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ การปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูปการทำงานของกลไกตลาดเพื่อให้เป็นเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันจริงจังและให้โอกาสแก่ทุกคน ไม่ใช่ผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจจำนวนน้อย ปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพและลดการทุจริตคอร์รัปชัน ปฏิรูปตลาดแรงงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะและสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถูกมองว่าไม่น่าลงทุน เป็นเศรษฐกิจที่มีต้นทุนสูง และมีความไม่แน่นอนมาก
ระดับสอง คือ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ ที่ต้องมีการลงทุนในประเทศ มีการใช้เทคโนโลยี และมีนวัตกรรมด้านการผลิต เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจมีสินค้าใหม่ๆ ที่จะนำร่องการแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ถ้ามีการสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องจากภาครัฐให้ภาคธุรกิจลงทุน สนับสนุนโดยการปรับโครงสร้างต่างๆ ในระดับที่หนึ่งที่ได้พูดถึง
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ถ้าทำได้เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถกลับไปสู่การขยายตัวระดับร้อยละ 5 ได้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าไม่ทำ เศรษฐกิจเราก็จะไม่ไปไหน จะติดกับอยู่กับการเป็นเศรษฐกิจโตต่ำที่ขยายตัวประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพ ซึ่งน่าเสียดายมาก
นี่คือการบ้านที่รออยู่ข้างหน้า.