‘ความรับผิด’ของผู้ถือหุ้นต่อบริษัท | สกล หาญสุทธิวารินทร์
บริษัทตามกฎหมายไทยมี 2 ประเภทคือ บริษัทจำกัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท และบริษัทมหาชนจำกัด ตามพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชน จำกัด พ.ศ.2535
๐ ผู้ถือหุ้น การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีได้ในกรณี ดังนี้
กรณีเป็นหุ้นของบริษัทจำกัด เริ่มต้นจากการมีชื่อเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนดให้มีบุคคลอย่างน้อย 7 คน ปัจจุบันกำหนดไว้ 3 คน เข้าชื่อกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งบริษัทจำกัด
โดยผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อซื้อหุ้น อย่างน้อยคนละหนึ่งหุ้น ด้วยผลของบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว ผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้นทุกคน จนกว่าจะโอนหุ้นนั้นไปให้ผู้อื่น
หรือเป็นผู้ถือหุ้น โดยเข้าชื่อซื้อหุ้นในขณะเริ่มจัดตั้งบริษัท และเมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้วก็จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นตามที่เข้าชื่อซื้อไว้จนกว่าจะโอนหุ้นนั้นไปให้ผู้อื่น หรือเป็นผู้ถือหุ้นจากการรับโอนหุ้นไม่ว่ากรณีใดๆ จนกว่าจะโอนหุ้นนั้นไปให้บุคคลอื่นต่อไป
กรณีการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เริ่มจากเป็นหนึ่งในบุคคลอย่างน้อย 15 คน ที่จะเริ่มดำเนินการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด โดยผู้เริ่มจัดตั้งต้องจองหุ้นที่ต้องชำระเป็นตัวเงินรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียน
ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ผู้เริ่มจัดตั้งจะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของทุนจดทะเบียนตามที่จองไว้ จนกว่าผู้เริ่มจัดตั้งคนใดคนหนึ่งจะโอนขายหุ้นส่วนของตนไปบางส่วนหรือทั้งหมด หรือ
เป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าจองซื้อหุ้นเมื่อบริษัทมหาชนจำกัดเปิดให้จองหุ้น และได้รับจัดสรรให้ซื้อหุ้นตามจำนวนที่กำหนด จนกว่าจะขายหุ้นส่วนนี้ไปทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ
ได้รับหุ้นที่โอนมาไม่ว่ากรณีใดๆ หรือซื้อหุ้นที่มีการเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์
ทั้งนี้ ผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด อาจเป็นผู้ถือหุ้นแทนบุคคลอื่นที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อก็ได้ โดยปกติการถือหุ้นแทนกันไม่มีข้อห้ามและไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เว้นแต่เป็นการถือหุ้นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือกฎหมายอื่น ลักษณะเดียวกัน หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ดินเพื่อให้นิติบุคคลที่ถือเป็นคนต่างด้าวให้เข้าถือครองที่ดินได้
๐ ผลการจดทะเบียนบริษัท
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท มาตรา 1015 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลาย ซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
สำหรับบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้ว ก็มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามที่บัญญัติในมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน
ดังนั้น ทั้งบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล ถือได้ว่าเป็นบุคคลอีกหนึ่งคนแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับความรับผิดในหนี้สินของบริษัท เจ้าหนี้ของบริษัทจะมาบังคับเอาจากผู้ถือหุ้นไม่ได้
ยกเว้นในกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ ซึ่งเจ้าหนี้อาจใช้สิทฺธิเรียกร้องของบริษัทลูกหนี้เรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งชำระเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระเอามาชำระหนี้ได้
๐ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา
มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าเมื่อจดทะเบียนแล้วบริษัทเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4143/2532 ที่วินิจฉัยว่า ป.พ.พ.มาตรา 1096 ไม่ใช่บทบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นรับผิดต่อเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงไม่มีหน้าที่ชำระภาษีที่บริษัทจำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อกรมสรรพากรโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้
การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 8ไม่ชำระภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์จึงหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งไม่ใช่กรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าหุ้นค้างชำระแทนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ในนามของโจทก์ได้ เพราะตามฟ้องไม่มีข้อเท็จจริงให้เห็นเช่นนั้น ศาลภาษีอากรกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของจำเลยซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1910/2538 ที่วินิจฉัยว่าเมื่อบริษัทจดทะเบียนแล้วถือว่าเป็นบุคคลมีสิทธิหน้าที่ต่างหากจากผู้ถือหุ้น กรรมการผู้ใดทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทย่อมเป็นผู้ฟ้องเรียกให้กรรมการผู้นั้นชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นจะฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 ต้องเป็นการฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท เฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้อง และเป็นการฟ้องเพื่อเรียกร้องเอาสินไหมทดแทนเท่านั้น โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจึงมิได้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 1180/2511 วินิจฉัยว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 97 เมื่อจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ย่อมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น อยู่ภายใต้การจัดการของคณะกรรมการตามข้อบังคับของบริษัทซึ่งได้ตราขึ้นและจดทะเบียนไว้
ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญลูกจ้าง พ.ศ.2502 ซึ่งคณะรัฐมนตรีวางไว้ เป็นระเบียบของทางราชการ กำหนดวิธีการ จ่ายเงินบำเหน็จและเงินทำขวัญแก่ลูกจ้างของส่วนราชการไม่ใช่บังคับแก่บริษัท ขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเว้นแต่คณะกรรมการบริษัท จะอนุมัติให้ใช้ระเบียบดังกล่าวแก่ลูกจ้างของบริษัทด้วย
๐ ความรับผิดของผู้ถือหุ้นต่อการที่บริษัทกระทำความผิดทางอาญา
ในกรณีที่บริษัทกระทำความผิดทางอาญานั้น ตามหลักกฎหมายอาญา บุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในการกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ เมื่อบริษัทเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นเป็นคนละคนกับบริษัท
เมื่อผู้ถือหุ้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดจึงไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ผู้ถือหุ้นจะเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจบริหารจัดการบริษัท ที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดด้วยเมื่อบริษัทที่เป็นนิติบุคคลกระทำความผิด.