การรับฟังความเห็นประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม | วาระทีดีอาร์ไอ

การรับฟังความเห็นประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม | วาระทีดีอาร์ไอ

ภาพการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน ที่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงและจับกุมผู้ชุมนุมมีเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นผลต่อเนื่องจาก "กระบวนการรับฟังความคิดเห็น" ถูกให้จัดเป็นเพียงพิธีกรรม ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ประชาชนของอย่างแท้จริง

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและชาวบ้านจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กลับมารวมตัวที่กรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้เกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

ข้อกังวลสำคัญของชาวจะนะ คือ ลักษณะการออกแบบและดำเนินโครงการที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวจะนะ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ในการทำมาหากิน 


 

แต่ชาวจะนะกลับได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ด้วยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง และมีการจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 30 คน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิงและมีผู้สูงอายุ นอกจากกรณีของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแล้ว ยังมีอีกหลายครั้งที่เสียงของชาวบ้านหรือประชาชนกลุ่มอื่นๆ ถูกจำกัดและไม่ได้รับการรับฟังอย่างจริงจัง 

เพราะ “กระบวนการรับฟังความเห็น” มักถูกทำให้เป็นเพียงพิธีกรรมที่กฎหมายกำหนดหรือเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้การตัดสินใจของภาครัฐนั้นชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้คำนึงถึงความเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายและหลักการของการรับฟังความคิดเห็น จนสุดท้ายแล้วนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างรัฐและประชาชนมากยิ่งขึ้น 

 เมื่อไหร่ก็ตามที่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น ความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย โดยต้องสร้างความยุติธรรมด้านกระบวนการ (procedural fairness) ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งจะช่วยภาครัฐและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐเข้าใจซึ่งกันและกัน สามารถเจรจาและร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เพื่อนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ดีและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง 

ความยุติธรรมด้านกระบวนการ (procedural fairness) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ การรับฟังความคิดเห็นนั้นมีกระบวนการที่โปร่งใสและมีความสม่ำเสมอ (consistency and transparency) ภาครัฐหรือผู้รับผิดชอบการรับฟังความคิดเห็นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และความสำคัญของการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง

วิธีการรับฟังความคิดเห็นจะต้องมีกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ และป้องกันไม่ให้ประโยชน์ของหน่วยงานหรือกลุ่มทุนมากระทบความถูกต้องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น

ที่สำคัญการรับฟังความคิดเห็นจะต้องถูกออกแบบให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มสามารถแสดงความเห็นได้โดยง่าย โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ห่างไกล

นอกจากนี้ผู้ที่จะเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อประกอบการให้ความคิดเห็นต่อโครงการได้ และความเห็นของทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านโครงการต้องได้รับการเคารพ ถูกรับฟังอย่างเท่าเทียมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อส่งเสริมการแสดงความเห็นอย่างอิสระ 

การรับฟังความเห็นประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม | วาระทีดีอาร์ไอ

หลักการนี้ ได้รับการสนับสนุนโดยศาลปกครองสูงสุดในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อส. 14/2562 ในคดีดังกล่าวศาลได้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแห่งหนึ่ง เนื่องจากการปิดประกาศและแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการที่ไม่ทั่วถึง ซึ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการตั้งโรงงานและไม่ได้ใช้สิทธิคัดค้านหรือแสดงความเห็นต่อโครงการ

ศาลปกครองในคดีนี้ได้คุ้มครองสิทธิของประชาชน ในการที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอย่างทั่วถึง รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานของรัฐและโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

ในกรณีของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าชาวบ้านและเครือข่ายที่ประท้วงต่อโครงการดังกล่าวมีความกังวลเรื่องผลกระทบที่โครงการอาจมีต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน

เห็นได้จากคำเรียกร้องของชาวจะนะที่ต้องการให้รัฐบาลจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ก่อนที่จะเริ่มโครงการ ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินต่อได้อย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับบริบทท้องถิ่น

การรับฟังความเห็นประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม | วาระทีดีอาร์ไอ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้มีการจัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะสำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการดังกล่าวยังมีจุดบกพร่องหลายประการ 

การที่โครงการได้รับอนุมัติก่อนที่จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เหมาะสม แสดงให้เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นยังไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาโครงการที่แท้จริง และแม้กระทั่งเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็น ในภายหลังรายงานข่าวต่าง ๆ เผยว่าเจ้าหน้าที่ได้ติดตามและเข้าพบบุคคลที่ต่อต้านโครงการก่อนการรับฟังความคิดเห็น

ทำให้ชาวบ้านหลายกลุ่มหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากความกลัวและเพื่อเป็นการแสดงความต่อต้านต่อกระบวนการที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรมตั้งแต่แรก

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความไว้วางใจต่อภาครัฐ และทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรู้สึกว่า มีคนรับฟังและให้ความสำคัญกับข้อกังวลของพวกเขา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน

การปรับปรุงโครงการตามความเห็นและข้อกังวลดังกล่าว ยังมีส่วนทำให้โครงการได้รับการยอมรับและมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น หากภาครัฐต้องการเอาชนะใจของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ การรับฟังความคิดเห็นจะต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม แต่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ประชาชนของอย่างแท้จริง.

การรับฟังความเห็นประชาชน ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรม | วาระทีดีอาร์ไอ

ดลดา คะสาร 
นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
[email protected]