เปิดโลก NFT (Non-Fungible Token) สินทรัพย์ดิจิทัลโตเร็ว
“บางแสน 42 ชลบุรี มาราธอน” เป็นกิจกรรมแข่งขันวิ่งมาราธอนนานาชาติ รวมนักวิ่งจากทั่วโลก ปีนี้มีความพิเศษที่ของรางวัลทันสมัยตามกระแสเทคโนโลยีโลก โดยภรรยาผมได้เข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอนระยะ 42 กม.มาหลายปี และเป็นผู้เข้าเส้นชัย 1 ใน 100 คนแรกมาต่อเนื่องหลายปีเช่นกัน
นอกจากได้รับเหรียญที่ระลึกพร้อมกับรางวัลพิเศษเป็นตุ๊กตาคิงคองขนาดใหญ่แล้ว ปีนี้พิเศษยิ่งกว่านั้นคือ 100 คนแรกยังได้รับการ์ดที่เป็น QR Code เพื่อสแกนรับ Digital Art ในรูปแบบ NFT โดยจะนำเข้าไปในกระเป๋าดิจิทัล Metamask และสามารถนำไปขายต่อในตลาดซื้อขาย NFT ของ OpenSea ที่เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบของ NFT ได้
NFT ที่ได้มาเป็นภาพดิจิทัลรูปคิงคองเสมือนตัวจริงและมีข้อความกำกับภาพดิจิทัลคิงคองทั้งชื่อนักวิ่งที่ได้รับรางวัล เวลาที่เข้าเส้นชัย และอันดับการเข้าเส้นชัย ซึ่งหากทำการซื้อขายในตลาดชื่อเจ้าของ NFT ก็คงเปลี่ยนไป แต่ชื่อนักวิ่งและข้อความอื่นยังคงเหมือนเดิม ภรรยาผมถามด้วยความสงสัยว่า “ใครจะมาซื้อ NFT นี้?”
สำหรับผมคิดว่าภาพดิจิทัลนี้ มีคุณค่าทางใจเป็นความภูมิใจของนักวิ่งที่เข้าเส้นชัย 100 คนแรก แต่การซื้อขายที่จะเกิดขึ้นผมคิดว่าอาจต้องเป็นภาพคิงคองของผู้เข้าเส้นชัยที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่คนต้องการเก็บเป็นที่ระลึก เช่น หากเป็นเหรียญทองโอลิมปิกในรูปแบบภาพดิจิทัลที่เป็น NFT ของนักกีฬาดังก็อาจจะมีบางคนอยากซื้อสะสมไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น
NFT ย่อมาจากมาจาก Non-Fungible Token เป็นเหรียญดิจิทัลแบบหนึ่ง ที่แตกต่างกับเหรียญคริปโทโดยทั่วไปอย่าง Bitcoinตรงที่เหรียญแบบนี้มีหนึ่งเดียวไม่สามารถเอาเหรียญอื่นมาแลกเปลี่ยนได้ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับโลกของความเป็นจริง ก็คือของสะสมที่มีหนึ่งเดียวหรือจำนวนจำกัดอย่างภาพศิลปะ นาฬิกาสะสม พระเครื่อง เป็นต้น โดยของเหล่านี้ไม่สามารถที่จะหาสิ่งอื่นมาแลกเปลี่ยนหรือทดแทนกันได้ ซึ่งต่างกับธนบัตรที่อยู่ในกระเป๋าเงินของเราซึ่งสามารถจะแลกธนบัตรใบละ 1,000 บาท ด้วยธนบัตรใบอื่นหรือที่มีคุณค่าที่เท่ากัน เช่นธนบัตร 500 บาท 2 ใบ
NFT ที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจเป็นภาพวาดดิจิทัลภาพถ่ายดิจิทัล ไอเท็มดิจิทัลต่างๆ ในโลกเสมือน เช่น ตัวการ์ตูน เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ในเกมส์ดิจิทัล หรือแม้แต่ที่ดินดิจิทัลในโลก Metaverse โดย NFT ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการระบุความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลชิ้นนั้นและสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของได้
ปัจจุบันมีตลาดโลกออนไลน์ที่ให้ผู้คนเข้าไปทำการซื้อขายแลกเปลี่ยน NFT กันได้หลายตลาด ผู้คนที่จะเข้าไปซื้อขาย NFT ก็จะต้องมีเหรียญคริปโทที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายอย่าง Ethereum และต้องมีกระเป๋าเงินดิจิทัลอย่าง Metamask
รายงานจาก DappRadar ระบุว่า มูลค่าตลาดของ NFT ในปี 2021 มีปริมาณถึง 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้ซื้อขายทั่วโลกจำนวน 2.7 ล้านราย และครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้ NFT Gameทั้งนี้ตลาด NFT เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในครึ่งปีหลัง โดยมูลค่าตลาดในไตรมาสแรกและสองปีที่แล้วมีเพียง 1.2 และ 1.3พันล้านดอลลาร์ ก่อนที่จะเพิ่มมาเป็นไตรมาสละกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ในสองไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถ้าเทียบกับตลาดภาพศิลปะทั่วโลกในปี 2020 ซึ่งมีมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐก็ถือว่า NFT กำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วและอาจจะแซงตลาดปกติในไม่ช้า
ตลาด NFT ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดคือ OpenSea มีจำนวนธุรกรรมรวมถึง 14.7พันล้านดอลลาร์ แต่ถ้าดูจากจำนวนผู้ใช้จะพบว่า ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ Axie Infinity ที่มีจำนวนผู้ใช้ 1.6 ล้านรายนอกจากนี้ยังพบว่ามูลค่าธุรกรรมของตลาด OpenSea ในเดือนมกราคมปีนี้ เติบโตขึ้นสูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์ซึ่งหากเทียบกับเดือนมกราคมปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ โดยมีจำนวน NFT ที่ทำการซื้อขายกันในตลาด OpenSea ของเดือนมกราคมถึง 2.4 ล้านชิ้น
NFT ที่ทำการซื้อขายต่อชิ้นหากเทียบเป็นสกุลเงินทั่วไปดังเช่นดอลลาร์สหรัฐก็เริ่มจากเพียงไม่กี่ดอลลาร์จนสูงไปถึงหลายล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมและความสำคัญของ NFT ตัวนั้น มูลค่าเฉลี่ยของ NFT ต่อชิ้นในตลาด OpenSea ในเดือนมกราคมปีนี้คือ 3,257ดอลลาร์ สูงขึ้นจากเดือนมกราคมปี 2021 ที่มีมูลค่าเฉลี่ย 347 ดอลลาร์ต่อชิ้น
NFT บางชิ้นมีมูลค่าซื้อขายที่สูงมากเช่นEverydays: the First 5000 Days ซึ่งเป็นภาพดิจิทัลที่สร้างในปีที่แล้วโดยศิลปินชื่อ Mike Winkelmann หรือที่รู้จักกันในนาม Beeple ซึ่งเป็นภาพปะติด 5,000 ภาพที่เขาวาดไว้ มีมูลค่าขายสูงถึง 69.3 ล้านดอลลาร์ หรือ NFT collection อย่าง CryptoPunks เป็นรูปดิจิทัลขนาด 24x24 พิกเซล ที่ออกมาเมื่อปี 2017 จำนวน 10,000 รูป มีลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละรูปมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 2.04 พันล้านดอลลาร์ โดยบางรูป เช่น CryptoPunks 7523 มีมูลค่าสูงถึง 11.8 ล้านดอลลาร์
หลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมคนยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อ NFT ราคาแพงๆ บางชึ้นก็เป็น NFT Game อย่าง CryptoKitties ซึ่งมีราคาสูงถึง 2.3 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคุณค่าทางจิตใจ มีความภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของ NFT นั้นสำหรับการเล่นเกมส์
โดยมองว่าเป็นของสะสม หายาก เหมือนคนสะสมรูปภาพ หรือนาฬิการาคาแพง ซึ่งคิดว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนที่จะเก็บไว้ และในอนาคตอาจขายได้ราคาสูงกว่าวันนี้ บางส่วนก็อาจเป็นการลงทุนของบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีในอนาคต ดังเช่น บริษัท Atari ที่เข้าไปซื้อที่ดินในโลกของ Sandbox Metaverse ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.3 ล้านดอลลาร์
เรื่องนี้คงเป็นสิ่งที่แต่ละคนมีความนิยมชมชอบไม่เหมือนกัน คนบางคนยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อของสะสมทำให้มีความสุขทางใจที่ได้ครอบครองสิ่งนั้น หรือสามารถจะนำไปโชว์ให้คนอื่นๆ เห็นเพื่อแสดงฐานะของตัวเอง บางคนก็อาจมองกลับกันว่าสิ่งของนั้นไม่ได้มีคุณค่าทางจิตใจของตัวเองและอาจไม่อยากจะจ่ายเงินเพื่อซื้อของชิ้นนั้น แต่อาจอยากได้อย่างอื่นมากกว่า
ของสะสมเหล่านี้บางช่วงเวลามูลค่าก็แปรเปลี่ยนไปตามความนิยมและความต้องการของผู้คนและหากหมดความนิยมมูลค่าก็อาจลดลงไปอย่างมาก ดังที่เห็นปรากฏการณ์ตลาดวัตถุมงคล “จตุคามรามเทพ” เมื่อไม่กี่ปีก่อน
ตอนหน้าผมจะมาอธิบายว่าตลาด NFT น่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนหรือไม่ มีความเสี่ยงเพียงใด มีการฉ้อโกงหรือไม่ และอนาคตของตลาดควรมีการกำกับดูแลหรือไม่...