ควรแก้กฎหมายจราจรหรือจิตสำนึกผู้ขับขี่? | ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
กฎหมายจราจร มีไว้เพื่อรับรองความปลอดภัย และสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชนทุกคนที่สัญจรเดินทาง การบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด จะช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและความน่าอยู่ในสังคมมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 โดยมีเหตุผลคือ การเกิดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ขับขี่ขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
ประกอบกับพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจรทางบก
การปรับปรุงทั้งในเรื่องหลักเกณฑ์และกลไกในการออกใบสั่งสำหรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย การบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับขี่ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลและบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
หลายคนอาจเห็นต่างว่าการออกกฎหมายใหม่ เพื่อเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้นและการตัดคะแนน น่าจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาการละเมิดกฎจราจรที่ดีที่สุด การแก้ที่จิตสำนึกของคนให้คำนึงถึงความปลอดภัยในทรัพย์สินและชีวิตน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ดี การเพิ่มโทษค่าปรับและการตัดคะแนนก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะลดการละเมิดกฎจราจรบนท้องถนน
ผู้เขียนจึงขอนำรายการการละเมิดกฎจราจรรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดพร้อมทั้งบทลงโทษในสหรัฐ และวิธีการป้องกันมาให้ผู้อ่านได้ทราบ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ www.drivinglaws.org)
แต่ละรัฐในสหรัฐก็มีบทกฎหมายและบทลงโทษที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย ค่าปรับการละเมิดสัญญาณไฟแดงและป้ายหยุดจะอยู่ที่ 35-100 ดอลลาร์ รัฐนิวยอร์ก ค่าปรับโดยทั่วไปคือ 50-300 ดอลลาร์ รัฐเท็กซัส ค่าปรับจะอยู่ที่ 150-275 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของการละเมิดเป็นกรณีๆ ไป
ตัวอย่างเช่น กรณีฝ่าไฟแดง การปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรเป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดและก็มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดอุบัติเหตุ แต่ส่วนมากเห็นไฟเหลืองแล้วก็จะพยายามเร่งความเร็วแทนที่จะชะลอรถยนต์ จึงทำให้เกิดการฝ่าไฟแดงขึ้น
กรณีไม่จอดป้ายหยุด ผู้ขับขี่ทุกคนต้องหยุดจนนิ่งที่ป้ายหยุดรถและมองทางซ้ายทางขวาก่อนดำเนินการขับต่อไป หากเพียงแต่ชะลอความเร็วไม่รอจนรถหยุดนิ่งก็จะถือว่าฝ่าฝืน
กรณีขับชิดรถยนต์เกินไป ผู้ขับขี่แต่ละคนต้องคำนึงถึงความเร็วของรถ การจราจรบนท้องถนน และสภาพถนนเมื่อต้องกำหนดระยะห่างที่ปลอดภัยในการขับรถคันอื่น อย่างน้อยควรเว้นระยะห่างไว้สัก 2 วินาทีจากรถยนต์คันหน้าเพื่อความปลอดภัย
กรณีขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการละเมิดที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตมากที่สุด มีรายงานจาก National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 38,460 ราย เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2563 และเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปี 2562
การเสียชีวิตจากยานยนต์ในเดือน ต.ค.2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,440 ราย เพิ่มขึ้น 6% จากเดือน ต.ค.2563 และเพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2562 หากต้องการลดความสูญเสียผู้ขับขี่ควรขับขี่ตามความเร็วที่กฎหมายกำหนดและเผื่อเวลาล่วงหน้าสำหรับการเดินทาง
กรณีเมาแล้วขับ ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 คนจากการเมาแล้วขับ ศูนย์ควบคุมโรค (CDC) ระบุบทลงโทษสำหรับการขับรถขณะมึนเมาตามลำดับของความมึนเมา เช่น ค่าปรับอาจสูงถึงหลายพันดอลลาร์ ยึดใบขับขี่ ยกเลิกประกันภัย หรือจำคุก
CDC แนะนำหลายขั้นตอนเพื่อจำกัดความเสียหายต่อบุคคลและทรัพย์สินที่อาจก่อให้เกิดความบกพร่องในการขับขี่จากการเมาแล้วขับ ได้แก่ ก่อนดื่มให้ระบุคนขับที่ไม่ดื่ม อย่าปล่อยให้เพื่อนขับรถเมื่อมึนเมา หรือเรียกใช้บริการรถร่วมหรือเรียกแท็กซี่
กรณีขับขี่โดยประมาท ตัวอย่างเช่น การไม่ให้สัญญาไฟเลี้ยว การหยุดรถกะทันหัน หรือไม่ซ่อมไฟท้าย ถือว่าเป็นการขับขี่โดยประมาททั้งสิ้น การขับรถโดยประมาทสามารถทำความเสียหายได้มากกว่าที่คิด กล่าวคืออุบัติเหตุจากความประมาทจำนวน 1 ใน 3 ส่งผลให้มีการเสียชีวิต วิธีป้องกันความเสียหายที่ดีที่สุดคือ การปฏิบัติตามกฎจราจร คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง และแจ้งแก่เจ้าหน้าที่หากพบเห็นผู้อื่นขับขี่โดยประมาท
กรณีไม่มีสมาธิขณะขับขี่ ตัวอย่างเช่น การส่งข้อความ การคุยโทรศัพท์ การกินอาหารหรือดื่มกาแฟขณะขับขี่ การค้นหาเพลงทางวิทยุ ทั้งหมดนี้ทำให้เสียสมาธิจากการขับรถอย่างปลอดภัย
มีรายงานจาก NHTSA พบว่ามีผู้เสียชีวิตหลายพันคนต่อปีจากการกระทำต่างๆ ข้างต้น ผู้ขับขี่ควรจดจ่ออยู่กับท้องถนนตลอดเวลา งดใช้โทรศัพท์ อย่ากินหรือดื่มเครื่องดื่มและให้ผู้โดยสารค้นหาเพลงทางวิทยุแทน
ดังนี้ จะเห็นได้ว่าตัวบทกฎหมายและบทลงโทษในประเทศไทยกับสหรัฐ ก็มีความคล้ายคลึงกันหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านฐานความผิด โทษที่มีอัตราสูงขึ้น มีการตัดคะแนนหรือโทษจำคุก ตามแต่ลักษณะเฉพาะของการละเมิด จะมีที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและจิตสำนึกของผู้ขับขี่
ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยควรหามาตรการที่เหมาะสมมาบังคับใช้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต.
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0
ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์