เคหการเกษตร กับ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“เคหการเกษตร” กำลังจะกลายเป็น “อดีต” ในขณะที่ “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” กำลังจะเป็น “อนาคต” ใครที่เชื่อกันว่า “เกษตรกร คือ กระดูกสันหลังของชาติ” อาจจะเริ่มสงสัยกันบ้างแล้ว
เพราะวันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ของเราก็ยังมีสภาพความเป็นอยู่เดิมๆ ทั้งที่ควรจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีขึ้นมากกว่านี้ แม้แต่ “เคหการเกษตร” ที่ออกเป็นรายเดือนมาตลอดเวลายาวนานถึง 45 ปี ก็ได้ประกาศ “ปิดตัว” ลงแล้ว โดย “คุณเปรม ณ สงขลา” บรรณาธิการวารสาร กล่าวคำอำลาผู้อ่านอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“เคหเกษตร” อยู่คู่กับสังคมเกษตรกรของไทยมายาวนานถึง 45 ปีแล้ว มากกว่า “อายุการทำงาน” ของคนคนหนึ่งด้วยซ้ำไป (ซึ่งใช้เวลาทำงานเฉลี่ย 40 ปี ตั้งแต่จบปริญญาตรีจนถึงวันเกษียณ)
สาเหตุหลักที่ต้องปิดตัวลง ก็คงจะเหมือนๆ กับ “หนังสือพิมพ์รายวัน” และ “นิตยสาร / วารสาร” ทั่วไป ที่ต้องต่อสู้กับโลกของการสื่อสารในปัจจุบัน (โลกโซเชียลและยุคดิจิทัล) ไม่ไหว ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและไม่รู้จักจบสิ้น
ดังเห็นได้จากระบบ 4G 5G 6G และเป็นยุคของ Metaverse ในปัจจุบัน ที่ทำให้วิถีการอ่านและการเรียนรู้ต่างจากเดิมมากมาย
แม้ทีมงานวารสารฯ จะได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงลึกด้วยการย่อยจนนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายก็ตาม แต่ก็ไม่ทันกับความต้องการ “ความใหม่สด” ของผู้อ่านได้ ทั้งๆ ที่การถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและประสบการณ์ต้องใช้เวลากว่าจะตกผลึก แต่ก็ไม่มีใครใจเย็นที่จะคอยอ่าน
ว่าไปแล้ว วารสาร “เคหการเกษตร” ได้ร่วมพัฒนาวงการเกษตรไทยมาตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน ฉบับเดือน ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็น “ฉบับสุดท้าย” ที่ยังคงอัดแน่นด้วยเนื้อหาสาระและบทความที่มีคุณภาพคับแก้ว อาทิ ผลไม้ไทยยุค (โลก) รวน เทคนิคการจัดทรงพุ่มไม้ผลสู่ไม้ประดับ ธาตุอาหารกับการสังเคราะห์แสงของพืช เห็ดทรัฟเฟิลขาวเพชรสยาม สาระจากงานทุเรียนนานาชาติ ถึงเวลาเกษตรไทยต้องเปลี่นโฉม ? และอื่นๆ อีกมากมาย
ในฉบับสุดท้ายนี้ ได้พูดถึง “สาระจากงานสัมมนาวิชาการเรื่อง Disruptive Change : เกษตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม” ซึ่งมีบุคลากรระดับผู้นำและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในภาคการเกษตรหลายท่านเป็นผู้อภิปราย
ในงานสัมมนาดังกล่าว วิทยากรท่านหนึ่งกล่าวว่า บ้านเรามีเกษตรกร 3 ประเภท คือ
(1) เกษตรกรที่ผลิตเพื่ออุตสาหกรรม จำพวกสับปะรด มันสำปะหลัง
(2) ประเภทที่ผลิตในแนวเศรษฐกิจพอเพียงในกลุ่มนี้ เราควรให้ความสนใจอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไร และ
(3) กลุ่มที่ในขณะนี้เราให้ความสนใจ ก็คือ เกษตรสมัยใหม่ ซึ่งมีความสำคัญมาที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่นอกจากจะมองทางด้านวิชาการแล้วจะต้องมองในด้านกลุ่มของผู้ผลิตเหล่านี้ด้วยไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ หรือการเข้าหาผู้ผลิตโดยตรงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
การสัมมนายังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “คน” ในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ “ผลิตภาพในภาคเกษตรไทย” เติบโตช้ามาก ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับพัฒนาการด้านเกษตรไทยต่อไปในอนาคต
“เคหการเกษตร” ทำให้คนอ่านได้รู้และเข้าใจใน “วิถีการเกษตรของเกษตรกรไทย” มากขึ้น ทำให้รู้ถึงความเหนื่อยยาก ปัญหา อุปสรรค และโอกาสของเกษตรกรไทย ทำให้เรามองเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนโฉมภาคการเกษตรกรรมในทุกมิติที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตร กระบวนการผลิต คุณภาพและผลิตภาพของพืชผลทางการเกษตรที่จะต้องปรับเปลี่นพลิกโฉมให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
ผมจึงได้แต่พลิกดูวารสาร “เคหการเกษตร” ฉบับสุดท้าย (คือ ปีที่ 45 ฉบับที่ 12 เดือน ธันวาคม 2564) ด้วยความสะท้อนใจและเสียดายอย่างยิ่งแทนผู้คนในภาคเกษตรกรรม ที่กำลังจะขาด “แหล่งความรู้และประสบการณ์” ที่มีค่ายิ่งต่ออาชีพเกษตรกร
แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (ท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้เป็นประธานเปิด “โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานครบวงจร ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกในอาเซียน (ผมขอพูดถึงเรื่องนี้ในบทความตอนต่อไป)
โลกยุคดิจิทัลในวันนี้ ได้ทำให้สิ่งหนึ่งกำลังจะจบลง ในขณะที่อีกสิ่งหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้น จึงได้แต่คิดถึงยุคที่รุ่งโรจน์ของภาคเกษตรกรรมของไทยในยุค “Thailand 1.0” มันจึงเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกจริงๆ ครับผม !