มองการฟ้องถอดถอน ปธน.เกาหลีใต้ เห็นไทยชัดขึ้น

มองการฟ้องถอดถอน ปธน.เกาหลีใต้ เห็นไทยชัดขึ้น

เกาหลีใต้ประสบวิกฤติการเมืองทันทีเมื่อประธานาธิบดียุน ซอก ยอล ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐสภาลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นภายในเวลา 2 ชั่วโมงครึ่งและอีก 11 วันต่อมายื่นฟ้องถอดถอนประธานาธิบดียุนต่อศาลรัฐธรรมนูญ อีก 2 สัปดาห์ต่อมา รัฐสภาลงมติฟ้องถอดถอนผู้รักษาการแทนประธานาธิบดีด้วยข้อกล่าวหาว่าพยายามเตะถ่วงคดี

เกาหลีใต้ใช้ระบบเผด็จการอยู่นานและประกาศกฎอัยการศึกหลายครั้งหลังสงครามเกาหลียุติเมื่อปี 2496 แต่เลิกใช้ระบบเผด็จการและกฎอัยการศึกมากว่า 4 ทศวรรษแล้ว ทั้งนี้เพราะตั้งแต่นายพลปัก จุง ฮี ยึดอำนาจและเริ่มใช้ระบบเผด็จการเมื่อปี 2504 รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดตลาดเสรีและพัฒนาด้านการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ความพยายามนั้นได้ผลดีถึงกับมีผู้เชี่ยวชาญยกการพัฒนาของเกาหลีใต้ให้อยู่ในระดับมหัศจรรย์

สงครามแบ่งแยกเกาหลีที่มีกองทัพจีนและกองทัพสหประชาชาติ ซึ่งมีทหารไทยไปร่วมด้วยรุกไล่กันกลับไปกลับมา จนทำลายปัจจัยพื้นฐานของเกาหลีลงแบบแทบไม่มีอะไรเหลือ เมื่อผู้สังเกตการณ์และผู้เชี่ยวชาญของธนาคารโลกเข้าไปประเมินฐานและทิศทางของการพัฒนา พวกเขาลงความเห็นว่าน่าจะเป็น Basket Case หรือผุดเกิดมิได้ แต่เกาหลีใต้ทำได้จากปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะทางด้านเจตนาและด้านปัญญาของชาวเกาหลีเอง

นายพลปัก จุง ฮี ครองอำนาจอยู่ 18 ปี เขามีเจตนาอันแรงกล้าที่วางรากฐานให้เกาหลีใต้เดินไปสู่การพัฒนาทุกด้าน เริ่มโดยการใช้อำนาจเผด็จการปูฐานทางการมีวินัยให้แก่ประชาชน วิธีของเขาเป็นที่ถกเถียงกันโดยเฉพาะจากด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ผลของการพัฒนาย่อมเป็นที่ประจักษ์

สำหรับด้านปัญญาในทางพัฒนาเศรษฐกิจ นายพลปัก จุง ฮี จะซึมซับประวัติการพัฒนาของญี่ปุ่นไว้เท่าไร ในระหว่างที่เขาเป็นทหารในกองทัพญี่ปุ่นอยู่หลายปีไม่เป็นที่ประจักษ์ นอกจากการมีวินัยของชาวญี่ปุ่น แต่ที่ปรึกษาของเขาคงตระหนักดีและแตกฉานด้านหลักการของระบบตลาดเสรีที่พวกเขาเรียนจากฝรั่ง ที่ปรึกษาเหล่านั้นมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสถาบันกลั่นกรองและเสนอแนวคิดต่อฝ่ายการเมือง

เนื่องจากเกาหลีใต้คล้ายญี่ปุ่นในด้านการมีทรัพยากรจำกัดมาก และญี่ปุ่นใช้การส่งออกสินค้าที่นำวัตถุดิบเข้ามาจากต่างประเทศเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เกาหลีใต้จึงใช้วิธีนั้นด้วย ด้านการใช้ระบอบประชาธิปไตย การมีวินัยของประชาชนยังผลให้เกิดความสำเร็จ การฟ้องถอดถอนประธานาธิบดียุนและผู้รักษาการแทนเขาเป็นตัวอย่างล่าสุดของการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ 

ก่อนหน้านี้ มีหลายกรณีที่ชี้ชัดว่าชาวเกาหลีใต้จริงจังในการใช้ระบบของเขาโดยการเอาผิดกับผู้ฉ้อฉล เช่น ประธานาธิบดีชุน ดู วาน ต้องลาออกเมื่อปี 2530 อดีตประธานาธิบดีโรห์ มู เฮียน กระโดดภูเขาตายเมื่อปี 2554 อดีตประธานาธิบดีลี เมียง แบค ถูกจำคุกเมื่อปี 2561 และประธานาธิบดี ปัก จึน เฮ ซึ่งเป็นลูกสาวของนายพลปัก จุง ฮี ถูกถอดถอนจากตำแหน่งและจำคุกเมื่อปี 2564

หากหันมามองเมืองไทยในช่วงเวลาที่เราพิจารณาเกาหลีใต้จะเห็นความคล้ายกันหลายอย่าง เช่น การปกครองตามระบบเผด็จการในสมัยจอมพลสฤษดิ์-จอมพลถนอม เราต้องการเร่งรัดพัฒนา เรามีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้คำปรึกษา แต่เรายังล้าหลังเขามาก

ด้านปัญญา ชาวไทยไปเรียนกับฝรั่งไม่ต่างกับชาวเกาหลีใต้ จึงพออนุมานได้ว่าคนไทยน่าจะมีปัญญาไม่ต่ำกว่าเขา ทำให้เราต้องมองไปที่เจตนาของผู้กำอำนาจรัฐเป็นหลัก นอกจากจะไม่พยายามวางฐานด้านวินัยให้แก่คนไทยตั้งแต่ในสมัยเผด็จการแล้ว ผู้กำอำนาจยังมักร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยต่ำอีกด้วย รัฐธรรมนูญหลายฉบับจึงออกแบบมาเพื่อให้บางกลุ่มกุมอำนาจต่อไปและได้เปรียบผู้อื่น

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่มีผู้มองว่ามีความใกล้ระบอบประชาธิปไตยที่สุดก็ถูกบิดเบือนในการใช้จนแทบไร้ประชาธิปไตย ผู้นำไทยโกงกินและทำผิดฉกรรจ์ แต่มักลงโทษกันพอเป็นพิธี หรือเอื้อให้หนีไปอยู่ต่างประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงควรจะสรุปว่า เจตนาของผู้กำอำนาจรัฐเป็นปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาของไทยตามหลังของเกาหลีใต้แบบแทบไม่เห็นฝุ่น