"กรุงเทพฯ-ลอสแอนเจลิส" สองนครากับปัญหาคนละขั้ว | ไสว บุญมา
กรุงเทพฯ กับลอสแอนเจลิสเป็นเมืองแห่งเทพด้วยกัน และคงอีกไม่นานจะยกระดับความสัมพันธ์เป็น เมืองพี่เมืองน้อง ลอสแอนเจลิสตั้งอยู่กลางเขตปกครองชื่อเดียวกันทำให้พื้นที่นั้นเป็นปริมณฑลเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ มีจังหวัดรอบข้างเป็นปริมณฑล
แม้ชื่อจะมีความหมายเหมือนกัน แต่สองเมืองนี้มีปัญหาที่มาจากคนละขั้ว นั่นคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล (กทม.) มักถูกน้ำท่วม ส่วนลอสแอนเจลิสและปริมณฑล มักขาดน้ำแสนสาหัส
ผู้ติดตามข่าวในสหรัฐอาจทราบแล้วว่า เมื่อเดือนธันวาคมฝนเทลงมาแบบฟ้ารั่วในช่วงเวลาสั้น ๆ ใน ลอสแอนเจลิส หลังจากนั้นมันก็หายไปทำให้ความแห้งแล้งร้ายแรงกลับมาอีกครั้งทั้งที่ในช่วงนี้ควรจะมีฝนตกในพื้นที่แถบนั้นบ่อย ๆ ความแห้งแล้งร้ายแรงติดต่อกันหลายปีสลับกับฝนตกใหญ่แบบฟ้ารั่วเป็นครั้งคราวนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามาจากภาวะโลกร้อน
ฝนตกใหญ่ในระยะสั้น ๆ เมื่อเดือนธันวาคมไม่ช่วยลดความแห้งแล้งได้มากนักเนื่องจากการศึกษาของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียสรุปว่า ในช่วง 1,200 ปีความแห้งแล้งครั้งนี้ร้ายแรงที่สุด
ลอสแอนเจลิส เป็นพื้นที่เกือบกึ่งทะเลทรายที่อาศัยน้ำจากนอกพื้นที่เกือบทั้งหมด เนื่องจากความแห้งแล้งครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งเคยมีน้ำส่งให้ ลอสแอนเจลิส ในช่วงนี้จึงมีน้ำส่งให้ไม่พอตามความต้องการของลอสแอนเจลิสติดต่อกันเป็นเวลานาน
ลอสแอนเจลิส จึงต้องมองหาวิธีที่จะพึ่งตนเองให้มากขึ้นจนวันหนึ่งจะไม่พึ่งน้ำจากภายนอกอีกต่อไป นอกจากมาตรการประหยัดน้ำที่ชาว ลอสแอนเจลิส จะต้องทำกันอย่างเข้มข้นขึ้นแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นมีโครงการน่าสนใจคือ ทำ “แก้มลิงบก” และนำน้ำเสียทุกหยดกลับมาใช้ใหม่
“แก้มลิงบก” เป็นการทำพื้นที่ราบขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยทำนบดินกระจัดกระจายไว้ในพื้นที่ แก้มลิงนี้จะทำหน้าที่กักน้ำฝนที่เทลงมาแบบฟ้ารั่วเป็นครั้งคราวพร้อมกับนำน้ำที่ล้นจากแหล่งอื่นมาเก็บไว้เพื่อปล่อยให้ค่อย ๆ ซึมลงไปรวมกันในหินชั้นซับน้ำ ส่วนน้ำเสียทั้งหมดจากชาวลอสแอนเจลิสจะถูกนำมารวมกันส่งเข้ากระบวนการทำความสะอาดแล้วส่งให้ซึมลงไปเก็บไว้ในหินชั้นซับน้ำเช่นกัน
การซึมดังกล่าวนั้นเป็นการกรองน้ำไปในตัว เมื่อต้องการ น้ำที่เก็บไว้ในชั้นหินซับน้ำนั้นจะถูกสูบขึ้นมาเข้ากระบวนการทำความสะอาดก่อนจ่ายออกไปเพื่อใช้อุปโภคบริโภค
เรื่องของเขาทำให้นึกถึงบ้านเราซึ่งโดยทั่วไปมีน้ำฝนเหลือใช้จนน้ำท่วมใหญ่เป็นประจำโดยเฉพาะในย่าน กทม. แต่ในหน้าแล้ง พื้นที่ในชนบทจำนวนมากมักขาดแคลนน้ำ เมื่อเร็ว ๆ นี้จึงมีนักการเมืองหัวใสเสนอให้รื้อฟื้นโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ปิดอ่าวไทยเพื่อป้องกันน้ำท่วม กทม. ขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งการทำอ่าวไทยส่วนในให้เป็นแก้มลิงน้ำจืดขนาดมหึมาขึ้นมาด้วย
แม้ตอนนี้จะยังไม่มีรายละเอียดและราคาของอภิมหาโครงการนี้ แต่มีแนวคิดที่เหนือชั้นกว่า เช่น การสร้างเมืองหลวงใหม่แทนกรุงเทพฯ ในแนวที่เมียนมาทำและอินโดนีเซียกำลังจะลงมือ และการทำ “สระพวง” ในชนบทที่ขาดแคลนน้ำตามแนวคิดที่ชาวอินเดียใช้มานับพันปี และตอนนี้ได้ถูกนำไปใช้ในแอฟริกาและละตินอเมริกาบ้างแล้ว
การพัฒนาที่ผ่านชี้บ่งว่าเรื่องการสร้างเมืองหลวงใหม่ได้ถูกตีตกไปแล้ว ชาว กทม. จึงรอวันจมบาดาลมากขึ้นและบ่อยขึ้น ด้านสระพวงเอกชนได้ลงมือทำบางส่วนบ้างแล้วในนามของบ่อเก็บน้ำบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดิน ในขณะนี้ยังไม่มีนักการเมืองและภาครัฐไม่ให้ความสนใจ
จึงเป็นการทำกันแบบต่างคนต่างทำโดยไม่ได้นำพื้นที่มาเชื่อมต่อกันให้เป็นผืนใหญ่และขุดบ่อ หรือสระจำนวนมากกระจัดกระจายไว้ในนั้น น้ำที่เก็บไว้ในแต่ละบ่อ หรือสระและซึมลงไปไต้ดินจึงไม่เชื่อมต่อกันเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ จนทำให้พื้นที่นั้นชุ่มชื้นตลอดหน้าแล้ง
การที่นักการเมืองและภาครัฐไม่ใส่ใจในแนวคิดนี้ ซึ่งเมื่อนำไปทำในแต่ละพื้นที่จะเป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่ แต่สนใจในอภิมหาโครงการจำพวกการสร้างเขื่อนปิดอ่าวไทยคงได้แก่โอกาสที่จะได้เงินทอนก้อนโตกว่า.