การรุกรานยูเครนทำให้ยุโรป “ตาสว่าง” | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ทั่วโลกกำลังติดตามเหตุการณ์ที่ ยูเครน อย่างใจจดใจจ่อ และพยายามประเมินผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ผมสังเกตว่าหลายคนจะประเมินสถานการณ์เสมือนว่า คู่กรณีคือประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย
ผมมองต่างมุมว่าคู่กรณีหลักคือประธานาธิบดีปูตินกับผู้นำของประเทศหลักในยุโรปตะวันตก ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลี
ที่สำคัญคือการรุกรานและพยายามยึดครองยูเครนโดยประธานาธิบดีปูตินนั้นได้ทำให้ผู้นำดังกล่าว “ตาสว่าง” เกี่ยวกับแนวคิดและนโยบายของประธานาธิบดีปูติน
ทำให้ยุโรปจะต้องปรับนโยบายกับรัสเซียในทุกมิติจากการมองรัสเซียในฐานะประเทศคู่ค้าและหุ้นส่วนในการกำหนดอนาคตร่วมกันของยุโรป มาเป็นนโยบายลดการพึ่งพารัสเซีย และจะต้องจำกัดบทบาทของรัสเซียเพราะไม่สามารถไว้วางใจประธานาธิบดีปูตินได้
ที่ผมสรุปเช่นนี้ก็เพราะการสั่งให้โจมตีและรุกรานยูเครนโดยใช้อาวุธหนักและกองทัพกว่า 100 กองพัน โดยประธานาธิบดีปูตินนั้นได้ถูกประนามอย่างกว้างขวางและหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครน โดยไม่ได้ยกเว้นการให้ความช่วยเหลือทางการทหารอย่างเปิดเผย
เพราะเห็นว่าการรุกรานของรัสเซียนั้น เป็นการทำสงครามที่ไม่สามารถจะยอมรับได้ และประชาชนยูเครนก็กำลังพลีชีพเพื่อปกป้องประเทศตัวเองทั้งๆ ที่คงรู้ว่าไม่สามารถต้านทานกองทัพจากประเทศรัสเซีย ที่เป็นมหาอำนาจทางทหารได้
ณ ปัจจุบันผมนับได้ว่ามีกว่า 15 ประเทศที่กำลังส่งความช่วยเหลือรวมทั้งอาวุธไปให้ยูเครนโดยไม่กลัวการโต้ตอบจากรัสเซีย เช่น สหรัฐ เบลเยียม แคนาดา สาธารณรัฐเช็ค ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ เยอรมนี กรีซ โปรตุเกส โรมาเนีย สเปน สวีเดน เนเธอแลนด์ อังกฤษ อิตาลี ออสเตรเลียและสหภาพยุโรป
กองทัพรัสเซียอาจจะยึดประเทศยูเครนได้ในที่สุด แต่รัสเซียคงจะ “ครอง” หรือปกครองยูเครนไม่ได้นาน แต่จะเกิดการสูญเสียเลือดเนื้ออย่างมหาศาล ที่สำคัญคือการกระทำครั้งนี้ของประธานาธิบดีปูตินจะทำลายอนาคตของเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างถาวร เพราะท่าทีของผู้นำยุโรปตะวันตกนั้นมีความชัดเจนอย่างมากว่าในระยะยาวจะต้องลดการพึ่งพาพลังงานและแร่สำคัญๆ จากรัสเซีย
ตัวอย่างเห็นได้จากการแถลงต่อรัฐสภาของนายกรัฐมนตรี Olaf Scholz ของเยอรมนี (พรรค SPD) ที่มีความชัดเจนอย่างมากว่านโยบายคือการเพิ่มรายจ่ายด้านความมั่นคงและการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย โดยจะยอมกลับมาใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า การชะลอการปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์และการเร่งลงทุนสร้างท่าเรือเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าการนำเข้าก๊าซผ่านท่อก๊าซจากรัสเซีย
ขอย้ำว่าตรงนี้เป็นนโยบายระยะยาวของเยอรมนี และของหลายประเทศในยุโรป ที่จะทำให้รัสเซียหมดอนาคตทางเศรษฐกิจ (อย่างน้อยที่สุดในระหว่างที่ประธานาธิบดีปูติน ยังดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปได้อีกถึงปี 2036)
นอกจากนั้นได้เห็นแล้วว่ามีบริษัทต่อไปนี้ที่ประกาศถอนการลงทุนหรือยุติการทำธุรกิจกับรัสเซีย เช่น บริษัท British Petroleum บริษัท Shell บริษัท Exxon Mobil บริษัท Maersk (บริษัทเดินเรือที่จะยุติทางทำธรุกิจชั่วคราว) บริษัท Apple และบริษัท Visa/Mastercard เป็นต้น
ที่ผมใช้คำว่า “ตาสว่าง” นั้นก็เพราะว่าการใช้กำลังทางทหารโดยประธานาธิบดีปูตินในครั้งอื่นๆ มิได้ทำให้เกิดปฏิกิริยาเช่นว่านี้เลย เช่น เมื่อนายกรัฐมนตรีปูติน (ตำแหน่งในขณะนั้น) สั่งทหารบุกเข้าไปยึดครองภูมิภาค Ossetia ของประเทศจอร์เจียในปี 2008 นั้นและยกทัพไปประชิดเมืองหลวงของจอร์เจียจึงยุติการรุกราน แต่ก็ได้แบ่งแยกประเทศดังกล่าวและขัดขวางการขอเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต้ของจอร์เจียสำเร็จ
ปรากฏว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปมิได้แสดงท่าทีตอบโต้อะไรมากนัก ตรงกันข้ามผมแปลกใจมากที่คณะทำงานของยุโรปที่ได้รับมอบหมายให้แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าวมีข้อสรุปว่าการทำสงครามครั้งนั้นแม้ว่าจะถูกรัสเซีย “ยั่วยุ” แต่ฝ่ายที่ “ริเริ่ม” ทำสงครามคือจอร์เจีย (เสมือนว่าผมถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เริ่มทำร้ายโจรที่กำลังเข้ามาปล้นบ้านของผม)
นอกจากนั้นปีเดียวกันนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ณ ขณะนั้นคือนาย Gerhard Schroeder (พรรค SDP) ก็ได้อนุมัติการก่อสร้างท่อส่งก๊าซโดยตรงจากรัสเซียไปยังเยอรมนี (Nord Stream I) ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี โดยผู้ดำเนินการคือบริษัท Gazprom (บริษัทที่ผูกขาดก๊าซธรรมชาติรัสเซีย)
ทั้งนี้นาย Gerhard Schroeder ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการของ Nord Stream I ตั้งแต่ปี 2017 และได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการของ Nord Stream II ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ก่อนการรุกรานยูเครนไม่กี่สัปดาห์ ปัจจุบันนาย Schroeder ซึ่งเป็น “เพื่อนรัก” (bromance) ของประธานาธิบดีปูตินกำลังถูกกดดันอย่างหนักให้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว
ในขณะเดียวกันอดีตนายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสนาย Francois Fillon ก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท Zarubezhneft (บริษัทน้ำมัน) และบริษัท Sibur (บิรษัทปิโตรเคมี) ของรัสเซียแล้วหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน
ในทำนองเดียวกันอดีตนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ นาย Esko Aho ก็ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของธนาคาร Sberbank ของรัสเซียและนาย Matteo Renzi อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลีก็ได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทให้บริการรถยนต์ Delimobil ของรัสเซีย
เมื่อปี 2014 ที่ประธานาธิบดีปูตินสั่งให้ทหารรัสเซียเข้าไปยึดครอง Crimea นั้นแม้จะถูกตอบโต้โดยการคว่ำบาตรจากประเทศยุโรปและอเมริกา แต่ก็เป็นการคว่ำบาตรแบบค่อยเป็นค่อยไปคือรัสเซียบุกเข้ายึดครอง Crimea อย่างเบ็ดเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2014
แต่มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นที่สุดในครั้งนั้น (ซึ่งเปรียบเทียบกับครั้งนี้ไม่ได้เลย) ประกาศใช้ตอนเดือนธันวาคม 2014 หรือ 9 เดือนหลังจากการรุกรานของรัสเซีย ที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีในขณะนั้นคือ Angela Merkel ก็ยังอนุมัติให้การสร้างท่อก๊าซท่อที่ 2 คือ Nord Strome II เดินหน้าต่อไป ซึ่งจะเพิ่มกำลังการส่งก๊าซโดยตรงจากรัสเซียไปยังเยอรมนีอีก 1 เท่าตัว
ทำให้ผมเชื่อประธานาธิบดีปูตินคงจะนึกว่า การใช้กำลังทหารเข้ายึดครองยูเครนทั้งประเทศ ครั้งนี้ก็คงจะไม่ทำให้ปฏิกิริยาของยุโรปในปี 2022 แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ซึ่งเป็นการประเมินที่ผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่และจะกระทบกับอนาคตทางเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างที่ไม่เคยคาดฝันมาก่อน.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร