โลกาภิวัตน์กับสงคราม:จะไปต่อหรือถอยหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

โลกาภิวัตน์กับสงคราม:จะไปต่อหรือถอยหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

คำถามยอดฮิตขณะนี้คือ โลกาภิวัตน์ จะเหมือนเดิมหรือไม่หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน คำตอบของผมคือไม่เหมือนเดิมและจะเปลี่ยนรูปแบบมาก ซึ่งจะมีผลทั้งต่อนโยบายเศรษฐกิจระดับประเทศและการทำธุรกิจ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

"โลกาภิวัตน์" หมายถึงกระบวนการที่ประเทศต่างๆ เชื่อมต่อและพึ่งพาซึ่งกันและกันในการทำการค้าการผลิตและการลงทุน ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา 

โลกาภิวัตน์เติบโตมากสุดช่วงต้นปี 2000 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตปี 1991 และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลกของจีนปี 2001 ที่ทั้งจีนและกลุ่มประเทศในสหภาพโซเวียตเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างสมบูรณ์

ที่ผ่านมา ปัจจัยขับเคลื่อนโลกาภิวัตน์คือเศรษฐกิจเสรีนิยม เทคโนโลยี ระบบอินเทอร์เน็ต นวัตกรรม ข้อมูลข่าวสาร และการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้การค้าโลกและเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ชนชั้นกลางเติบโต ความยากจนลดลง และทั้งจีนและรัสเซียได้ประโยชน์เต็มที่ 

จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก ขณะที่รัสเซียพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลกและเป็นเศรษฐกิจอันดับสิบเอ็ดของโลก

ที่สำคัญ โลกาภิวัตน์ได้ผ่านการทดสอบสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของโลกาภิวัตน์ที่จะทัดทานแรงกระทบที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็น การก่อการร้าย วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก เบร็กซิท และล่าสุดวิกฤติโรคระบาดโควิด19 

แต่ภายใต้ความเข้มแข็งนี้ รอยปริก็มีมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นจากความล้มเหลวของเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ไม่สามารถทำให้ชีวิตคนส่วนใหญ่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำมีมากขึ้น นำไปสู่กระแสชาตินิยมที่มองว่าโลกาภิวัตน์คือตัวปัญหา และจากการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนที่นำไปสู่มาตรการกีดกันทางการค้า การตั้งกำแพงภาษี และปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งขัดกับหลักเสรีนิยมและบั่นทอนโลกาภิวัตน์ 

อย่างไรก็ตาม โลกาภิวัตน์ก็เดินหน้าต่อ ชี้ให้เห็นถึงความสามารถของโลกาภิวัตน์ที่จะปรับตัวตราบใดที่ผู้นำทางการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบายยอมให้โลกาภิวัตน์เป็นกลไกนำในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ

แต่ที่น่าห่วงขณะนี้คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน กำลังยกระดับรอยปริในโลกาภิวัตน์ไปสู่ความแตกแยก โดยเฉพาะจากมาตรการคว่ำบาตร (Sanction) ที่รุนแรงและหลายอย่างเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน

โลกาภิวัตน์กับสงคราม:จะไปต่อหรือถอยหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

ที่สหรัฐกลุ่มประเทศนาโตและประเทศพันธมิตรต้องการโดดเดี่ยวและตัดขาดรัสเซียออกจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลก เพื่อกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม มาตรการเหล่านี้ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจการเงินและการค้าโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อนเช่นกัน กล่าวคือ

1.มาตรการคว่ำบาตรแสดงให้เห็นถึงอำนาจและอิทธิพลที่กลุ่มประเทศตะวันตกมีในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบัน และความพร้อมที่ประเทศเหล่านี้จะใช้การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การค้าและการเงินระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือ เพื่อ "เล่นงาน" ประเทศที่ไม่เป็นมิตร ด้วยเหตุผลทางการเมือง 
    ซึ่งรวมถึงการยึดทรัพย์หรือห้ามไม่ให้บุคคล บริษัท และรัฐบาล เช่น ธนาคารกลางเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ทรัพย์สินที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยหรือมักไม่เกิดขึ้นมาก่อน

2.มาตรการคว่ำบาตรเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตกับสินทรัพย์ที่มีในต่างประเทศของทุกประเทศ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ถ้าประเทศเลือกที่จะยืนผิดข้างกับผลประโยชน์ของประเทศตะวันตกซึ่งในอดีตเป็นเรื่องไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะทำโดยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม

3.มาตรการคว่ำบาตรได้สร้างความไม่ปลอดภัยให้กับการทำธุรกิจระหว่างประเทศในอนาคต ที่กฎเกณฑ์การค้าและการเงินในโลกอาจเปลี่ยนได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนใหม่ที่การทำธุรกิจ การลงทุน และการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศต้องตระหนัก ชี้ให้เห็นว่าระบบโลกาภิวัตน์อ่อนไหวมากต่อการเมืองระหว่างประเทศ

จากความไม่แน่นอนนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาคือโลกาภิวัตน์จะเล็กลงและนโยบายเศรษฐกิจระดับประเทศ และการทำธุรกิจของภาคเอกชนต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มาตรการคว่ำบาตรได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเกิดขึ้นได้ โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ

1.โลกาภิวัตน์จะแตกขั้วเป็นอย่างน้อยสองกลุ่ม คือกลุ่มประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐกลุ่มประเทศนาโต้และพันธมิตร และกลุ่มที่สองที่เป็นเศรษฐกิจคู่ขนานและเป็นทางเลือกใหม่นำโดยจีน รัสเซียและประเทศที่เป็นแนวร่วม ซึ่งประเทศในแต่ละกลุ่มก็จะค้าขายระหว่างกันเป็นหลัก ทำให้ประเทศที่เหลือจะต้องเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนหรือจะพยายามวางตัวให้เข้าได้กับทั้งสองกลุ่ม

โลกาภิวัตน์กับสงคราม:จะไปต่อหรือถอยหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

2.ความสามารถของประเทศที่จะอยู่ได้ด้วยตนเอง ลดหรือไม่พึ่งพาประเทศอื่นในการอยู่รอดทางเศรษฐกิจ (Self-sufficient) จะมีความสำคัญมากขึ้นๆ ในการทำนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องมุ่งไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและความเพียงพอในเรื่องอาหาร พลังงาน สาธารณสุข เทคโนโลยี ความรู้ความสามารถในการผลิต การหารายได้ และคุณภาพของประชากร

3.ภาคเอกชนต้องปรับตัวกับเศรษฐกิจโลกและระเบียบการค้าโลกที่จะไม่เหมือนเดิม มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนมากขึ้น เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวลดลง อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้น สินค้ามีให้เลือกจำกัด นวัตกรรมจะลดลง การลงทุนต่างประเทศจะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม 

ทุกอย่างจะกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศทำให้การแข่งขันจะสูงและอ่อนไหวง่ายต่อการผูกขาดจากพลังของผู้เล่นรายใหญ่ในประเทศ ทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจลดลง

นี่คือเศรษฐกิจโลกใหม่และความเป็นไปได้ที่รออยู่ข้างหน้า คำถามคือกลุ่มประเทศตะวันตกจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ ที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศจะดึงเศรษฐกิจโลกและโลกาภิวัตน์ให้ถอยหลังกลับไปเป็นสิบๆปี.

โลกาภิวัตน์กับสงคราม:จะไปต่อหรือถอยหลัง | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]