เรียนรู้จากประเทศอื่นอย่างวิเคราะห์มากขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

เรียนรู้จากประเทศอื่นอย่างวิเคราะห์มากขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

คนไทยยุคโลกาภิวัตน์/ทุนนิยมข้ามชาติ เปิดรับการเรียนรู้จากประเทศอื่นในบางเรื่อง ส่วนใหญ่คือเรื่องความทันสมัยในการบริโภค และการทำธุรกิจ

ภาคราชการและการปกครองท้องถิ่นของไทย ใช้งบของรัฐส่งคนไปดูงานประเทศที่มีชื่อว่าพัฒนาบางเรื่องได้ดีกว่าไทยบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่คือไปเที่ยวและดูงานเฉพาะรูปแบบการทำงาน/กิจกรรมของบางหน่วยงาน เท่าที่พอดูงานได้ในช่วงสั้นๆ 

แต่คณะที่ไปดูงานมักไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้อ่านศึกษาเรื่องเนื้อหาสาระ และบริบทภาพรวมของประเทศนั้นๆ อย่างเอาจริง พวกเขาจึงไม่สามารถเรียนรู้นำตัวอย่างดีๆ มาใช้งานในเมืองไทยได้อย่างได้ผล

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่น่าจะช่วยให้คนไทยอ่านแบบขบคิดพิจารณา ช่วยกันแก้ไขปัญหาและปฏิรูป (หรืออย่างน้อยพัฒนา) ประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้ หนังสือนี้ตั้งชื่อตามภาษาอังกฤษว่า Upheaval และมีชื่อภาษาไทยตัวเล็กว่า “การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ - จุดเปลี่ยนสำหรับนานาประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤต” เขียนโดย จาเร็ด ไดมอนด์ นักภูมิศาสตร์และนักสหวิทยาการ ผู้เขียนหนังสือแนวกึ่งวิชาการสำหรับคนทั่วไปที่ขายดีมาแล้วหลายเล่ม (สำนักพิมพ์ยิปซี) 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการวิเคราะห์ทางเชิงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศ ว่าบางประเทศปรับตัวต่อสู้กับวิกฤตการณ์ต่างๆ ได้ดีแค่ไหนอย่างไร

ผู้เขียนเลือกประเทศที่เขาคุ้นเคย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี 7 ประเทศ คือ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ชิลี อินโดนีเซีย เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนตั้งสมมติฐานเชิงเปรียบเทียบว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่สำคัญที่ประเทศหนึ่งจะสามารถปรับตัวได้ดีแค่ไหนอย่างไร แต่ละประเทศมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร เขาเล่าเรื่อง/วิเคราะห์แต่ละประเทศผ่าน 12 ปัจจัยที่เขาตั้งไว้เป็นหลักในการวิเคราะห์ ปัจจัยที่สำคัญก็อย่างเช่น ความเห็นพ้องร่วมกันของคนในชาติว่าประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต อัตลักษณ์แห่งชาติ ประเมินจุดอ่อนจุดแข็งประเทศของตนอย่างซื่อตรง ค่านิยมหลักของประเทศ ฯลฯ

ฟินแลนด์อยู่ในยุโรปเหนือ เป็นประเทศเล็กประชากร 6 ล้านคน ที่เผชิญภัยคุกคามจากรุสเซีย ซึ่งพรมแดนติดกันและเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าหลายเท่ามากมาโดยตลอด แต่ฟินแลนด์สามารถยืนหยัดต้านทานรุสเซียได้อย่างฉลาดและเข้มแข็ง และทุกวันนี้ฟินแลนด์เป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคมการศึกษาได้ระดับดีเลิศประเทศหนึ่ง

     ญี่ปุ่น ที่เคยปิดประเทศและถูกมหาอำนาจตะวันตกส่งเรือรบไปยื่นคำขาดให้เปิดประเทศในศตวรรษที่ 19 ปฏิรูปประเทศได้อย่างสำคัญในยุคของจักรพรรดิเมจิ (ตรงกับสมัยการปฏิรูปในรัชกาลที่ 5 ของไทย) ญี่ปุ่นด้วยพลังของปัญญาชนหัวก้าวหน้าลงมือปฏิรูปทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา อย่างเอาจริงมาก จนพวกเขาสามารถสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ไล่ทันประเทศตะวันตกได้

ญี่ปุ่นช่วงหลังจากนั้นมีจุดอ่อนแบบคติคลั่งชาติที่นำไปสู่การทำสงครามรุกรานในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเองต้องพ่ายแพ้ เสียหายยับเยิน แม้กระนั้นคนญี่ปุ่นก็ผ่านวิกฤตครั้งที่ 2 ได้ และสามารถพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจสังคมพัฒนามาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลังจากหารแพ้สงครามได้ในเวลาอีกไม่กี่ปี

เยอรมันก็เป็นตัวอย่างที่ดี ว่าหลังจากฮิตเลอร์ปลุกระดมคติคลั่งชาติทำสงครามโลกครั้งที่ 2 และพ่ายแพ้เสียหายขนาดหนัก แต่ภายหลังยังปรับตัวผ่านวิกฤตได้ด้วยการที่คนเยอรมันทั้งประเทศรวมทั้งผู้นำมีวินัยและความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จสูง ยอมรับปัญหาความผิดพลาดต่างๆ ในอดีตอย่างใจกว้างและอดทน

ชิลีกับอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของประเทศรายได้ต่ำระดับเดียวกับไทยที่น่าศึกษา

เรียนรู้จากประเทศอื่นอย่างวิเคราะห์มากขึ้น | วิทยากร เชียงกูล

ชิลีเคยมีพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้งในช่วงใกล้ 14 ตุลาคม 2516 ของไทย และรัฐบาลอัลเลนเด้ที่ใช้นโยบายซ้ายถูกพวกนายทหารขวาจัดทำรัฐประหารและปกครองชิลีแบบเผด็จการต่อมาหลายสิบปี กว่าที่ประชาชนชิลีจะสามารถปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่รัฐบาลพลเรือนนโยบายสายกลางอีกครั้งหนึ่งในยุคปัจจุบัน

อินโดนีเซียในสมัยก่อน ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2509 มีพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่โตเข้มแข็ง มีซูการ์โนเป็นประธานาธิบดีแนวชาตินิยมสายกลาง ถูกทหารขวาจัดยึดอำนาจเป็นรัฐบาลเผด็จการอยู่นานหลายสิบปี กว่าที่ผู้นำเผด็จการทหารจะแก่ชราและล้มเหลว ในที่สุดอินโดนีเซียก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือนแนวสายกลางที่พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ อย่างมีแนวโน้มว่าจะค่อยๆ ดีขึ้น 

การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของสหรัฐอเมริกาน่าสนใจมาก จุดแข็งคือเป็นประเทศใหญ่มีทรัพยากรมาก ประชากรมาก การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง แต่จุดอ่อนคือมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทั้งทางเศรษฐกิจ การให้บริการทางการศึกษา สุขภาพ และทางสังคมแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ มาก 

คนอเมริกันโดยเฉลี่ยแล้วใช้พลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนยุโรป 2 เท่า พวกเขานิยมใช้รถส่วนตัวมาก คนรวย คนชั้นกลาง บริโภคฟุ่มเฟือยมากทั้ง ทั้งที่คุณภาพสังคมคุณภาพชีวิตคนอเมริกันโดยเฉลี่ยต่ำกว่ายุโรป ผู้เขียนยังวิเคราะห์ว่ามีปัญหาคนอเมริกันคิดแบบ 2 ขั้วสุดโต่งเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการใช้สื่อทางออนไลน์แบบเลือกเฉพาะข้อมูลฝ่ายที่ตนเชื่อ

บทวิเคราะห์ส่วนท้ายๆ ผู้เขียนแบบมองทั่วทั้งโลกว่าภยันอันตรายจากโรคระบาดจากโควิดยังน้อยกว่าภัยอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ เพียงแต่ว่าคนตายจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศอย่างช้าๆ และมองได้ไม่เห็นชัดเหมือนการตายจากโรคโควิด ตามสถิติแล้วคนเสียชีวิตจากโควิดต่อประชากรทั้งโลกคงไม่เกินร้อยละ 2 ต่ำกว่าโรคระบาดในยุคก่อนหน้านี้ และน่าจะจบลงได้ในวันหนึ่ง 

ขณะที่ปัญหาการทำลายระบบสิ่งแวดล้อมนิเวศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนตายผ่อนส่งหรือตายไปโดยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มาจากปัญหามลภาวะ ที่เป็นอันตรายมากกว่าคือ รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังร่วมมือกันแก้ไขปัญหามลภาวะของโลกน้อยมาก เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศต่างห่วงเรื่องการเติบโตทางธุรกิจ

แม้ประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ญี่ปุ่น จะพยายามแก้ไขปัญหา เช่น โควิด-19 และสิ่งแวดล้อมได้ในประเทศของตนได้ดีกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ แต่ปัญหาแบบนี้เป็นปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลก ถ้าประเทศที่ร่ำรวยไม่ช่วยประเทศอื่นๆ ให้แก้ไขปัญหาซึ่งปัญหาของคนทั้งโลก ทุกประเทศก็จะได้รับผลกระทบกลับมาอยู่ดี

ข้อที่น่าคิดคือ ปัญญาชนนักคิดของไทยน่าจะใช้แนววิเคราะห์แบบสหวิทยาการในหนังสือเล่มนี้มาวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนด้านต่างๆ ของไทย อย่างกล้ายอมรับความจริงว่าเราควรจะปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาพัฒนาประเทศไทยต่อไปอย่างไร 

ทุกวันนี้คนไทยยังเล่นการเมืองกันแบบแคบๆ เลือกเชียร์พรรคหรือชนชั้นกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเหมือนไก่ที่จิกตีกันอยู่ในสนามแข่ง ไม่ว่าใครจะชนะ ก็เป็นแค่ไก่ที่อยู่ในเข่งเท่านั้น เราต้องพยายามคิดเชิงวิเคราะห์ให้ฉลาดกว่านี้ สร้างวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตโลกที่แท้จริงแบบเทียบกับประเทศอื่นอย่างเข้าใจทั้งระบบองค์รวมจริง เราจึงจะมีหนทางปฏิรูปหรือช่วยพัฒนาประเทศไทยได้.