อย่าใช้เหตุผลแบบ "วิปริต" | บวร ปภัสราทร
ถ้าที่ใดมีผู้คนที่ใช้เหตุผลอย่างวิปริตในการหาข้อสรุปในความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอตราบเท่าที่คนยังต้องทำงานร่วมกัน ในที่นั้นจะไม่มีวันได้คิดได้ทำอะไรที่เป็นการตระเตรียมการเพื่ออนาคต
ไฟไหม้อยู่ตรงหน้า แทนที่จะหาทางดับไฟ กลับใส่ใจไปกับการถกเถียงให้ตนเองเป็นผู้ชนะในประเด็นที่กล่าวอ้าง ซึ่งกว่าจะชนะกันได้ ไฟก็ไหม้บ้านไปหมดแล้ว แทนที่จะเสียอกเสียใจว่าสูญเสียบ้านไปแล้ว กลับภูมิใจว่าตนเองเถียงชนะเรื่องสาเหตุที่เกิดไฟไหม้ขึ้นมา
ฝรั่งสนใจเรื่องการใช้เหตุผลแบบไร้ตรรกะ ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะกับการเตรียมการเพื่ออนาคต
ฝรั่งคิดเรื่องนี้กันมาตั้งแต่สมัยโรมันยังรุ่งเรือง ทำให้ศาสตร์ด้านนี้มีการตั้งชื่อการใช้เหตุผลแบบวิปริตในลักษณะต่างๆ ไว้เป็นภาษาละติน ทำให้ทำความเข้าใจได้ยากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ฝรั่งสมัยนั้นเชื่อว่าวันหน้าถ้าจะมีความล่มสลายเกิดขึ้นได้นั้น ต้นเหตุสำคัญไม่ใช่ศัตรูจากภายนอก แต่จะมาจากวิกฤติภายในที่เกิดขึ้นจากการใช้เหตุผลแบบวิปริตในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ สำหรับอนาคต และประวัติศาสตร์ก็ได้ยืนยันแล้วว่าเป็นจริงตามนั้น
องค์กรจะหมดอนาคต ถ้าคนในองค์กรนั้นตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต โดยใช้เหตุผลที่ไร้ตรรกะ ใช้เหตุผลแบบวิปริตเพื่อให้มีการตัดสินใจไปในทางที่ตนคิดตนเชื่อ โดยไม่แคร์ว่าองค์กรจะเป็นอย่างไร
หนทางหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการใช้เหตุผลแบบวิปริตในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ คือ ทำความรู้จักกับการใช้เหตุผลแบบวิปริตในลักษณะต่างๆ ไว้ให้กระจ่างชัด จะได้ดักทางถูกว่าจะแก้ไขได้อย่างไร
แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ คนทำงานระดับล่างมีการใช้เหตุผลที่มีตรรกะมากกว่าคนทำงานระดับบน โดยเฉพาะในระดับผู้นำระดับสูงมักมีการยกเหตุผลที่วิปริตมาสนับสนุนการตัดสินใจของตนเองอยู่เสมอ
Tu Quoque เป็นการใช้เหตุผลว่าถ้ามีคนเสนอให้ใครทำอะไรสักอย่างแล้ว จะยอมรับได้ก็ต่อเมื่อคนเสนอต้องทำตามที่เสนอมานั้นให้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบก่อน ถ้าหมอบอกให้คนป่วยออกกำลังกายเป็นประจำ หมอที่แนะนำก็ต้องออกกำลังกายเป็นประจำมาก่อนด้วย จึงจะเชื่อคำแนะนำได้ ถ้าหมอบอกให้กินยาตัวไหน หมอก็ต้องกินยาตัวนั้นมาก่อนด้วย
จะเห็นว่า ถ้าใช้เหตุผลกันแบบนี้แล้ว คำแนะนำของใครต่อใครแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย จะหาหมอที่กินยาทุกตัวที่จ่ายให้คนป่วย คงไม่น่าจะหาได้ ซึ่งการที่หมอไม่ได้กินยาที่จ่ายให้คนป่วย ก็ไม่ได้ทำให้ยานั้นใช้รักษาโรคของผู้ป่วยไม่ได้แต่ประการใด ข้อเสนอเกี่ยวกับอนาคตทั้งหลายเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าใช้เหตุผลแบบนี้ในการตัดสินใจ
Strawman ใช้เรื่องเล็กๆ มาขยายให้เป็นเรื่องใหญ่แบบคอขาดบาดตาย เพื่อปฏิเสธที่จะทำตามข้อเสนอเพื่อการพัฒนานั้น ถ้ามีใครเสนอว่าไม่ควรรีบร้อนไปเก็บภาษีกิจการดิจิทัลใหม่ๆ ที่เพิ่งเรื่มต้นขึ้นมา จะได้มีเวลาให้กิจการเหล่านั้นเติบใหญ่ขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
แทนที่จะถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุปว่า ทำไมกิจการเกิดใหม่เหล่านั้นจึงสมควรได้รับการค้ำจุนให้เติบใหญ่ สนับสนุนให้โตขึ้นมาแล้ว คนในบ้านเมืองมีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง กลับไปเถียงว่าถ้าไม่เก็บภาษีแล้วจะเอาเงินที่ไหนใช้พัฒนาประเทศ ซึ่งปุถุชนก็ทราบได้ว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ภาษีใหม่ๆ เทียบกับภาษีที่มีอยู่แต่ดั้งเดิม สัดส่วนก็ยังไม่สูงมากจนกระทั่งไม่เก็บแล้วเงินทองจะหมดประเทศ
Ad Hominem ปฏิเสธโครงการดีๆ โดยอ้างถึงจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องส่วนตัวของผู้เสนอโครงการนั้น ถ้าไม่ชอบหน้าใคร แล้วคนนั้นเสนอโครงการอะไรขึ้นมาก็จะปฏิเสธไปทั้งหมด โครงการดิจิทัลชั้นดีจากคนที่ไม่ได้กินเจ จะถือว่าเป็นโครงการที่ใช้ไม่ได้ ซึ่งใครที่ยังไม่วิปริตคงทราบว่าเป็นคนละเรื่องที่ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเลย โครงการดิจิทัลที่เสนอโดยคนที่กินเจ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่ดี
การใช้เหตุผลแบบวิปริตอาจดูเท่สำหรับคนที่ยกขึ้นมาแล้วเอาชนะคนอื่นได้ แต่เป็นคำสาปแช่งให้องค์กรหมดอนาคต เจ็ดแปดปีแล้วยังไปไหนไม่ได้เลย.
คอลัมน์ : ก้าวไกล วิสัยทัศน์
รศ.ดร.บวร ปภัสราทร
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
[email protected]