อียูเสนอร่างกฎหมายชิพ ชิงผู้ผลิตชิปทันสมัยและยั่งยืน | EU Watch
ปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) ครองส่วนแบ่งตลาดการผลิตไมโครชิพเพียงร้อยละ 10 ของมูลค่าการผลิตทั่วโลก ตามหลังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตไมโครชิพรายใหญ่ที่สุดในโลก ครอบครองตลาดการผลิตกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) ตามด้วยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและจีน
ในอดีต อียูเคยครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 20 อียูจึงต้องการที่จะสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นในเรื่องดังกล่าว และต้องการให้มีการประสานนโยบายเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตไมโครชิปในระดับอียู
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 อียูจึงประกาศเป้าหมายทศวรรษดิจิทัลยุโรป และตั้งเป้าหมายเป็นผู้ผลิตไมโครชิปที่ทันสมัยและยั่งยืน (cutting-edge and sustainable) ให้ได้ร้อยละ 20 ของมูลค่าการผลิตทั่วโลก เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าไมโครชิปจากต่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Strategic Autonomy” ของอียู
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของห่วงโซ่การผลิตของอียูที่พึ่งพาการนำเข้าไมโครชิพจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนหลักที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เกือบทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ตลอดจนการผลิตดาวเทียม
โดยอียูจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าไมโครชิพชั้นสูงจากผู้ผลิตในเอเชียเป็นหลัก ได้แก่ บริษัท Taiwan Semiconductors Manufacturing Company (TSMC) จากไต้หวัน และบริษัท Samsung จากเกาหลีใต้
ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนไมโครชิพจึงส่งผลให้ภาคการผลิตของอียูต้องหยุดชะงัก และได้สร้างความเสียหายให้กับภาคการผลิตของอียูอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ซึ่งเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจอียู เนื่องจากการประกอบรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบช่วยขับขี่ (assisted driving) ระบบไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่นๆ ขั้นสูงจำเป็นต้องใช้ไมโครชิปดังกล่าว
๐ 3 มาตรการ เร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมไมโครชิปในอียู
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายชิปของอียู (EU Chips Act) เพื่อเร่งการพัฒนาระบบนิเวศน์ของไมโครชิปที่ทันสมัยและประหยัดพลังงาน รวมถึงภาคการผลิต โดยอียูจะจัดสรรเงิน 11 พันล้านยูโร เพื่อลงทุนในโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี
ตลอดจนการเชื่อมงานวิจัยที่มีคุณภาพระดับโลก การออกแบบ การทดสอบประสิทธิภาพของไมโครชิป และประสานเรื่องการลงทุนในอุตสาหกรรมไมโครชิปของทุกประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายพัฒนาไมโครชิปร่วมกันในระดับภูมิภาคและส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ในอียูสร้างกลุ่มพันธมิตรทางอุตสาหกรรม
โดยเสนอ 3 มาตรการหลัก ดังนี้
1) ตั้งเป้าระดมเงินลงทุนจากงบประมาณกลางของอียู ประเทศสมาชิก และภาคเอกชน รวมกว่า 43 พันล้านยูโร ภายใต้โครงการ “Chips for Europe” เพื่ออัดฉีดการทำวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไมโครชิปให้มีความทันสมัยและยั่งยืน ซึ่งนับเป็นข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือจากรัฐสำหรับหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงที่สุดในอียู (รองจากอุตสาหกรรมเกษตร)
2) เสนอกรอบการทำงานเพื่อรักษาความมั่นคงของอุปทาน และให้ความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นกับประเทศสมาชิกในการอุดหนุนเงินและออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทผลิตไมโครชิปให้เข้ามาจัดตั้งโรงงานในอียู ตลอดจนจัดตั้งกองทุน “Chips Fund” เพื่อสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพและ SMEs ให้เร่งพัฒนานวัตกรรม และ scale-up เทคโนโลยีใหม่ ๆ
3) เสนอเครื่องมือ (toolbox) เพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองจัดซื้อไมโครชิปสำหรับภาคการผลิตของอียูในภาพรวมและป้องกันปัญหาการขาดแคลนไมโครชิป โดยการประสานงานระหว่างอียูและประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามอุปทานไมโครชิป ประมาณการอุปสงค์ และคาดการณ์ภาวะขาดแคลนไมโครชิป
รวมทั้งเก็บข้อมูลจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบจุดอ่อนและหรือคอขวดในห่วงโซ่มูลค่าของไมโครชิป เพื่อพิจารณาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
๐ มุ่งส่งเสริมงานวิจัยชิปที่ทันสมัย ให้ไกลว่าคู่แข่ง
แม้อียูไม่ได้เป็นผู้นำด้านการผลิตไมโครชิพสมัยใหม่ แต่อียูนั้นมีจุดแข็งด้านการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีศูนย์วิจัยนวัตกรรมไมโครชิปที่สำคัญ ได้แก่ Interuniversity Microelectronics Centre (IMEC) ในเบลเยียม และ Laboratoire d'électronique des technologies de l'information (CEA-Leti) ในฝรั่งเศส
อีกทั้งอียูยังมีบริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตเครื่องจักรที่ล้ำสมัยสำหรับใช้ในโรงงานผลิตไมโครชิปทั่วโลกโดยอียูครองส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 90 ของตลาดเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผลิตชิปโลก
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศเช่นเนเธอร์แลนด์มองว่าอียูไม่ควรแยกตนเอง (decouple) ออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลกในเรื่องไมโครชิพเสียเลยทีเดียว แต่ควรหาประโยชน์จาก “open ecosystem” ของการผลิตไมโครชิพ ที่เน้นการดึงดูดการลงทุนจากประเทศนอกอียู เร่งพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มค่าทางการตลาดมากกว่า
ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (mutual interdependence) และการเพิ่มความหลากหลาย (diversification)
เห็นได้ว่า ทั้งจีน สหรัฐฯ และอียู ได้มีการประกาศแผนอุดหนุนการผลิตไมโครชิพ (เช่นเดียวกับเหล็กกล้า) จึงเป็นไปได้ว่าไมโครชิพอาจจะล้นตลาดในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันแต่ละประเทศก็ตระหนักว่าไม่สามารถพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียวได้และต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ในเรื่องนี้
เนื่องจากไมโครชิพเป็นสินค้าที่สำคัญอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล และเป็นหัวใจของหลากหลายอุตสาหกรรมสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และการแข่งขันขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี.